6 พ.ค. เวลา 05:45 • สุขภาพ

ไขมันในเลือดสูง ต้องออกกำลังกาย แบบไหน? ถึงช่วยลดหลอดเลือดอุดตัน

หลายต่อหลายคน อาจประสบปัญหาสุขภาพ ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการ ออกกำลังกายอย่างถูกต้อง! แต่จะต้องออกแบบไหน? ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด!?
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) คือภาวะที่มี ระดับไขมันไม่ดี (LDL) สูง ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง หรือระดับไขมันดี (HDL) ต่ำ ซึ่งภาวะไขมันในเลือดผิดปกติถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในการก่อโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นต้น
การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งรวมถึงผู้ที่ต้องใช้ยาลดไขมันเพื่อรักษาภาวะนี้แล้วก็ตาม การปรับโภชนาการและการลดน้ำหนักมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับภาวะไขมันในเลือด
ออกกำลังกาย
ออกกำลังกายลดไขมันในเลือด
  • การออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการปรับไขมันในเลือด แนะนำให้ทำอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ด้วยระดับความเหนื่อยน้อยถึงปานกลาง (อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในช่วง 40-75 % ของ Heart Rate Reserve)
วันละ 30 - 60 นาที (แนะนำให้ทำแบบต่อเนื่อง 50-60 นาทีต่อวันเพื่อประโยชน์สูงสุด) ตัวอย่างของการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ
หากไม่สามารถออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างต่อเนื่อง 30-60 นาทีรวดเดียวได้ อาจสะสมช่วงเวลาของการออกกำลังกายแบบเป็นช่วงเวลาอย่างน้อยช่วงละ 10 นาทีก็ได้
  • การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance exercise) มีส่วนช่วยในการปรับระดับไขมันในเลือด และมีส่วนช่วยในการรักษาหรือป้องกันโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย ก่อนจะเริ่มการออกกำลังกาย ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลท่าน ว่ามีภาวะหรือโรคอื่น ๆ ที่เป็นข้อห้ามหรือข้อพึงระวังในการออกกำลังกาย หรือมีความจำเป็นต้องรับการทดสอบก่อนการออกกำลัง (Exercise test) หรือไม่
ข้อแนะนำสำหรับการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน แนะนำให้ทำอย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์ (แนะนำให้เว้นระยะเวลาในการฝึกกล้ามเนื้อกลุ่มเดิมอย่างน้อย 48 ชั่วโมง)
  • กรณีที่ต้องการเพิ่มความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อ แนะนำให้ใช้แรงต้านที่ทำให้เราใช้กลุ่มกล้ามเนื้อนั้นออกแรงได้ 8-12 ครั้ง และทำ 2-4 sets ต่อวัน
  • ส่วนกรณีที่ต้องการเพิ่มความทนทานของกลุ่มกล้ามเนื้อ แนะนำให้ใช้แรงต้านที่ทำให้เราใช้กลุ่มกล้ามเนื้อนั้นออกแรงได้ 12-20 ครั้ง และทำ 1-2 sets ต่อวัน การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน ได้แก่ การใช้อุปกรณ์ต้านแรง การใช้ดัมเบลหรือบาร์เบล การใช้ยางยืดต้านแรง การใช้น้ำหนักตัวเองเป็นแรงต้าน
  • ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกายอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ โดยการยืดเหยียดกลุ่มกล้ามเนื้อให้ถึงจุดที่เริ่มรู้สึกตึงหรือเริ่มรู้สึกไม่สะดวกสบาย ทำท่าละ 10-30 วินาที และแต่ละทำซ้ำ 2-4 sets
ในกลุ่มผู้ที่รับประทานยาลดไขมันอยู่ หากมีอาการปวดกล้ามเนื้อยาวนานผิดปกติ (โดยปกติ หลังจากการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน จะมีการระบมของกลุ่มกล้ามเนื้อที่ฝึกในช่วง 48 ชั่วโมงภายหลังการฝึก) หรือหากมีอาการปวดกล้ามเนื้อในกลุ่มกล้ามเนื้อที่ไม่สัมพันธ์กับการออกกำลังกาย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดไขมัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา