9 พ.ค. เวลา 02:33

KKP แนะ ‘เดอะแบก’ ความรู้ทางการเงินคือทางรอด รู้ไว้ก่อนจะได้ไม่ต้อง ‘รู้งี้’

ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตของคนไทยยังให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์ครอบครัวเป็นอย่างมากไม่เสื่อมคลาย แต่ความเปลี่ยนแปลงได้ทำให้คนกลุ่มหนึ่งในยุคปัจจุบันมีปัญหาที่ต่างจากรุ่นก่อนๆ ด้วยภาระที่ต้อง ‘แบก’ หลายอย่างไว้พร้อมกันในวันที่โลกไม่เหมือนยุคพ่อแม่อีกต่อไป ทำให้การดูแลครอบครัวกลายเป็นเรื่องที่หนักหนากว่าที่เคย จนเกิดเป็นคำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘Sandwich Generation’ จากการที่ต้องแบกรับภาระไว้ทั้งสองทาง คล้ายกับลักษณะของแซนด์วิช
ปัญหาของคนกลุ่มนี้อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้กว่าที่คิด ภายในงาน KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ โดยความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กับ Thairath Money ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงมีเวทีสนทนาที่เน้นถึงปัญหาและคำแนะนำให้กับ Sandwich Generation ผู้แบกภาระการดูแลทั้งคนรุ่นก่อนและรุ่นหลังไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไม่เกื้อหนุนให้พวกเขาแบกได้สบายขึ้น
1
หนึ่งในแขกที่ร่วมพูดคุยบนเวทีคือ ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research ได้กล่าวถึงปัญหาของเดอะแบกที่ต้องรับภาระหนักหน่วงว่ามักเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก แต่ทางออกนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนควบคุมได้ เพียงต้องเข้าใจถึงปัญหาด้านต่างๆ และวิธีรับมือ พร้อม ‘เริ่มต้น’ ให้เร็วที่สุด
เหตุใด ‘เดอะแบก’ ยุคปัจจุบันจึงดูเหนื่อยกว่ายุคก่อน?
ในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเช่นปัจจุบัน การแบกภาระของครอบครัวก็ชวนรู้สึกเหนื่อยเป็นพิเศษ จนหลายคนอาจเคยสงสัยว่าเหตุใดการที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักแล้วก็ยังไม่สามารถดูแลคนรอบข้างได้ดี แถมยังไม่มีเงินเหลือเก็บ
น่าเสียดายที่เรื่องโอกาสในการสร้างฐานะในยุคนี้เป็นเรื่องยากขึ้น
จากการศึกษาในอเมริกาพบว่า โอกาสที่รุ่นลูกจะรวยกว่ารุ่นพ่อแม่ในปัจจุบันได้นั้นลดลงเรื่อยๆ และจากงานศึกษาหนึ่งของไทยก็พบว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โอกาสที่คนไทยจะสามารถเลื่อนขั้นรายได้หรือขยับสถานะทางสังคมเป็นไปได้ยากขึ้น โดยสถานะทางการเงินของคนรุ่นปัจจุบันขึ้นอยู่กับฐานะของทางครอบครัวค่อนข้างมาก แม้เราอาจได้ยินเรื่องราวของคนอายุน้อยที่ร่ำรวยขึ้นได้อย่างรวดเร็วอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นยังเป็นคนกลุ่มเล็กมากในสังคม
นอกจากโอกาสด้านการขยับฐานะที่ยากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียและการตลาดเชิงรุกในยุคใหม่ โดยเฉพาะการ ‘ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง’ ได้กระตุ้นความอยากได้อยากมีสิ่งของที่ไม่จำเป็นจนเกิดเป็นหนี้สินจากการใช้จ่ายเกินตัวหรือไม่มีเงินเก็บออม ซึ่งอาจเป็นภาระต่อตัวเองในระยะยาว หรืออาจเพิ่มปัญหาให้ว่าที่ “เดอะแบก” ได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่เราควบคุมได้ ซึ่งก็คือการสร้างวินัยในการเก็บออม และการหาความรู้ทางการเงินอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
‘Sandwich Generation’ คนตรงกลาง แบกทั้งที่บ้านและเศรษฐกิจ
จริงๆ แล้ว ไม่ว่าคนในวัยไหนก็เป็นอาจตกเป็นเดอะแบกได้จากสถานการณ์ของครอบครัวแต่ละคน
แต่ส่วนใหญ่มักอยู่ใน Sandwich Generation ซึ่งเป็นคนตรงกลางระหว่างการดูแลผู้ใหญ่และลูกหลาน เนื่องจากคนมีลูกกันช้าลง ในวันที่ลูกกำลังเริ่มเติบโต เดอะแบกมีหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า แต่พ่อแม่ก็แก่ลงจนต้องแบ่งเวลาและเงินทองเพื่อดูแลเพิ่มขึ้น เดอะแบกจึงต้องรับทั้งภาระทางการเงินและยังต้องมอบเวลาให้คนรอบข้างขณะที่ต้องทำงานอย่างหนัก จนเกิดเป็นความเครียดสะสมอีกด้วย
ดร.ณชาได้กล่าวถึงปัญหาของประเทศไทยว่านอกจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำ ทำให้การหาเงินไม่ง่ายเหมือนในอดีต โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบ ไทยกลายเป็นประเทศที่มีคนสูงวัยมากที่สุดในอาเซียน ส่งผลให้รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสวัสดิการดังกล่าวสูงขึ้น ในขณะที่ฐานคนเสียภาษีมีน้อยลง ส่งผลให้คนในระบบแบกภาระมากขึ้น โดยคนไทย 70 ล้านคน มีคนอยู่ในระบบงานราว 40 ล้านคน แต่อยู่ในระบบภาษีแค่ 10 ล้านคน และเหลือคนจ่ายภาษี (รายได้) จริงๆ เพียง 4 ล้านคนเท่านั้น
1
หากคนไทยยังขาดความรู้ทางการเงิน ภาระเดอะแบกจะยิ่งทับถมหนักขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาเพียงส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย เพราะพวกเขาก็เป็นเดอะแบกของเศรษฐกิจในขณะที่ยังมีเรี่ยวแรงทำงาน และรัฐต้องใช้เงินดูแลพวกเขาในยามเกษียณ
เพราะไม่มีลูก ภาระจึงลดลง…จริงหรือ?
จากภาระที่ต้องเลี้ยงดูผู้ใหญ่และตัวเอง ซึ่งใช้ทั้งเงินและเวลามากมายอยู่แล้ว การมีลูกจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของชีวิตคนยุคใหม่อีกต่อไป เพราะการเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ในสังคมที่ดีนั้นก็ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย
จากผลสำรวจนิด้าโพล คนไทย 44% ไม่อยากมีลูกด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ไม่ต้องการมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ผู้คนจึงเลือกวิถีชีวิตการครองตัวเป็นโสดหรือใช้ชีวิตคู่แบบไม่มีลูกมากขึ้น โดยจากข้อมูลทางสถิติของ UN ESCAP พบว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยหนึ่งคนจะมีลูกเฉลี่ย 1.3 คนเท่านั้น
แต่การไม่มีลูกนั้นอาจไม่ได้แปลว่าจะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ตามใจโดยไม่ต้องคิดถึงอนาคต และการที่คนไทยมีลูกน้อยลงอาจส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในอนาคตด้วยเช่นกัน ทั้งในแง่ขนาดเศรษฐกิจที่มีคนใช้จ่ายน้อยลง จำนวนแรงงานหนุ่มสาวที่จะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลง รวมถึงการที่จะมีคนจ่ายภาษีลดลงอีกด้วย
ในระดับบุคคล กลุ่มคนที่ไม่มีลูกจำเป็นต้องพร้อมดูแลตัวเองไปตลอดชีวิต และควรพึงรำลึกเสมอว่าวันหนึ่งเราอาจไม่มีรายได้ดังเดิม และสามารถเผชิญกับปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ นอกจากนี้ สวัสดิการจากทางรัฐฯ ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถช่วยดูแลได้ดีนัก
ดังนั้น ไม่ว่าจะมีแผนการมีทายาทสืบสกุลต่อหรือไม่ ก็ควรเพิ่มพูนความรู้ทางการเงินและวางแผนการเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เสียดายทีหลัง
ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเจอ ‘ทางรอด’ เร็ว
การวางแผนทางการเงินไม่ใช่เรื่องของแค่คนที่อยากรวยระดับเศรษฐี แต่เป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตที่จะบรรเทาภาระและหยุดวงจรเดอะแบกได้
ดร.ณชาได้อธิบายถึงสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังขาดความรู้ด้านการเงิน กับความสำคัญของการวางแผนการเงินว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจและภาระส่วนบุคคล การวางแผนทางการเงินมันสำคัญขึ้นมากๆ แต่คนไทยยังมีความรู้น้อย อย่างเรื่องหนี้ครัวเรือน เมื่อก่อนยังอยู่ที่ 40-50% ของจีดีพี แต่ตอนนี้กลายเป็น 90% แล้ว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ทั้งหมด เพราะก่อนโควิดก็สูงประมาณ 80% อยู่แล้ว
โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ไปสำรวจเรื่องการเป็นหนี้ของคนไทยแล้วพบปัญหาสำคัญว่า คนเป็นหนี้กันเร็ว เป็นหนี้เกินตัวโดยไม่ได้ประเมินว่าแบกรับไหวหรือไม่ก่อนตัดสินใจสร้างหนี้ กับเป็นหนี้นาน หลายคนเกษียณก็ยังเป็นหนี้ แถมเฉลี่ยอยู่ที่ 400,000 บาทต่อคน
นอกจากนี้ จากผลสำรวจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณเลย และ 60% มีเงินเก็บแต่ไม่ถึง 200,000 บาท ซึ่งชัดเจนว่าไม่พอใช้ ดังนั้น ไม่ว่าวางแผนจะมีลูกหรือไม่มีลูก เราก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้ ความรู้ทางการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ
นอกจากวินัยทางการออมแล้ว การหาความรู้ให้เงินออมงอกเงยก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของเดอะแบกได้ แต่ต่างคนก็อาจต้องใช้เครื่องมือทางการเงินต่างกันตามความเหมาะสม
สิ่งสำคัญคือพื้นฐานความรู้ทั้งเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างเรื่องดอกเบี้ยต่างๆ, การวางแผนภาษี, ความรู้ด้านการลงทุนที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินเฉยๆ, การบริหารจัดการหนี้, การบริหารความเสี่ยง ทั้งจากการลงทุน ไปจนถึงบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เป็นภาระคนข้างหลัง และการป้องกันตัวเองจากภัยทางการเงิน ที่ไม่ว่าจะร่ำเรียนสูงแค่ไหนก็อาจตกเป็นเหยื่อได้เสมอ
แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่เยอะมาก แต่ต้องวัดที่อัตราการออมว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ และไม่ว่าตัวเลขจะมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเริ่มออมอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็จะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หรืออาจมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลงทุนอีกด้วย เพราะ ‘พลังของดอกเบี้ยทบต้น’ คือพลังที่สำคัญมากในการสร้างความมั่งคั่ง ดังนั้น เวลาที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนคือตอนนี้ ยิ่งลังเลหรือรอให้พร้อมกว่านี้ยิ่งเสียโอกาส เป็นโอกาสเก็บประสบการณ์ ลองผิดลองถูก จนถึงวันหนึ่งเราก็จะตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น
การเก็บออมและการเพิ่มพูนความรู้ด้านการเงินก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเริ่มทำได้ทันที เพื่อบรรเทาภาระที่ตัวเองต้องแบกในอนาคต และลดภาระให้เดอะแบกในรุ่นต่อไปด้วยเช่นกัน จะได้ไม่ต้องมองย้อนหลังแล้วเสียได้ว่า ‘รู้งี้’ เริ่มเก็บออมและบริหารเงินตั้งแต่ตอนที่ยังมีเรี่ยวแรง
เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเปี่ยมประสิทธิภาพด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบริษัท สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kkpfg.com
โฆษณา