4 ก.พ. 2019 เวลา 06:46 • สุขภาพ
ลาซานญ่าคร่าวิญญาณ
1
ชายสูงอายุกำลังทานลาซานญ่าที่ห้างดังใจกลางกรุงเทพฯ
หารู้ไม่ว่านั่นอาจเป็นอาหารมื้อสุดท้าย
2
ลาซานญ่าหมู​ เครดิตภาพ: Ian Knauer ที่มา: https://www.foodandwine.com/recipes/pork-lasagna
กลางดึกคืนหนึ่ง​ รถพยาบาลไปรับตัวชายหมดสติมาส่งที่โรงพยาบาล
ณ​ ห้องฉุกเฉิน​ ผู้ป่วยปลุกไม่ตื่น​ แต่ยังพอตอบสนองต่อความเจ็บปวดได้
ผู้ป่วยมีไข้​ และแพทย์ตรวจพบลักษณะคอแข็งเกร็ง​ ดันให้ศีรษะก้มลงไม่ได้​ (stiff neck)
แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบฉับพลัน
โรคติดเชื้อที่ต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุดที่มีบันทึกในตำราแพทย์
ทุกนาทีที่ผ่านไปอาจหมายถึงความเสียหายอย่างถาวรของสมองและเส้นประสาท​ รวมถึงชีวิต
แพทย์ไม่รอช้า​ ให้เพาะเชื้อในเลือดพร้อมกับฉีดยาปฏิชีวนะขนาดสูงเข้าหลอดเลือดดำ
3
ตามด้วยเจาะเอาน้ำไขสันหลังมาตรวจ​ ซึ่งพบเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก​ ยืนยันว่ามีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
1
มีบางอย่างแพร่กระจายเข้าไปในชั้นเยื่อหุ้มสมองที่หุ้มรอบเนื้อสมองอันบอบบาง​และพร้อมจะปลิดชีพชายผู้นี้อย่างรวดเร็ว
แต่ชะตาของผู้ป่วยรายนี้ยังไม่ถึงที่​ ยาปฏิชีวนะได้ผล​ ผู้ป่วยค่อย​ ๆ​ รู้สึกตัวขึ้นเรื่อย​ ๆ​ จนกลับมาพูดคุยเป็นปกติได้ในไม่กี่วัน
บางรายอาจไม่โชคดีเช่นนี้
บางคนอาจออกจากโรงพยาบาลด้วยอาการหูหนวกถาวร​ จากเส้นประสาทสมองคู่ที่​ 8​ ถูกทำลาย​ (ไข้หูดับ)
บางรายอาจจบชีวิต...
ซึ่งก็ยังดีกว่ารายที่กลายเป็น​ "ผัก" (vegetative state) คือยังหายใจ​ หัวใจยังเต้น​ แต่ไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น​อย่างถาวร เรียกได้ว่าจะเป็นก็ไม่เป็น​ จะตายก็ไม่ตาย
ผลเพาะเชื้อทั้งจากเลือดและจากน้ำไขสันหลังขึ้นเชื้อตัวเดียวกัน
สเตร็ป​ซูอิส [Streptococcus suis] เชื้อนี้มาจาก​"หมู"
สเตร็ปซูอิส​ จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน​ ที่มา: https://genome.jgi.doe.gov/portal/strsu/strsu.home.html
หมายความว่าผู้ป่วยต้องสัมผัสหมู​ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ทั้งนี้ถ้าทานเนื้อหมูสุกตามปกติ​ ก็ไม่นับเป็นความเสี่ยง​ เพราะเชื้อถูกความร้อนทำลายได้เหมือนเชื้อทั่วไป
หลังผู้ป่วยรายนี้ตื่นดี​ เราจึงไปซักถามเพิ่มเติม​ ได้ความว่า
บ่ายวันที่เกิดเรื่องเขาไปห้างดัง​กลางกรุง​ แล้วทานลาซานญ่าหมู​ ซึ่งเขารู้สึกว่าตรงกลางมันเย็น​ ๆ​ แหยะ​ ๆ​ ไม่สุก​ เหมือนอบมาไม่นานพอ
คืนนั้นเอง​ เขาก็มีไข้​ ปวดหัว​ และหมดสติไป
หมูดิบนั่นเองที่มีเชื้อมฤตยูนี้อยู่
ตามตำราว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากสเตร็ปซูอิส​ การดำเนินโรคจะค่อนข้างช้า
แต่ในชีวิตจริง​ อาการทรุดเร็วไม่แพ้เชื้ออื่น
เคราะห์ดีที่ผู้ป่วยรายนี้​ รู้สึกไม่ดี​ จึงทานไปไม่กี่คำ​ ถ้าฝืนทานจนหมดอาจได้ไปเฝ้ายมบาลแล้ว
เราเจอผู้ป่วยติดเชื้อสเตร็ปซูอิส​อยู่เรื่อย​ ๆ​ บางคนอาจมาด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือด​ ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ​ เป็นต้น
เวลาผู้ป่วยดีขึ้น​ เราก็จะพยายามสืบเสาะให้ได้ว่าติดมาได้ยังไง​ จะได้ป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออีก​
แต่ผู้ป่วยเกือบทุกรายจะปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เคยทานหมูดิบ​ หรือ​ สุก​ ๆ​ ดิบ​ ๆ​ เลย
เคยมีรายนึงถามยังไงก็ว่าไม่ได้ยุ่งกับหมูดิบแน่​ ๆ​
แฟนผู้ป่วยก็อึกอัก​ ๆ​ เหมือนจะพูดอะไรบางอย่างขึ้นมา​ แต่ถูกผู้ป่วยปรามไว้
สุดท้ายลูกศิษย์ไปเค้นข้อมูลมา ปรากฏว่า​ ผู้ป่วยไม่เคยกิน​ "เนื้อหมู" สุก​ ๆ​ ดิบ​ ๆ​ แต่ชอบกิน "ตับหวาน" เลือดซิบ​ ๆ
เราก็อ้าว​ ตับหวานมันก็ตับหมูนี่
ผู้ป่วยก็ทำหน้าใสซื่อ​ ประมาณว่านึกว่าหมายถึงเนื้อของมันอย่างเดียว
บางทีคนไข้อาจจะรู้อยู่แล้วว่า​ ตับหวานน่าจะเป็นสาเหตุ​ แต่อาจกลัวหมอตำหนิ ถึงต้องปรามไม่ให้แฟนบอกตั้งแต่แรก
บางรายก็บอกว่าไม่ได้กินหมูหรืออวัยวะใดของหมูแบบสุก​ ๆ​ ดิบ​ ๆ​ เลย
อาจารย์ของผมก็จะเน้นว่าถามแค่การกินไม่พอต้องถามถึงการสัมผัสด้วย​ ก็จะเจอว่าหลายรายไม่ได้ทานเข้าไปก็จริงแต่จับเนื้อหมูดิบ​ตอนทำอาหาร​ ซึ่งอาจจะทำเป็นประจำ​ แต่เผอิญวันที่เกิดเรื่อง​ ไปจับหมูดิบโดยที่มือเป็นแผล​ เชื้อมันก็เข้าทางบาดแผลได้
แต่บางทีถามหมดทุกอย่าง​ ไม่เคยสัมผัสหมูที่แล่เป็นชิ้น​ ๆ​ แล้วเคยสัมผัสหมูตัวเป็น​ ๆ​ มั้ย​ ผู้ป่วยก็ปฏิเสธ​หมดทุกไอเดียที่เราจะคิดได้
รุ่นพี่ผมต้องไปนั่งไล่ถามกิจวัตรในแต่ละวัน​ ถึงได้ทราบว่าบ้านผู้ป่วยขายเย็นตาโฟ​ และตัวผู้ป่วยรับผิดชอบการเตรียมก้อนเลือด​ จึงต้องสัมผัสกับ​ "เลือดหมู" สด​ ๆ​ ซึ่งก็มีเชื้อได้​ ถ้ามีแผลก็ซวยได้เช่นกัน​
หรือถึงมือไม่มีแผล​ แต่ล้างมือไม่ดี​ แล้วไปหยิบอาหารเข้าปากก็เรียบร้อยเหมือนกัน
ดังนั้นถ้าต้องสัมผัสของดิบ​ ๆ​ ที่เราไม่แน่ใจว่ามีเชื้ออะไรได้บ้าง​ ทางที่ดีควรใส่ถุงมือ​ แยกเขียง​ แยกมีด​ และล้างมือให้สะอาดหลังเตรียมเสร็จ
1
จะเห็นได้ว่าการซักประวัติเป็นขั้นตอน​ที่สำคัญที่สุดและยากที่สุด​ การตรวจร่างกายกับการตรวจแลปแพง​ ๆ​ นั้นเทียบไม่ติด
และน่าจะเป็นทักษะของแพทย์อย่างเดียวที่​ AI​ (artificial intelligence) ทดแทนได้ยากมาก
ขนาดเรารู้เชื้อแล้ว​ เรายังเค้นความจริงออกมาได้ยาก​ ถ้าคนไข้ได้ยาปฏิชีวนะมาก่อนแล้วเพาะเชื้อไม่ขึ้น​ เราจะไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลสำคัญว่ารับเชื้อมายังไงเลย
ผู้ป่วยอาจลืม​ ซื่อ​ ไม่ทันคิด​ ขี้เกียจตอบ​ หรือ ตั้งใจกุเรื่อง​ รวมถึงคำถามที่เต็มไปด้วยอคติของแพทย์​ ทำให้ประวัติการเจ็บป่วยไม่สมบูรณ์หรือผิดเพี้ยน​ ต้องอาศัยทักษะเฉพาะตัวของแพทย์แต่ละคนที่จะเข้าถึง​ "ความจริง"
หลังจากเจอผู้ป่วยที่รอดจากสเตร็ปซูอิสหวุดหวิด​ ผมก็เกิดความวิตกจริต​เวลากินจิ้มจุ่ม​ ปิ้งย่าง​ หมูกระทะ​ หรือสุกี้​ ต้องมาแยกตะเกียบ ปากคีบ​ หรือกระชอนสำหรับของดิบ​ ของสุก​
บางทีก็งงว่าอันไหนเป็นอันไหน​ นี่เราเอาตะเกียบที่พึ่งคีบหมูดิบมาคีบหมูสุกเข้าปากหรือเปล่า​
เวลากินสเต็กหมู​ แล่เจอเนื้อแดง​ ๆ​ เลือดซิบ​ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะเกรงใจทนกินต่อไป​ ตอนนี้ไม่ละ​ ต้องเรียกบริกร​ให้เอาไปทำให้สุก​ "สนิท"
ระมัดระวังกันไว้หน่อยก็ดี​ เยื่อหุ้มสมองอักเสบมันถึงตาย​ ซึ่งต่างจากการทานหอยนางรมสดที่อาจจะจบแค่ท้องเสียไปหยอดน้ำเกลือที่โรงพยาบาล
วันนี้กินดิบ​ ๆ​ ไม่เป็นไร​ แต่สักวันคุณอาจถูกรางวัลที่หนึ่งได้ตั๋วไปเที่ยวปรโลกก็เป็นได้
แล้วท่านผู้อ่านมีใครเริ่มวิตกจริตแบบผมบ้างครับ?
โฆษณา