6 ธ.ค. 2018 เวลา 08:30 • สุขภาพ
ไขความลับ "แสงจากหน้าจอ…รบกวนนาฬิกาชีวิตของพวกเราได้อย่างไร"
ใครคิดว่าดวงตาของพวกเรามีหน้าที่เพียงแค่”การมองเห็น” แต่ความจริงเเล้วดวงตาของพวกเรายังทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว!
เป็นเวลานานแล้วที่มนุษย์มีความเชื่อว่า ร่างกายของพวกเรานั้นมี"นาฬิกาชีวภาพ"ที่จะทำงานสอดคล้องกับช่วงเวลา24ชั่วโมงต่อวันของโลกที่พวกเราอาศัยอยู่ โดยอาศัย"แสงสว่าง"และ"ความมืด"
shutterstock/Y Photo Studio
นาฬิกาชีวภาพช่วยให้พวกเราใช้ชีวิตประจำวันตามวงจร24ชั่วโมงได้อย่างปกติ โดยควบคุมการทำงานต่างๆ เช่น ความรู้สึกง่วง ความรู้สึกตื่นนอนสดชื่น และการทำงานของทุกอวัยวะในร่างกายก็ดำเนินไปตามนาฬิกาชีวภาพนี้ด้วยเช่นกัน
โดยการทำงานของนาฬิกาชีวภาพนั้นค่อนข้างซับซ้อนทีเดียวเลยล่ะ มันถูกควบคุมโดยส่วนของสมองที่ทำหน้าที่รับสัญญาณประสาทที่มาจากดวงตา
มีงานวิจัยจำนวนมากที่ได้โฟกัสไปที่กลุ่มเซลล์บนเรตินา ซึ่งมันเป็นชั้นของดวงตาที่บรรจุเซลล์ที่ทำหน้าที่รับแสงหรือภาพที่ผ่านเข้ามาในดวงตา
เซลล์เหล่านี้มันไม่เหมือนกับเซลล์ทั่วๆไป เพราะมันสามารถตอบสนองต่อแสงโดยการส่งสัญญาณต่อไปยังสมองที่อยู่บริเวณ"ท้ายทอย" เพื่อจัดเรียงสัญญาณและแปลผลออกมาเป็น"รูปภาพ"
ไม่มีเซลล์ไหนๆในร่างกายพวกเราที่สามารถทำเช่นนี้ได้!
ถ้าไม่ได้คืนคุณครูไปหมดหลังสอบเสร็จ หลายๆคนยังอาจพอจำได้สมัยเรียนในชั้นมัธยมวิชาชีววิทยา ว่าเซลล์รับรู้แสงเหล่านี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ "เซลล์รูปแท่ง"ซึ่งมีหน้าที่แปลสัญญาณของภาพขาว-ดำ และ"เซลล์รูปกรวย"ที่มีหน้าที่แปลสัญญาณของสีต่างๆ
เซลล์พวกนี้มีมากมายจนกินพื้นที่แทบเกือบทั้งหมดบนเรตินาเลยล่ะ
มนุษย์ได้เข้าใจมาเป็นเวลานานว่า ดวงตาของพวกเรามีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ"การมองเห็น" (Image forming function; IF)
แต่ในกว่าสิบปีที่ผ่านมานี้ งานวิจัยได้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจมากๆสิ่งหนึ่ง
ในคนที่เซลล์รูปแท่งและรูปกรวยถูกทำลายจนหมดสิ้นและตาบอดสนิททั้ง2ข้าง คนเหล่านี้กลับยังสามารถตรวจพบ"การส่งกระเเสประสาท"เมื่อได้รับแสงได้ และแน่นอนว่ากระเเสประสาทเหล่านี้ ไม่ได้ถูกส่งไปเพื่อแปลผลเป็นรูปภาพ!
การค้นพบชิ้นนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสุดๆเลยในตอนนั้น
สิ่งนี้ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ตระหนักถึง หน้าที่อื่นของดวงตา...ที่ไม่ใช่การมองเห็น (Non-image forming function; NIF)
ตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้แต่ขนลุกว่าดวงตาของพวกเรายังแอบทำหน้าที่อะไรอย่างอื่นอีกเหรอ!
งานวิจัยได้ค้นพบว่ามีกลุ่มเซลล์รับรู้แสง”กลุ่มที่3" ที่อยู่ลึกลงไปกว่าชั้นของเซลล์รูปแท่งและรูปกรวย ซึ่งมันทำหน้าที่รับรู้แสงเหมือนกัน แต่กลุ่มเซลล์เหล่านี้กลับไม่ได้ส่งกระเเสประสาทไปยังสมองที่ส่วนท้ายทอย หรือก็คือไม่ได้มีหน้าที่แปลผลเป็นรูปภาพที่สมอง!
พวกเขาจึงได้คิดว่า กลุ่มเซลล์รับรู้แสงเหล่านี้ต้องมีหน้าที่อื่นอย่างแน่นอน! และนั่นก็คือการส่งสัญญาณเพื่อควบคุม"นาฬิกาชีวภาพ"ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมานานของพวกเรา
Pexel/burak kostak
โปรตีนที่ชื่อว่า"เมลาน็อปซิน(melanopsin)" เป็นโปรตีนที่จะถูกสร้างเพิ่มขึ้นในเซลล์รับรู้แสงชนิดนี้เมื่อได้รับแสงจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งโปรตีนชนิดนี้จะกระตุ้นการส่งกระแสประสาทให้สมองรับรู้ถึงแสงในสิ่งแวดล้อมที่กำลังอยู่
ถ้าเมลาน็อปซินนี้ถูกกระตุ้นให้สร้างมากขึ้นเป็นเวลานานๆ มันจะส่งสัญญาณสำหรับ"การตั้งค่าใหม่"ของนาฬิกาชีวภาพ ซึ่งจะยับยั้งฮอร์โมนที่ควบคุมการนอนหลับของพวกเรา
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เซลล์รับรู้แสงชนิดนี้จะสร้างเมลาน็อปซินและส่งกระเเสประสาทได้ดีที่สุด เมื่อได้รับแสงที่มีคลื่นความยาวเท่ากับ "แสงสีฟ้า(Blue light)"!!!
สิ่งนี้เป็นต้นกำเนิดของความเชื่อที่ว่า แสงสีฟ้ารบกวนนาฬิกาชีวภาพของพวกเราได้มากที่สุด
งานวิจัยได้ลองสร้างหนูที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมให้สามารถสร้างเมลาน็อปซินได้มากกว่าปกติ
เมื่อทดลองเปิดแสงสีฟ้าใส่หนูดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้ มันสามารถเปลื่ยนคลื่นสมองที่แสดงถึง"การหลับลึก" ไปเป็นคลื่นสมอง"การตื่น"ที่สามารถอยู่ในสภาพตื่นนี้ไปได้อีกเป็นระยะเวลานาน
แม้ว่าตอนนี้พวกเราจะค้นพบการทำงานของนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์อย่างมากแล้ว
แต่ก็ยังคงต้องมีการศึกษาและวิจัยอีกมากเพื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
แต่แน่นอนว่า"นาฬิกาชีวภาพ"มีตัวตนอยู่จริงอย่างแน่นอนล่ะ และพวกเราคือคนที่ควบคุมการทำงานของพวกมัน!
แต่ก่อนแสงและความมืดจากสิ่งแวดล้อม ถูกกำหนดโดยดวงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันพวกเราทำงานอยู่กับหน้าจอจนแทบไม่ได้เห็นดวงอาทิตย์ด้วยซ้ำไป(น่าเศร้าจริง)
ดังนั้นพวกเราควรมาจัดระเบียบการทำงานเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติราบรื่น24ชั่วโมงนะครับ...
#Healthstory
ติดตามเรื่องราวเฮลท์ตี้ดีๆได้ที่
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ!!!
[R]
www.ncbi.nlm.nih.gov - The emerging roles of melanopsin in behavioral adaptation to light
www.medicalnewstoday.com - Screen time disrupts sleep by resetting internal clocks, 30 November 2018 , By Catharine Paddock PhD
โฆษณา