Beauty and The Artist นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 4 ของ วัชระ กล้าค้าขาย

Beauty and The Artist คือชื่อนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 4 ของพี่โย่ง วัชระ กล้าค้าขาย @Watchara Klakhakhai ที่รวบรวมผลงานระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2566 กว่า 70 ชิ้นมาจัดแสดงอีกครั้ง ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน 1 และ 2 ชั้น 1 MOCA BANGKOK จัดแสดงระหว่างวันที่ 4 - 28 พ.ย. 2566 เวลา 10.00 - 18.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
ผมตั้งใจเดินทางมาชมนิทรรศการ ก่อนแสดงงานวันสุดท้าย 1 วัน ถือเป็นการใช้เวลาเกือบ 4 ชม. ที่คุ้มค่าจริงๆ ครับ นอกจากจะได้สนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่โย่งแล้ว ผมยังได้เป็นผู้ช่วยแนะนำผลงานพี่โย่ง ให้กับแขกที่เข้ามาเยี่ยมชมงานอีกด้วย เรียกได้ว่าสนุกสนาน...ครึกครื้นสุดๆ แต่...สำหรับพี่โย่ง (ผมคิดเองในใจ) เอิ่ม....ถ้าเมิงพูดมากขนาดนี้ คราวหน้าไม่ต้องมาก็ได้นะ (ฮา)
ศิลปินวาดภาพเหมือนมีเยอะแยะครับ แต่สำหรับผม...ทำไม? พี่โย่ง ถึงมีลักษณะโดดเด่น เฉพาะตัว ชนิดที่เลียนแบบได้ยาก จนผมขอให้คำนิยามว่า #ภาพวาดที่มีลมหายใจ
พี่โย่งเป็นศิลปินวาดภาพเหมือนเบอร์ต้นๆ ของไทย โดยเฉพาะรูปผู้หญิงเปลือย (ทำให้ผมต้องคัดเลือกบางภาพออก เพื่อป้องกันไม่ให้ถูก facebook แบนซะก่อนนะครับ ถ้าภาพไหนจำเป็นต้องใช้ในการอธิบาย ผมก็จะ censored ป้องกันเอาไว้ก่อน นี่เป็นคำเตือนตรง...จากพี่โย่งเลยนะครับ เพราะเคยถูกแบนมาแล้ว)
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้พี่โย่ง มีคิวรับงานยาวเป็นปี แต่รูปที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษ...กลับเป็นรูปที่พี่โย่งคิดวาดขึ้นมาเอง บางรูปก็ไม่ได้วาดขึ้นมาเพื่อขาย อย่างรูปชื่อ ‘ห่วง’ (Love is the Answer, 200 x 150 cm, 2018, Oil on canvas) ซึ่งเป็นรูปเหมือน นางจำลอง กล้าค้าขาย คุณแม่ของพี่โย่งเอง ที่กำลังทอดสายตาไกลออกไปด้วยความครุ่นคิด ระคนความกังวล ซึ่งเป็นรูปที่ผมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ (อ่านคำอธิบายเพิ่มเติม ในคำบรรยายภาพที่ 13. - 18.)
หรือรูปภาพขนาดใหญ่ที่พี่โย่งตั้งใจวาดเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ 9/11 (เหตุวินาศกรรม ก่อการร้ายช็อกโลก 11 กันยายน ค.ศ. 2001) ร่วมกับการบันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัยสำคัญ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคนั้นด้วย (อ่านคำอธิบายเพิ่มเติม ในคำบรรยายภาพที่ 19. - 20.) ผมบรรยายให้ผู้ชมงานฟังว่า ศิลปินมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ สามารถเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์สังคม จิกกัดแบบตรงไปตรงมา ผ่านงานศิลปะได้ แต่...สามารถทำให้คำวิพากษ์นั้น ดูสวยงามไปหมดด้วยกลวิธีทางศิลปะ
ผลงานที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นรูปหญิงสาวเปลือย พี่โย่งเลยถามผมคำหนึ่งว่า “มันดูชวนเร้าอารมณ์..ก่อกำหนัดหรือไม่” ผมตอบได้ทันทีเลยว่า “ไม่” เพราะผลงานพี่โย่งมันดูนุ่มนวลไปหมด มันดูงาม...จนทำให้ผมมองข้าม...การเร้าอารมณ์อะไรแบบนั้นไปแล้ว (แต่..อาจมีบางคนที่ดูแล้วปึ๋งปั๋ง อยากรีบกลับไปทำการบ้านกะศรีภรรเมียก็ได้นะ (ฮา)
ภาพถ่ายในเซ็ทนี้มีทั้งหมด 31 ภาพ ผมจะอธิบายไปทีละภาพๆ เลือกคลิกอ่านได้ตามอัธยาศัยครับ
1. ป้ายโฆษณาปากทางเข้า ก่อนชมนิทรรศการ
ภาพสไลด์ 2. - 3.
2. ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 ใช้จัดแสดงผลงานพี่โย่งทั้ง 2 ห้อง
3. บรรยากาศในห้องจัดแสดงที่ 1 มองจากทางเข้า
ภาพสไลด์ 4. - 10.
4. ป้ายคำเตือนศิลปะ 18+ ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานในการเข้าชม
5. นางงามกับลุงแก่ 555+
6. พิศภาพนางละครใกล้ๆ ผมมีข้อสังเกต 2 จุดคือ
1. “ขนตา” ถ้าไม่ใช้มาสคาร่า (Mascara) กับขนตาปลอม ขนตาคงไม่งอน พุ่งเด้ง แยกกันเป็นเส้นๆ ชัดขนาดนี้ ตรงนี้คือการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมลงบนงานศิลปะ เอาง่ายๆ ว่าถ้าเวลาผ่านไปเป็น 100 ปี คนในยุคหน้าก็จะรู้ได้ทันทีว่า คนในยุคนี้มีค่านิยมอย่างไร
2. “นิ้วที่งอน” ถ้าใครเรียนนาฏศิลป์ไทยจะทราบดีว่า นักเรียนจะต้องดัดนิ้วทั้งแผงให้โค้งงอลง เพื่อให้เกิดความสวยงามในการร่ายรำ แน่นอนว่า...กระดูกนิ้วอาจดูผิดรูปจากคนทั่วๆ ไป
7. ซูมใกล้ๆ ให้เห็นรายละเอียด ความประณีตของผลงาน
8. ซูมใกล้ๆ อีกรูป จนเห็นรายละเอียดของทีแปรง
9. รายละเอียดของทีแปรงผ้าปัก
10. ใบหน้านางแบบ กับการบันทึกความงามร่วมสมัยลงในภาพ
11. บรรยากาศภายในห้องจัดแสดงที่ 1
12. ถ่ายรูปกับพี่โย่ง
ภาพสไลด์ 13. - 15.
13. ‘ห่วง’ (Love is the Answer, 200 x 150 cm, 2018, Oil on canvas) รูปเหมือน นางจำลอง กล้าค้าขาย คุณแม่ของพี่โย่ง เป็นรูปที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นรูปที่พี่โย่ง ได้บันทึกความรู้สึกส่วนตัวลงในภาพ (พี่โย่งเล่าเบื้องหลังว่า...ไม่ได้วาดภาพนี้ต่อเนื่อง แต่วาดค้างๆ ไว้ เพราะต้องเร่งงานจ๊อบก่อน ทำให้ภาพนี้ใช้เวลาวาดนาน กว่าจะแล้วเสร็จ)
ภาพคุณแม่พี่โย่ง นั่งอยู่ตรงม้านั่งตัวเดิมๆ คือภาพที่ชินตามากสำหรับพี่โย่ง เพราะทุกๆ ครั้งที่กลับชัยนาท จะเห็นคุณแม่นั่งอยู่ในท่านี้เป็นประจำ แต่...มีอะไรที่สะท้อนออกมา จนผมรู้สึกได้...ตั้งแต่ยังไม่รู้ที่มาของภาพ (ขออภัย...ภาพถ่ายอาจจะไม่กระทบใจแรง เท่ากับการได้เห็นภาพของจริงนะครับ)
ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำอธิบายใดๆ หรือต้องรู้ชื่อภาพก่อน คนดูก็สามารถรู้สึกได้ทันทีว่า....คุณยายกำลังสะท้อนอะไรออกมาผ่านสีหน้าและแววตา ที่ดูเหมือนมองออกไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย ครุ่นคิด ด้วยความกังวล มือถือรุ่นเก่าที่อยู่ตรงหน้าก็เตรียมไว้พร้อม สำหรับรับสายทันทีถ้าลูกชายโทรกลับมาว่า...ใกล้ถึง “บ้าน” หรือยัง
