14 พ.ค. เวลา 10:45 • อาหาร

เกร็ดความรู้เรื่อง “ทุเรียน” วิธีสังเกตก่อนซื้อ-ห้ามกินกับอะไร

มัดรวมเกร็ดความรู้เรื่อง “ทุเรียน” เช็กฤดูกาลค้นหาแหล่งผลผลิต-เคล็ดลับเลือกทุเรียนก่อนซื้อ-ข้อห้ามกินของสายทุเรียนเลิฟเวอร์
เริ่มเห็นทุเรียนวางขายทีไร ทุเรียนเลิฟเวอร์เป็นต้องซื้อ! แต่จะกินทุเรียนทั้งที ก็ต้องฟิน กินของดี ดังนั้นแล้วมีอะไรที่คนรักทุเรียนจำเป็นต้องรู้ เราได้รวบรวมข้อมูลมาจากกรมวิทยาศาสตร์บริการและกรมส่งเสริมการเกษตรมาฝากทุกคนกัน
ประวัติทุเรียน
ทุเรียนปรากฏหลักฐานขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา บนบันทึกของ “มีเมอร์ ซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์” นักบวชนิกายเยซูอิต หัวหน้าคณะราชฑูต ซึ่งเขาบันทึกเอาไว้ว่า
ทุเรียน ราชาผลไม้ของไทย
ดูเรียน ชาวสยามเรียกว่า “ทูลเรียน” เป็นผลไม้ที่นิยมมากในแถบนี้ สำหรับข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆไปก็คล้ายขนุนเหมือนกัน มีเมล็ดมาก แต่เมล็ดใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่ายิ่งมีเมล็ดน้อย ยิ่งเป็นทูลเรียนดี อย่างไรก็ตามในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่ามีน้อยกว่า 3 เมล็ดเลย
จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะมาจากที่ไหน และด้วยวิธีใดไม่ได้ปรากฏหลักฐายแน่ชัด
แต่น่าเชื่อถือได้ว่านำมาจากภาคใต้ บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชของประเทศ และมีการปรับปรุงพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ ต่อมาพระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมายังกรุงเทพในปี 2318
ก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2560, 2485 และ 2526 ที่ทำให้ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ หลายพันธุ์ในจังหวัดนนทบุรีและธนบุรีสูญหายไป เพราะสวนล่ม แต่ก็ยังมีหลายสวนที่รอดพ้นมาได้ จึงกลายเป็นแหล่งพันธุ์ที่เหลืออยู่
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการขาดความรู้และหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นทุเรียนลูกผสมตามธรรมชาติ ไม่สามารถทราบเชื้อสายพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์ และหลักการตั้งชื่อก็ขาดหลักเกณฑ์ ประกอบกับมีการกระจายการปลูกทุเรียนไปยังภาคต่างๆ ทำให้มีการกระจายพันธุ์ไปยังแหล่งปลูกใหม่เป็นจำนวนมาก และเกิดทุเรียนมากมายนับร้อยสายพันธุ์ ซึ่งมีหลายๆ พันธุ์เป็นพันธุ์เดียวกัน แต่กำหนดชื่อต่างกัน
ทุเรียนยอดนิยมมีอะไรบ้าง
ทุเรียนที่พบในประเทศไทยมีอยู่หลายสายพันธุ์ก็จริง แต่พันธุ์ในเชิงการค้าซึ่งเป็นที่นิยม และรู้จักตามท้องตลาดในปัจจุบัน ได้แก่
  • ทุเรียนหมอนทอง
  • ทุเรียนชะนี
  • ทุเรียนกระดุม
  • ทุเรียนก้านยาว
  • ทุเรียนหลง-หลินลับแล
  • ทุเรียนพวงมณี
  • ทุเรียนกบชายน้ำ
  • ทุเรียนนกหยิบ
  • ทุเรียนเม็ดในยายปราง (ทุเรียนนกกระจิบ)
  • ทุเรียนป่าละอู
ทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI
แม้ว่าทุเรียนสายพันธุ์เดียวกัน แต่เมื่อนำไปปลูกคนละพื้นที่ก็ทำให้รสชาติและเอกลักษณ์แตกต่างกัน โดยมีทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งประกาศขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว 11 สินค้า ได้แก่
  • ทุเรียนนนท์
  • ทุเรียนปราจีน
  • ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์
  • ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์
  • ทุเรียนชะนีเกาะช้าง
  • ทุเรียนจันท์
  • ทุเรียนป่าละอู
  • ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ
  • ทุเรียนในวงระนอง
  • ทุเรียนสาลิกาพังงา
  • ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่
  • ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด
นอกจากนี้ยังมีทุเรียนที่ปลูกเฉพาะถิ่นและเริ่มมีการเปิดตัวให้เป็นที่รู้จัก เช่น ทุเรียนโอโซนเทพสถิต (จังหวัดชัยภูมิ) ทุเรียนทองผาภูมิ (จังหวัดกาญจนบุรี) เป็นต้น
ข้าวเหนียวทุเรียน
ฤดูกาลของทุเรียน
ในฤดูกาลปกติ ประเทศไทยมีทุเรียนออกสู่ตลาดประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน
  • เดือนเมษายน-มิถุนายน เป็นผลผลิตจากภาคตะวันออก (มากสุดช่วงพฤษภาคม)
  • เดือนกรกฎาคม-กันยายน เป็นผลผลิตจากภาคใต้
นอกจากนี้ยังมีเกษตรบางสวนผลิตทุเรียนนอกฤดูได้ โดยพื้นที่ภาคตะวันออกสามารถเก็บเกี่ยวได้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ส่วนพื้นที่ภาคใต้สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์
เคล็ดลับเลือกทุเรียนก่อนซื้อ
  • ก้านผล : แข็ง มีสีเข้มขึ้น สากมือ และก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโตเห็นรอยต่อชัดเจน
  • หนาม : ปลายหนามแหลม มีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย ร่องหนามห่าง เมื่อบีบหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ามีสปริง
  • รอยแยกระหว่างพู : ผลทุเรียนที่แก่จัดจะสังเกตเห็ยรอยแยกบนพูได้ชัดเจน ยกเว้นบางพันธุ์ที่พูปรากฏไม่เด่นชัด เช่น พันธุ์ก้านยาว
  • การชิมปลิง : ผลทุเรียนแก่จัด เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออกจะพบน้ำใสซึ่งไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อชิมดูจะมีรสหวาน
  • เคาะเปลือก/กรีดหนาม : เมื่อเคาะเปลือกผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวมๆ เสียงหนัก หรือเบาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน
ทุเรียนไม่ควรกินกับอะไร
  • น้ำอัดลม เพราะยิ่งกินคู่กับทุเรียนที่มีน้ำตาลสูง จะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลสูงขึ้นไปอีก
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • แอลกอฮอล์ เพราะทุเรียนมีฤทธิ์ร้อน ยิ่งกินคู่กับสุราเข้าไปจะยิ่งทำให้ร่างกายร้อนเข้าไปอีก มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ผู้ป่วย “โรคเบาหวาน”, “ความดันโลหิตสูง”, “หัวใจ”, “เส้นเลือดและไขมันในเลือด” ควรกินให้น้อยที่สุด
ตัดหรือค้าทุเรียนอ่อนผิดกฎหมาย
การตัดหรือค้าทุเรียนอ่อนผิดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271
โดยระบุว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ” ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47
โดยระบุว่า “ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสารถสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือของผู้อื่นโฆษณา หรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นนั้น” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำซ้ำอีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แหล่งซื้อทุเรียนจากสวนเกษตรกร
แหล่งซื้อทุเรียนจากสวนเกษตรกรโดยตรง สามารถซื้อได้ผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ และ กรมส่งเสริมการเกษตร
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา