11 ต.ค. 2018 เวลา 04:38
สัตว์นับจำนวนได้หรือไม่?
ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในช่วง ค.ศ. 1891 Wilhelm von Osten ครูโรงเรียนมัธยมปลายชาวเยอรมันคนหนึ่งประกาศว่า ม้าของเขามีความพิเศษเพราะมันสามารถนับเลขและคำนวณเบื้องต้นได้! โดยเมื่อเขาถามมันและชี้ไปที่กระดานที่มีตัวเลขประกอบ ม้าตัวนี้จะตบเท้าบอกคำตอบออกมาเป็นจำนวนที่ถูกต้อง
เมื่อเขานำม้าตัวนี้ออกแสดงสู่สาธารณะชน มันสามารถนับเลขและตอบคำถามอื่นๆได้ถูกต้องแทบทุกครั้งอย่างน่าประทับใจจนกระทั่งผู้คนเชื่อว่ามันเป็นม้าที่นับเลขได้จริงๆ
ม้าตัวนี้มีชื่อว่า ฮานส์ แต่ผู้คนพากันเรียกมันว่า ฮานส์เจ้าม้าแสนรู้ (Clever Hans)
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1904 ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและจิตวิทยาผู้มีนามว่า คาร์ล สตัมฟ์ (Carl Stumpf) ได้มาทำการทดสอบความฉลาดของฮานส์
ผลปรากฏว่าเขาไม่พบเลยว่ามีการใช้ทริกหรือส่งสัญญาณใดๆบอกม้า ทำให้คาร์ล สตัมฟ์ ถึงขั้นรับรองว่าม้าตัวนี้ฉลาดจริงๆ คราวนี้เจ้าฮานส์แสนรู้เลยยิ่งเป็นที่รู้จักและโด่งดังจนผู้คนทั่วสารทิศต้องมาดูการแสดงการคำนวณของมันเห็นกับตา
แต่ Oskar Pfungst ผู้ช่วยของสตัมฟ์ยังไม่เชื่อสนิทใจ
ในปี ค.ศ. 1907 Oskar Pfungst จัดตั้งทีมนักวิทยาศาสตร์สิบสามคนรวมกลุ่มกันมาทดสอบเจ้าม้าฮานส์อีกครั้ง ในครั้งนี้ทีมของเขาได้ออกแบบการทดลองอย่างดีด้วยการใช้คำถามจำนวนมากเพื่อป้องกันการมั่วถูก , มีการเปลี่ยนตัวคนถาม , บางคำถามเป็นคำถามที่คนถามไม่รู้คำตอบ และมีการทดลองยืนถามที่ระยะห่างต่างๆกัน
ผลปรากฏว่าก็ยังไม่พบว่ามีการโกงแต่อย่างใด ทว่าการทดลองในครั้งนี้พวกเขาพบหลักฐานบางอย่างที่น่าสนใจมาก นั่นคือ ยิ่งผู้ถามอยู่ห่างจากเจ้าม้าฮานส์ การตอบถูกยิ่งน้อยลง และที่สำคัญคือหากผู้ถามไม่รู้คำตอบ เจ้าม้าฮานส์จะไม่สามารถตอบคำถามได้
สุดท้ายนักวิทยาศาสตร์จึงสามารถสรุปได้ว่าที่ฮานส์ตอบคำถามได้ถูกมิใช่เพราะมันคิดหาคำตอบได้เอง แต่มันใช้การสังเกตการแสดงออกจากตัวคนถาม โดยที่ตัวคนถามไม่รู้ตัวเลย ว่าได้สีหน้าหรือลักษณะท่าทางต่างๆอะไรออกไปบอกใบ้
แม้การทดลองจะพบว่าเจ้าม้าฮานส์จะนับเลขไม่ได้ แต่มันก็เป็นม้าที่ฉลาดมากอยู่ดี
เจ้าม้าฮานส์แสนรู้เป็นกรณีศึกษาที่ทำให้นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "Clever Hans effect" กล่าวคือ ผู้ถามที่รู้คำตอบสามารถส่งผลต่อการทำแบบทดสอบได้
ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์จึงให้คนที่ไม่รู้คำตอบตั้งคำถามแทน ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการทดสอบผลของยาตัวใหม่ แพทย์ที่จ่ายยาจะไม่รู้ว่าตนเองจ่ายยาจริงหรือยาหลอก การทดสอบที่รัดกุมนี้เรียกว่า double blind test
แล้วสิ่งมีชีวิตอื่นๆนอกจากมนุษย์เราสามารถนับเลขได้ไหม?
