3 ธ.ค. 2018 เวลา 08:00 • สุขภาพ
ทำไมการออกกำลังกาย…ช่วยให้คุณ"แก่วัย”ช้าลง
ทุกๆคนก็คงจะรู้กันอยู่แล้ว ว่าการออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคนั้นโรคนี้ ทำให้มีชีวิตได้ยืนยาวขึ้น...
แต่วันนี้เฮลท์สตอรี่จะขอมานำเสนออีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ “การแก่ตัวระดับเซลล์”
เป็นเวลากว่าสิบปีเเล้ว...
ที่มนุษย์ได้ค้นพบว่า กุญแจสำคัญที่กำหนดเวลาการแก่ตัวของเซลล์ คือ"เทโลเมียร์(telomeres)"
เทโลเมียร์คืออะไร บทความนี้จะขอกล่าวสรุปอย่างสั้นๆ แล้วจะเขียนบทความเฉพาะของเทโลเมียร์ในภายหลังนะครับ
เทโลเมียร์คือส่วนหนึ่งของ"ดีเอ็นเอ"ที่อยู่ตรงปลายสุดของโครโมโซมของพวกเรา
ทุกๆครั้งที่เซลล์ร่างกายแบ่งตัว เทโลเมียร์ของเซลล์นั้นๆจะหดสั้นลงเรื่อยๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เซลล์นั้นจะไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกต่อไป
เมื่อเทโลเมียร์สั้นลงเรื่อยๆ ก็แปลว่าเซลล์เสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ และเป็นเส้นทางที่ไปสู่การตายของเซลล์
เอนไซม์หรือโปรตีนที่ชื่อว่า"ทีโลเมียเรส(telomerase)"มีอยู่ในทุกๆเซลล์
มันจะช่วยรักษาความยาวของเทโลเมียร์นี้ ไม่ให้เทโลเมียร์สั้นลงอย่างรวดเร็วเกินไป
แต่เมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น เอนไซม์ตัวนี้ก็จะค่อยๆทำงานน้อยลง
ล่าสุด มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไลป์ซิก(Leipzig University)ที่เยอรมันได้ลงมือศึกษาเกี่ยวกับประเภทของการออกกำลังกาย ว่าสามารถช่วย"ชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์"และ"เพิ่มการทำงานของเอนไซม์เทโลเมียเรส"ได้หรือไม่
โดยแบ่งการออกกำลังออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทาน(Endurance exercise) เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ
2) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง(Resistance exercise) เช่น การยกเวท
3) การออกกำลังกายแบบHIIT(High-intensity interval exercise) ซึ่งเหมือนกับแบบแรก แต่เพิ่มความหนักในช่วงเวลาสั้นๆช่วงแรก ตามด้วยการพัก แล้วออกกำลังแบบหนักอีกรอบ
งานวิจัยได้เปรียบเทียบการออกกำลังแต่ละประเภทในระยะเวลา 6 เดือน โดยต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 45 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์
ผู้ร่วมทดลองงานวิจัยที่ทำสำเร็จมีทั้งหมด 124 คน
มีการเจาะเลือดในช่วงต้นและช่วงสุดท้ายของการทดลอง เพื่อประเมิณเทโลเมียร์และเทโลเมียเรสในเม็ดเลือดขาว
ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า การออกกำลังแบบ endurance และ HIIT สามารถเพิ่มความยาวของเทโลเมียร์ และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์เทโลเมียเรสได้ถึง 2-3 เท่า
แต่กลับไม่พบผลดังกล่าวในการออกกำลังกายแบบ resistance
สำหรับเหตุผลของผลลัพท์งานวิจัยนี้ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการเริ่มต้นใช้เทโลเมียร์ในการวัดผลการวิจัยในอนาคต
สิ่งสำคัญก็คืองานวิจัยนี้ได้สนับสนุนแนวทางปฏิบัติสากลของยุโรปที่ว่า การออกกำลังเเบบ resistance ควรเป็นการออกกำลังที่เสริมจากการออกกำลังแบบ endurance ไม่ใช่เพื่อทดแทนกัน…
แม้ว่างานวิจัยนี้จะเป็นงานวิจัยที่ยังมีผู้ทดลองไม่มาก และอาจยังไม่สามารถแปลผลไปสู่ประชากรส่วนใหญ่ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นงานวิจัยที่ได้ผลลัพธ์ที่น่าติดตามต่อเป็นอย่างมาก
สุดท้ายนี้อันที่ บทความนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เลือกวิธีการออกกำลังกายหรอกนะครับ แต่หวังว่าจะทำให้พวกเราเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายมากขึ้น ไม่ว่าจะออกกำลังกายแบบไหนก็ตาม เพราะมันมีประโยชน์ลึกซึ้งไปถึงระดับดีเอ็นเอเลยทีเดียวครับ…
#Healthstory
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆได้ที่
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ!!!
[R]
www.medicalnewstoday.com - What kind of physical exercise can help you stay young?, 28 November 2018
โฆษณา