หลายคนอาจมองว่า...มันก็แค่ชีวิตทั่วๆ ไปของแม่กับลูกที่อยู่ห่างกันหรือเปล่า? แต่...ถ้าใครเคยมีประสบการณ์ใกล้เคียงกันแบบนี้ หรือคุณแม่ได้จากไปแล้ว อาจรับรู้...จนถึงกับน้ำตาซึมได้ เมื่อได้มายืนอยู่ตรงหน้าและพินิจภาพนี้อย่างตั้งใจ เพราะมันชวนให้สะเทือนอารมณ์จริงๆ
ในขณะที่หนูน้อยเสื้อแดงกำลังจ้องมองคุณยายด้วยอารมณ์ระคนความสงสัยว่า “ยายเป็นไรอ่ะ?” แต่...ดูเหมือนคุณยายจะไม่..แม้แต่สนใจ เพราะเอาแต่ทอดตาไปข้างหน้า ราวกับว่าไม่มีเด็กคนนี้อยู่ใกล้ๆ ................ ตรงนี้พี่โย่งต้องการสะท้อนว่า....ในสังคมชนบทที่ปากกัดตีนถีบ มักจะนำเด็กเล็กมาทิ้งให้คนแก่เลี้ยง (ไม่ใช่ตัวพี่โย่งนะครับ เด็กคนนี้ก็เป็นเด็กแถวๆ บ้าน) วิทยุเครื่องเก่าที่วางอยู่ใกล้ๆ ก็สะท้อนยุคสมัยได้ดี........ ภาพนี้พี่โย่งได้สั่งเสียกับลูกๆ ไว้ว่า “ห้ามขายเด็ดขาด” อีกด้วยครับ
14. ซูมให้เห็นใบหน้าคุณยายชัดๆ
15. หนูน้อยจ้องมองคุณยายด้วยแววตาสงสัย (สังเกตมีแสงสะท้อนน้ำลายที่มุมปากด้วย) ยายๆ สนใจหนูหน่อยสิ!
16. มือถือรุ่นเก่าที่ยังมีปุ่มกด (ไม่ใช่ระบบสัมผัสแบบยุคนี้) สามารถสื่อสารเรื่องราวและสะท้อนยุคสมัยได้ดี
ภาพสไลด์ 17. - 18.
17. วิทยุเครื่องเก่า ปัจจุบันกลายเป็นของคลาสสิคไปแล้ว (พี่โย่งเล่าว่า หลังถูกนำมาใช้วาดเป็นแบบแล้ว ก็เก็บรักษาไว้อย่างดี)
18. ภาพนี้สูง 2 เมตร เวลาถ่ายจะเกิดมุมแบบ perspective อาจทำให้เห็นตัวคนผิดสัดส่วนไปบ้างนะครับ
19. อีกภาพที่ผมประทับใจเช่นกัน (ขอภัย ไม่ได้จดชื่อภาพกับขนาดมา) เป็นภาพวาดขนาดใหญ่น่าจะประมาณ 4 x 2 เมตร พี่โย่งเล่าว่าเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ 9/11 (เหตุวินาศกรรม ก่อการร้ายช็อกโลก 11 กันยายน ค.ศ. 2001) สังเกตที่ตัวถังรถเมล์เล็กสีเขียว มีตัวเลข 9-11 และคำบนกระจกว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ภาพนี้ยังบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคนั้นอีก 4 เหตุการณ์ ผมขอเล่าจากมุมซ้ายของภาพก่อนนะครับ
1) (ซ้ายสุด) #นางละครถูกขังอยู่ในตู้ทรงไทย ข้างๆ มีชายสวมชุดโขนนั่งหน้าเศร้าอยู่ในเงามืด – ถ้ายังไม่ได้ฟังคำอธิบายจากผม เห็นภาพนี้แล้ว...คุณนึกถึงอะไร? ...................................... ...................................... ...................................... ...................................... ...................................... ...................................... ...................................... ......................................
