24 ม.ค. 2019 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
TOYOTA กำลังบุกตลาดรถไฟฟ้า / โดย ลงทุนแมน
หากธุรกิจของเราอยู่ในช่วง “รอยต่อ”
เราจะทำอย่างไร
เรื่องนี้เกิดขึ้นกับ TOYOTA
บริษัทที่มีมูลค่า 6.4 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่สุดในประเทศญี่ปุ่น
และใหญ่กว่ามูลค่าของบริษัท 5 อันดับแรกในประเทศไทยรวมกัน..
รอยต่อที่ว่านี้เกิดขึ้นมาจาก ทรัพยากรธรรมชาติที่เรียกว่า น้ำมัน
ที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วย แบตเตอรี่
แล้ว TOYOTA เคลื่อนไหวอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า..
ยอดขายของรถยนต์ทั่วโลก
ปี 2015 จำนวน 72.61 ล้านคัน
ปี 2016 จำนวน 77.25 ล้านคัน
ปี 2017 จำนวน 79.02 ล้านคัน
จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตช้าลงจาก 6.4% เหลือเพียง 2.3%
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ตัวเลขที่เหมือนจะชะลอตัว
ยอดขายกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ากลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด
คำนิยามของรถยนต์ไฟฟ้าในที่นี่คือ PEV หรือ Plug-in Electric Vehicles ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว และ รถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ควบคู่กับน้ำมัน (Hybrid)
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (PEV) ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2015 จำนวน 0.54 ล้านคัน
ปี 2016 จำนวน 0.79 ล้านคัน เติบโต 46.3%
ปี 2017 จำนวน 1.28 ล้านคัน เติบโต 62.0%
ปี 2018 จำนวน 2.10 ล้านคัน เติบโต 64.0%
เรื่องนี้อาจเริ่มต้นมาจากหัวใจของรถไฟฟ้าชื่อว่า แบตเตอรี่ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งในเรื่องของความสามารถในการเก็บประจุไฟฟ้า รวมไปถึงต้นทุนการผลิตที่ถูกลง
ประกอบกับ นโยบายการลดมลพิษของหลายประเทศทั่วโลก..
หากเรามาดูยอดขายรถไฟฟ้า 9 เดือนแรกในปี 2018
Tesla จากสหรัฐอเมริกา 154,123 คัน
BYD จากจีน 137,436 คัน
Renault-Nissan จากญี่ปุ่นและฝรั่งเศส 131,606 คัน
BMW Group จากเยอรมนี 96,513 คัน
BAIC จากจีน 91,029 คัน
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าผู้เล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปรวมถึงประเทศจีนที่กำลังเติบโตสูง..
TOYOTA เป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่ามากสุดในโลกแต่บริษัทนี้ไม่มีชื่อติดอันดับการขายรถยนต์ไฟฟ้า
1
แล้วบริษัท TOYOTA รับมือกับเรื่องนี้อย่างไร?
TOYOTA จับจุดได้ว่ากุญแจของธุรกิจนี้ก็คือ เทคโนโลยีของแบตเตอรี่..
TOYOTA จึงประกาศจับมือกับ Panasonic เพื่อก่อตั้งกิจการผลิตแบตเตอรี่ร่วมกัน
โดยแบ่งสัดส่วนการเป็นเจ้าของ คือ
TOYOTA 51%
Panasonic 49%
1
จริงๆ แล้ว Panasonic เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับเครื่องยนต์ Hybrid ให้กับ TOYOTA มากว่า 20 ปี
ในตอนนี้ ทั้งสองบริษัทกำลังจะกลายมาเป็นเจ้าของบริษัทใหม่ร่วมกัน..
บริษัทดังกล่าวจะกลายมาเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์
โดยจะเป็นการนำนวัตกรรมของทั้งสองบริษัทมารวมกันผ่านวิศวกร 3,500 คนของทั้งสองบริษัท
TOYOTA จะรับผิดชอบเรื่องการวางสายการผลิต และบุคลากร
ในขณะที่ Panasonic จะโอนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ 5 แห่งที่ประเทศญี่ปุ่น และจีนมาที่บริษัทใหม่
โดยหนึ่งในเป้าหมายของบริษัท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อแข่งขันกับบริษัทผลิตแบตเตอรี่จากประเทศจีน
ที่น่าสนใจคือ แบตเตอรี่ที่ถูกผลิตขึ้นไม่เพียงแต่จะอยู่ในรถไฟฟ้าของ TOYOTA ในอนาคต แต่ยังจะถูกขายไปยังบริษัทผลิตรถยนต์หลายราย.. ซึ่งแบรนด์รถยนต์อื่นก็สามารถใช้แบตเตอรี่จากบริษัทนี้ได้
ก็น่าติดตามไม่น้อยว่า การพัฒนาจากผู้ซื้อ-ผู้ขาย กลายมาเป็นผู้ร่วมทุนก่อตั้งบริษัทในครั้งนี้ของ TOYOTA และ Panasonic จะเป็นอย่างไร
ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยถึงชื่อบริษัทที่กำลังจะก่อตั้งในปีหน้า
ลองคิดดูเล่นๆ ว่าชื่อ Toyosonica ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน..
อ่านเส้นทางของโตโยต้าได้ที่นี่ https://www.blockdit.com/articles/5b30b14a076e65512a6870af
ติดตามบริษัทชั้นนำของโลก ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดที่ blockdit.com
โฆษณา