14 ม.ค. 2019 เวลา 05:20
"ฝุ่นละออง PM2.5 ภัยร้ายใกล้ตัว"
โพสนี้ผมไม่ได้จะมาแนะนำหนัง แต่จะมาเตือนภัยใกล้ตัวครับ
เมื่อเช้านี้ผมเดินสะลึมสะลือออกจากห้องเพราะนอนน้อย พอแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้าก็พลันเห็นหมอกสวยงาม นึกว่าตัวเองหลุดเข้าไปอยู่ในซีรีส์เรื่อง “The Mist” ที่มีฉายใน Netflix ซะแล้ว (ซีรีส์เรื่องนี้ผมไม่แนะนำ​เพราะผมดูแล้วจะหลับ​ เวอร์ชั่นที่เป็นหนังสร้างดีกว่าเยอะ)​
เครดิตภาพ: https://uk.newonnetflix.info/info/80135414/s
ทันใดนั้นเอง เพลง “หมอกหรือควัน” ของพี่เบิร์ดก็แว่บขึ้นมาในหัว
“หมอกหรือฝุ่นกันแน่” ผมนึกในใจ
ตลอดระยะเวลา3ปีที่ผ่านมา ผมได้ยินข่าวเกี่ยวกับ ฝุ่นละออง PM2.5 มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เคยเห็นรัฐบาลมีมาตรการป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจังในเรื่องนี้เลย เราคงต้องดูแลเรื่องนี้กันเองแล้วครับ
ฝุ่นละออง PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมากๆ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สาเหตุหลักๆของการเกิดฝุ่นละอองชนิดนี้ คือ เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และเกิดจากกระบวนการก่อสร้าง
1
โดยทั่วไป ขนาดของฝุ่นยิ่งเล็กเท่าไหร่ แทนที่มันจะตกลงสู่พื้นได้เร็วตามปกติ มันกลับยิ่งแขวนลอยอยู่ในอากาศนานขึ้นเท่านั้น และทำให้เป็นปัญหาต่อสุขภาพของเรามากขึ้นไปอีก
1
ฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เพราะการที่มันเล็กมาก ทำให้มันสามารถผ่านทางเดินหายใจไปสู่ปอดและสร้างปัญหากับหลอดเลือดได้ง่ายขึ้นเยอะ (สำหรับฝุ่นชนิดที่มีขนาดใหญ่ มักจะโดนดักเอาไว้แต่เนิ่นๆด้วยขนจมูก ด้วยเมือกและขนโบกตามช่องทางเดินหายใจ) และจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปีก่อน ผมลองดาวน์โหลดแอปที่ชื่อ “AirVisual” ซึ่งเป็นแอปที่ใช้เช็คคุณภาพอากาศและเป็นแอปฟรีมาใช้ เมื่อสักครู่ผมลองใช้แอปนี้เช็คค่าคุณภาพของอากาศที่กรุงเทพดู ปรากฏว่ามันแสดงผลตามหน้าจอด้านล่างนี้ครับ
“172 US AQI – Unhealthy”
สรุปว่าค่าคุณภาพของอากาศในระดับนี้ถือว่า “เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ซึ่งระดับค่าคุณภาพของอากาศนี้แย่ลงจากค่าที่ผมวัดได้เมื่อปลายปีก่อนถึงสองขั้นครับ พอเห็นแนวโน้มของอากาศที่แย่ลงแบบนี้ก็ถือว่าน่าวิตกพอสมควร
สำหรับรูปด้านล่างเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับ "ระดับค่าคุณภาพของอากาศ" ที่แอปนี้วัดได้ครับ โดยจะเริ่มจากระดับ “ดี” ไปจนถึงระดับ​ "อันตรายที่สุด” ซึ่งถ้าค่านี้ถึงระดับอันตรายที่สุด พวกเราคงต้องใส่​ “หน้ากากกันแก๊สพิษ” เหมือนในหนังเรื่อง Resident Evil เพื่อออกไปทำงานนอกบ้านกันเลย
แนะนำให้ลองโหลดแอปนี้มาใช้ก่อนออกจากบ้าน หรือก่อนออกไปทานข้าวกลางวันนอกออฟฟิศครับ ช่วยได้เยอะเลย
การเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 นอกจากจะหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณริมถนนใหญ่ หรือบริเวณที่มีการก่อสร้างมาก ก็ยังสามารถติดตามค่าตัวเลขรายวันจากกรมควบคุมมลพิษ​รวมไปถึงการสังเกตว่าวันนั้นเป็นวันที่สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ มีความชื้นในอากาศสูง และมีหมอกหนาหรือไม่ เพราะจะมีการสะสมของฝุ่น PM 2.5 มาก​ หรือถ้าวันไหนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น วันนั้นปริมาณฝุ่นละอองในอากาศก็จะเจือจางลงไป
แล้วเราต้องระวังฝุ่น PM 2.5 มากแค่ไหน ?
ถ้าคุณเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพ เช่น ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าสู่พื้นที่ที่มีฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด เช่น ริมถนน ริมพื้นที่ก่อสร้าง
ถ้าอยู่แต่ในอาคารได้ ก็จะมีความปลอดภัยมากกว่า หรือถ้าจำเป็นต้องออกไปจริงๆ ก็ควรจะต้องใส่หน้ากาก​ N95 ส่วนประชาชนสุขภาพดีทั่วไป ก็ยังไม่จำเป็นจะต้องระวังขนาดนั้น นอกจากว่าจะต้องใช้ชีวิตหรือทำงานในบริเวณจุดเสี่ยงดังกล่าวเป็นประจำ จึงควรใส่หน้ากากป้องกันด้วย
ส่วนหน้ากากอนามัยที่จะป้องกันฝุ่น N95 ได้นั้น ก็ต้องมีความละเอียดของเส้นใยสูงพอที่จะกรองฝุ่นเล็กขนาด 2.5 ไมครอนได้ อย่างหน้ากาก N95 ที่มีขายกัน จะกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนได้ถึง 95% (เป็นที่มาของชื่อ N95) จึงเหมาะสมที่จะเอามาใช้
ส่วนพวกแผ่นผ้าปิดปาก ที่ขายกันทั่วไปนั้น นอกจากจะกรองได้ไม่ละเอียดพอแล้ว ยังไม่แนบชิดกับใบหน้าอย่างเพียงพอด้วย ทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้ง่าย
ส่วนสนนราคาหน้ากาก N95 จะอยู่ในช่วงราคา 35-145บาทต่อชิ้น และหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า เช่น โฮมโปร ออฟฟิศเมท หรือสามารถสั่งซื้อออนไลน์กับบริษัทผู้ผลิตก็ได้เช่นกันครับ
นอกจากนี้ ฝุ่นละอองทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ก็ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มากก็น้อย จึงควรช่วยกันลดต้นเหตุในการเกิดฝุ่น เช่น ลดการใช้ยานพาหนะ ปิดคลุมพื้นที่ก่อสร้างและรถที่ขนส่งวัสดุก่อสร้างให้มิดชิด รวมถึงทางกทม.เองก็ควรจะเอารถดูดฝุ่น และพ่นน้ำบนท้องถนนมากขึ้นด้วย
Edit: พอดีผมเห็นโพสของคุณซู่ชิงเกี่ยวกับการพิจารณาติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในรถแท๊กซี่ครับ น่าสนใจทีเดียว เนื้อหาอยูในลิงค์นี้ครับ
สุดท้ายนี้ อย่าลืมช่วยกันดูแลสุขภาพของคุณและคนที่คุณรักด้วยนะครับ
และอย่าลืมกด “Follow” กด “Like” หรือกด “Share” เพจนี้เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนบทความดีๆ ต่อไปด้วยครับ
ติดตาม​ Netflix Addict จากช่องทางอื่นและแวะมาพูดคุยกันได้ที่​ Facebook: https://www.facebook.com/netflixaddict1
โฆษณา