ใช่ครับ! ถ้าใครทายถูกมันคือการ #แช่แข็งทางวัฒนธรรม เช่น การข่มขู่ หลอกให้กลัว หรือปั้นแต่งให้สูงส่งจนเกินเหตุ ห้ามแตะห้ามต้องใดๆ ............ ปกติถ้าคนรุ่นใหม่ชอบ แปลว่าเขาสนใจแล้วนะ และถ้าเขาต้องการจะต่อยอดให้ร่วมสมัยกับยุคของเขา แปลว่า “ผิด??” เหตุเพราะคนรุ่นเก่า (บางกลุ่ม ที่เสียงดัง) เกิดยอมรับไม่ได้ขึ้นมาซะงั้น จนถึงกับก่นด่า กล่าวหาเด็กๆ ว่า กำลังจ้องทำลายวัฒนธรรมไทย (หากใครจำดราม่า “ทศกัณฐ์แคะขนมครก, ขับโกคาร์ท” ในปี พ.ศ. 2559 ได้ นั่นแหละครับ)
การไม่เปิดใจให้กว้างๆ ของคนรุ่นเก่า เท่ากับเกียดกันคนรุ่นใหม่ออกไป ก็เหมือนกับนางรำที่ถูกขังอยู่ในตู้ทรงไทย (ให้เน่าตายไป) สำหรับผมมันคือการทำลายมากกว่าการคงรักษาไว้ เมื่อโดนข่มขู่ ด่าหนักขนาดนี้ ถ้าเด็กๆ จะยี้! จนหันไปหาดนตรีสากล หรือศิลปะสากลไปเลย คุณจะเอาเหตุผลอะไรไปห้ามเขา? สุดท้ายพอตัวเองใกล้ตาย ก็มาก่นด่าเด็กๆ ต่อว่า “เด็กไม่ยอมรักษาวัฒนธรรมไทย นิยมแต่ต่างชาติอีก” เอ่อ... ไอ่..ชิหัย!! ทำไมมันช่างย้อนแย้งกันขนาดนี้?
ผมเองทำงานไทยมานานกว่า 20 ปี เห็นการพัฒนาคลี่คลายในเชิงสร้างสรรค์มาเรื่อยๆ ยังไม่เห็นว่าของเก่า จะถูกลดทอนคุณค่าลงแต่อย่างใด แถมความคิดสร้างสรรค์ ที่นำไป develop ไปพัฒนาใหม่ มันกลับ refer (อ้างอิง) กลับมาถึงของเก่าๆ ได้อีก เหตุเพราะคนที่เคยเห็นรูปลักษณ์ที่ถูกคลี่คลายมาแบบสุดๆ แล้ว ก็ยังอยากจะเห็นว่า...ของเก่าแบบต้นฉบับดั้งเดิมหน้าตามันเป็นยังไง ถือเป็นการอนุรักษ์ทางอ้อมได้อีกทาง
สุดท้ายวิธีคิดแบบ “แช่แข็งทางวัฒนธรรม” เลยดูไม่ต่างอะไรกับ “การฝังกลบคุณค่าที่คนรุ่นเก่าหวงแหนไว้” ไปพร้อมๆ กับซากศพของคุณเองนั่นแหละ
2) (กลาง) #นางตกเขียว/ผีเสื้อราตรี คำว่า “ตกเขียว” ถือเป็นตราบาปของสังคมไทยที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำได้อย่างน่าเศร้า จนถึงทุกวันนี้ก็ยังแก้ไขได้ยาก พูดง่ายๆ ตกเขียวคือ “การซื้อขายเด็กจากพ่อแม่เพื่อไปขายในซ่องนั่นเอง” โดยพ่อแม่จะรับเงินจากนายทุนตั้งแต่เด็กยังเล็ก (ถ้าไม่ยากจนมากๆ ก็จะไม่เกิดกรณีนี้ขึ้นจริงมั้ย?)