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสัตว์หลายชนิดสามารถนับเลขและเข้าใจจำนวนน้อยๆได้
สุนัขสามารถนับจำนวนได้มากที่สุดราวๆ 4-5 ชิ้น หากคุณเอาอาหารที่มันโปรดปรานมาวางไว้บนพื้นสักสามชิ้น แล้วเอาฉากมากั้นระหว่างมันกับอาหารจากนั้นแอบดึงอาหารของมันออกไปสักชิ้น สุนัขบางตัวจะรู้แล้วพยายามดมหาอาหารที่หายไป
สุนัขเป็นสัตว์ที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์ บางทีจึงไม่น่าแปลกใจนักหากมันจะมีทักษะการนับจำนวนเล็กๆน้อยๆ
แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์สำรวจสัตว์ชนิดอื่นๆก็ต้องตกใจ เพราะสัตว์หลายๆชนิดแสดงความสามารถด้านการนับออกมา แม้มันจะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้อาศัยร่วมกับมนุษย์เราก็ตาม
ตัวอย่างเช่น หมีดำอเมริกัน (American black bear) ซึ่งเป็นสัตว์ป่า แต่กลับแสดงความสามารถในการนับเลขในระดับหนึ่ง โดยนักวิทยาศาสตร์ศึกษาหมีในสวนสัตว์แล้วฝึกให้มันแตะหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยจมูกหรืออุ้งตีน เมื่อแสดงภาพสองภาพขึ้นในหน้าจอโดยภาพฝั่งซ้ายเป็นกลุ่มจุดที่มีจำนวนน้อยกว่าภาพฝั่งขวา ถ้าหมีเลือกแตะภาพที่มีจำนวนจุดน้อย มันจะได้รับอาหาร และภาพใหม่จะปรากฏขึ้นมาให้เลือกอีก(โดยจุดน้อยอาจจะไปปรากฏฝั่งขวาหรือซ้ายแบบสุ่มๆ)
ผลปรากฏว่ามันสามารถเลือกจุดจำนวนน้อยได้อย่างถูกต้อง
นั่นหมายความว่ามันมีเซนส์เรื่องจำนวนในระดับหนึ่ง (และถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะตั้งเงื่อนไขว่าถ้ามันเลือกแตะที่ภาพจุดจำนวนมาก มันจะได้อาหาร มันก็ยังสามารถเลือกได้อย่างถูกต้อง)
บางทีเซนส์เรื่องจำนวนอาจเป็นสิ่งที่พื้นฐานมากกว่าที่เราคิด เพราะ นักวิทยาศาสตร์พบว่าแม้แต่มดทะเลทรายบางชนิด (Cataglyphis) ก็สามารถนับจำนวนก้าวที่มันเดินได้!
การทดลองนั้นเรียบง่ายมาก นักวิทยาศาสตร์นำอาหารไปวางห่างจากรังมดที่ระยะหนึ่ง แล้วรอจนกระทั่งมดกลุ่มหนึ่งตามกลิ่นมาเจออาหาร ปกติหากไม่ไปยุ่งอะไร พวกมันจะสามารถเดินกลับรังได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์จับมดบางส่วนมาต่อขาให้ยาวขึ้น มดเหล่านั้นจะเดินทางเลยรังของตัวเองไปราวกับว่ามันนับจำนวนก้าวของมันไว้ ในทางกลับกัน เมื่อลองตัดขาของมดออกบางส่วน (แอบโหด) มดจะเดินทางยังไม่ถึงรังก็เริ่มหยุดมองหารัง
นักวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่าในสมองเล็กๆของมดเหมือนกับมีเครื่องนับจำนวนก้าวเพื่อทำการวัดออกมาว่ามันเดินไปไกลแค่ไหนแล้ว
แล้วลิงที่เป็นญาติสนิทของมนุษย์ล่ะ นับจำนวนได้ไหม?
Jessica Cantlon นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรอเชสเตอร์ (University of Rochester) สหรัฐอเมริกา ทำการทดสอบคล้ายๆกับในหมีดำอเมริกันโดยการให้ลิงวอกเลือกภาพทีมีจำนวนจุดน้อยหรือมาก โดยกลุ่มจุดทั้งสองภาพมีขนาดเท่ากันเพื่อไม่ให้ลิงเลือกด้วยการแยกแยะด้วยขนาด นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนตัวแปรอื่นๆเช่น รูปร่างการเรียงตัว หรือ สีสัน จนนักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่ามันแยกแยะจำนวนน้อยได้จริงๆ
ที่เจ๋งคือ ลิงวอกนั้นเลือกผิดไปเพียง 10-20 % เท่านั้น ในขณะที่เด็กมหาวิทยาลัยที่ร่วมการทดสอบเลือกถูกทั้งหมดซึ่งก็ไม่แปลก แต่ลิงวอกชนะเด็กมหาวิทยาลัยในเรื่องความเร็วจนมนุษย์เราเทียบไม่ติด กล่าวคือลิงวอกเห็นแล้วตอบได้ทันที ในขณะที่เด็กมหาวิทยาลัยยังต้องใช้เวลานับเล็กน้อย
สรุปได้ว่า การนับจำนวนอาจเป็นทักษะที่พื้นฐานพอสมควรทางชีววิทยา กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตต่างๆอาจมีเซนส์เรื่องการนับอยู่บ้าง มากน้อยต่างกันออกไป แต่ก็ไม่มีชนิดไหนนับจำนวนมากๆและซับซ้อนได้เสมอเหมือนมนุษย์
คำถามคือ มนุษย์เราเริ่มต้นนับเลขกันเมื่อไหร่ ?
โปรดติดตามคำตอบได้ในสัปดาห์หน้า
อ้างอิง
โฆษณา