14 ก.พ. 2019 เวลา 03:10 • ธุรกิจ
ไอร์แลนด์ ดินแดนแห่งหนี้ / โดย ลงทุนแมน
ไอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้ภาคเอกชนสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
โดยหนี้ดังกล่าวสูงกว่า 400% ของ GDP
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่อยู่บนเกาะไอร์แลนด์ซึ่งบนเกาะนี้มีประเทศอยู่ 2 ประเทศ
คือประเทศไอร์แลนด์ และประเทศไอร์แลนด์เหนือ
พื้นที่กว่า 83% บนเกาะไอร์แลนด์นั้นเป็นของประเทศไอร์แลนด์ ขณะที่ 17% เป็นของไอร์แลนด์เหนือ
ไอร์แลนด์มีประชากรประมาณ 4.9 ล้านคน และ มูลค่า GDP เท่ากับ 11.7 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนประชากรน้อย ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไอริช อยู่ลำดับที่ 5 ของโลก โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 2.4 ล้านบาท หรือ 200,000 บาทต่อเดือน
ก่อนปี 1990 ไอร์แลนด์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ
1
แต่ในช่วงระหว่างปี 1995 - 2000 เศรษฐกิจของไอร์แลนด์เติบโตเฉลี่ยปีละ 9.4% จนได้รับฉายาว่า เสือเศรษฐกิจแห่งเซลติก (The Celtic Tiger) ทำให้ไอร์แลนด์กลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยแห่งหนึ่งในยุโรป
2
การเติบโตทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ถูกขับเคลื่อนโดยเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาจำนวนมากเข้าไปทำธุรกิจที่นี่
เช่น อินเทล (Intel), เดลล์ (Dell) และไมโครซอฟท์ (Microsoft)
เนื่องจากอัตราภาษีนิติบุคคลของไอร์แลนด์อยู่ที่ 12.5% ซึ่งต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป
เงินลงทุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกานับเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของไอร์แลนด์เติบโตอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1990 - 2008 ทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า
1
ปี 1990 GDP ของไอร์แลนด์ อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท
ปี 2008 GDP ของไอร์แลนด์ อยู่ที่ 8.2 ล้านล้านบาท
เศรษฐกิจที่โตอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ทศวรรษ นอกจากผลของอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว ยังเกิดจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินซึ่งอยู่ในระดับต่ำ
ภาคการเงินและการธนาคารของประเทศมีการปล่อยสินเชื่อจำนวนมากให้แก่ภาคเอกชน
ซึ่งส่วนมากมีการนำไปเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ในไอร์แลนด์ปรับเพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 1994 - 2007
ปี 2004 จำนวนบ้านที่สร้างใหม่ 76,954 หลัง
ปี 2005 จำนวนบ้านที่สร้างใหม่ 80,957 หลัง
ปี 2006 จำนวนบ้านที่สร้างใหม่ 93,419 หลัง
1
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความอ่อนแอของระบบควบคุมการปล่อยสินเชื่อ
ในปี 2008 เมื่อเกิดวิกฤติซับไพร์มที่สหรัฐอเมริกา จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของไอร์แลนด์ ส่งผลให้ราคาบ้านตกต่ำ ภาคเอกชนที่ไปกู้สินเชื่อเพื่อเก็งกำไรเป็นหนี้กันมากมาย
ในปี 2010 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไอร์แลนด์ซบเซา จำนวนบ้านที่สร้างใหม่ลดเหลือเพียง 14,602 หลัง
วิกฤติในช่วงนั้น ทำให้ตลาดหุ้น The Irish Stock Exchange (ISE) ลดลงกว่า 80% ในระยะเวลาประมาณ 2 ปี จากดัชนีที่ 10,000 จุด ในปี 2007 เหลือเพียง 1,987 จุดในปี 2009
ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 6.5% ในช่วงปี 2008 เป็น 14.8% ในปี 2012
วันนี้แม้เศรษฐกิจของไอร์แลนด์จะผ่านพ้นวิกฤติมาหลายปีแล้ว
แต่ปัจจุบัน หนี้สินภาคเอกชนในไอร์แลนด์ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 400% ต่อ GDP ซึ่งถือว่าสูงเป็นลำดับที่ 2 ของโลก
เรื่องนี้เป็นข้อคิดให้กับเราในเรื่องการดำเนินนโยบายทางการเงินของภาครัฐ
แน่นอนว่าการมีนโยบายแบบเข้มงวดอาจทำให้เศรษฐกิจไม่โตเท่าที่ควร
ในทางกลับกัน ถ้ารัฐมีนโยบายแบบผ่อนคลายเกินไป ถึงแม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจดี แต่อาจทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา
โดยเฉพาะ ปัญหาเรื่องหนี้ เป็นเรื่องสำคัญ
ถึงแม้ว่าภาคเอกชนจะเป็นคนก่อหนี้ และดูเหมือนไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรา
แต่สุดท้ายถ้ามีปัญหา รัฐก็ต้องเข้ามาช่วยจัดการแบกรับหนี้เหล่านี้
และท้ายที่สุด คนเดือดร้อนก็หนีไม่พ้น ประชาชนทุกคนในประเทศนั่นเอง..
Facts:
ปี 2007 ประเทศไอร์แลนด์ มีหนี้สาธารณะ เพียง 23.9% ของ GDP
แต่ปี 2012 ประเทศไอร์แลนด์ มีหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นเป็น 120% ของ GDP
โหลดแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com
สั่งหนังสือลงทุนแมน เล่ม 8 ได้ที่
โฆษณา