เมื่อเด็กโต นายทุนก็จะเอาตัวเด็กไปเพราะถือเป็นการใช้หนี้ ............... พี่โย่งเปรียบผีเสื้อกับความบอบบาง สามารถบีบให้ตายได้ง่ายๆ คามือ เหมือนกับคนยากคนจน ที่ชีวิตช่างเปราะบาง ถูกบีบให้ตายได้ง่ายๆ จากนายทุนเช่นกัน
3) (ขวา) #นางงามสวมหน้ากาก หากใครจำดราม่าระดับประเทศช่วงปี พ.ศ. 2550 ได้ จนสื่อมวลชนถึงกับตั้งฉายาว่า “ตำนานรักระหว่างนางฟ้ากับปลากระโห้” เมื่ออดีตนักเทนนิสชายชื่อดังระดับโลกชาวไทย ได้สมรสฟ้าผ่า (จากการคบหาดูใจเพียง 1 ปี) กับ นาตาลี เกลโบวา อดีตนางงามจักรวาลชาวแคนาดาเชื้อสายรัสเซีย ที่มาได้ตำแหน่งในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2548 (2005)
ขณะนั้นเต็มไปด้วยข่าวนินทาหนาหูว่า เป็นการแต่งงานเพื่อผลประโยชน์ (ในขณะที่ฝ่ายชายมีแต่ข่าว ควงสาวไม่ซ้ำหน้า หลังแต่งงาน) สุดท้าย....ผ่านไปไม่กี่ปี จึงเกิดข่าวการหย่าร้าง เพื่อแบ่งสมบัติกันในที่สุด
4) (ขวา ภาพด้านหลัง) #ช้างเร่ขอทานในเมือง เบื้องหน้าคือ การขอบริจาคเพื่อช้างไทยที่น่าสงสาร แต่เบื้องหลังกลับกลายเป็นการทรมานสัตว์ (คล้ายๆ กรณีแก๊งขอทาน แต่เปลี่ยนจากคนกลายเป็นช้าง) แถมยังมีข่าวช้างถูกรถชนในเมือง จนบาดเจ็บ พิการ ให้ได้ยินกันอยู่เนืองๆ
20. ภาพขยาย #นางละครถูกขังอยู่ในตู้ทรงไทย ข้างๆ มีชายสวมชุดโขนนั่งหน้าเศร้าอยู่ในเงามืด (อ่านคำอธิบายในภาพที่ 19.)
21. ผมเซลฟี่หน้ารูปนี้ เพื่อให้เห็นขนาดที่ใหญ่ของภาพ
ภาพสไลด์ 22. - 23.
22. ภาพลายเส้นใบหน้านางละคร
23. ภาพสีใบหน้านางละคร
ภาพสไลด์ 24. - 25.
24. Concept งาน ‘Beauty and the Artist’
25. ภาพมุมกว้างของห้องจัดแสดงที่ 2 เห็นพี่โย่ง (เสื้อขาวลายตาราง) กำลังคุยกับแขกที่มาชมงาน
ภาพสไลด์ 26. - 28.
26. รอยสัก “ยันต์ 5 แถว” บนแผ่นหลังเปลือยของหญิงสาว
27. ซูมให้เห็นรอยสักใกล้ๆ
28. รายละเอียดเครื่องทรงท่อนล่างของนางละคร
ภาพสไลด์ 29. - 31.
29. ภาพมุมกว้างในห้องจัดแสดงที่ 1
30. กับภาพวาด ใหม่ ดาวิกา
31. ภาพมุมกว้างในห้องจัดแสดงที่ 1 (ภาพชุดนางละคร แบบไม่เปลือย)
จิด.ตระ.ธานี #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา