24 ก.พ. 2019 เวลา 08:30 • สุขภาพ
ไขความลับ...“ความดันสูง”ทำลายไตมนุษย์ด้วยวิธีใด!
หลังจาก 2 บทความที่แล้วได้เล่าเรื่องหัวใจและสมองไป วันนี้เรามาเข้าสู่เรื่องที่ยากจริงๆ ความดันสูงทำลายไตของมนุษย์ด้วยวิธีใดนั้น มีกระบวนการที่ซับซ้อนมากๆ และบางส่วนก็ยังเป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น แต่ไม่ต้องห่วงครับ วันนี้ผมจะมาเล่าทุกๆอย่างที่คนทั่วไปควรรับรู้ไว้ และรับรองว่าเข้าใจแน่นอน!
เอาล่ะ ทำสมองให้โล่งๆ แล้วมาเริ่มกันดีกว่า!
ไตของมนุษย์ก็เหมือนเครื่องกรองน้ำ โดยไตแต่ละข้างนั้นประกอบไปด้วยตัวกรองขนาดจิ๋วที่เรียกว่า”เนฟรอน”ในระดับแสนถึงล้านตัวขึ้นอยู่กับแต่ละคน โดยเลือดที่ปั๊มออกจากหัวใจ ก็จะลงมาสู่ไตทั้ง 2 ข้างและแตกแขนงเหมือนพลุดอกไม้ไฟออกไปเป็นแสนถึงล้านแขนง เพื่อไปยัง”เนฟรอน”แต่ละตัว
ปกติเครื่องกรองน้ำก็จะมีทางเข้าออกอยู่ 3 ทาง ก็คือ 2 ทางแรกเป็นทางเข้าและออกของน้ำที่จะบำบัด ส่วนทางที่ 3 ก็คือรูบนไส้กรองที่เป็นทางออกของของเสียนั่นเอง ไตเองก็เช่นเดียวกัน ตัวกรองจิ๋ว”เนฟรอน”แต่ละตัวก็จะมีหลอดเลือดขาเข้าและขาออกสำหรับเลือดที่จะเข้าไปกรอง และก็มีแผ่นกรองของเสีย โดย”หลอดเลือดขาเข้า”นั้นจะเป็นตัวเอกของบทความนี้ของพวกเราครับ จำมันไว้นะครับ!
เครื่องกรองน้ำที่ดี ก็ต้องมีการควบคุมห้องกรองให้มี”แรงดันสูง”กว่าปกติเพื่อคัดกรองเอาของเสียออกไป แต่ก็ไม่ควรมีแรงดันสูงมากเกินไป เพราะจะทำให้ไส้กรองพังเร็ว ตัวอย่างเช่น ถ้าปั๊มน้ำบ้านของเราเกิดแรงขึ้นมามากๆ ก็อาจจะทำให้เครื่องกรองของเราพังได้ในทันที
หลักการนี้ใช้ได้เลยกับไตของเราครับ แต่ไตของเรามันฉลาดกว่านั้น ถ้าปั๊มน้ำบ้านของเราแรง หรือก็คือความดันเลือดที่มาจากหัวใจของเราสูง ตัวเอกของเรา”หลอดเลือดขาเข้า”ก็จะหดตีบลง เพื่อลดแรงดันให้ผ่านเข้าไปในตัวกรองได้น้อยลงนั่นเอง เหมือนการเป่าลูกโป่งแรงๆแต่มือดันบีบปากลูกโป่งเอาไว้ ลมมันก็ไม่ค่อยเข้าใช่มั๊ยล่ะครับ...
แต่กระบวนการปรับตัวนี้มันก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ ถ้าความดันสูงเป็นช่วงๆ เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือขณะตื่นเต้นไรงี้ แต่มันจะเกิดปัญหาถ้าความดันเลือดเราสูง”ตลอดเวลา”
การที่ความดันเลือดเราสูงตลอดเวลา มันจะทำให้”หลอดเลือดขาเข้า”นี้ต้องบีบตัวตลอดเวลา และยิ่งความดันสูงมาก ก็ยิ่งต้องบีบมากขึ้นเพื่อลดเเรงดัน แต่การบีบตัวเหล่านี้จะมีผลข้างเคียงคือ นอกจากแรงดันแล้ว “เลือดก็จะเข้าไปในตัวกรองได้น้อยลง” ด้วยเช่นกัน
ตัวกรองของพวกเรานั้นไม่ใช่แผ่นกรองสังเคราะห์แบบในเครื่องกรองน้ำนะครับ แต่มันก็คือเนื้อเยื่อดีๆของเรานี่เอง ถึงแม้มันจะช่วยกรองเลือดให้ แต่มันก็ต้องการออกซิเจนและอาหารจากเลือดเพื่อการอยู่รอดด้วยเช่นกัน ถ้ามีเลือดไปหามันน้อยลง มันก็อาจจะขาดใจตายได้
ดังนั้นเมื่อ”หลอดเลือดขาเข้า”บีบตัวมากๆนานๆ ตัวกรองของเราที่มีเป็นแสนถึงล้านตัวก็จะขาดใจตายไปเรื่อยๆทีละตัว แล้วก็ทำให้ไตของเราก็กรองของเสียได้น้อยลงไปเรื่อยๆ และนี่ล่ะครับคือสิ่งที่เรียกว่า”โรคไตวายเรื้อรัง”
แถมหน่อย! การกรองได้น้อยลงไม่ได้แปลว่าปัสสาวะคุณจะน้อยลงนะครับ น้ำปัสสาวะมันก็ยังออกมาได้เหมือนเดิมเพราะโมเลกุลมันขนาดเล็กมากๆ เพียงแต่ของเสียมันไม่ออกมาด้วย แต่คั่งอยู่ในร่างกายแทน ดังนั้นใครที่คิดว่าปัสสาวะเยอะดีอยู่แปลว่าไตยังทำงานดี ก็คิดผิดถนัดเลยครับ! บางทีไตเราพังไปแล้ว90% ปัสสาวะเรายังเยอะปกติอยู่เลย...
อันที่จริงมีอีกกระบวนการนึงที่สำคัญ ก็คือการที่ความดันสูงทำให้”หลอดเลือดขาเข้า”หนาตัวจนตีบแคบลงไปอีก กระบวนการหนาตัวของผนังหลอดเลือดผมได้อธิบายไปในตอนที่ 2 แล้ว แต่ผมจะสรุปอีกทีละกัน
ความดันสูงนั้นก็คือกระแสเลือดที่ไหลอย่างเกรี้ยวกราด ที่คอยข่วนเสียดสีให้ผนังหลอดเลือดมีแผลเกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อมีการซ่อมแซมที่ไม่รู้จักจบสิ้น มันก็จะทำให้เกิด”แผลเป็น”บนผนังหลอดเลือด รวมถึงการมีไขมันมาเกาะง่ายขึ้น ทำให้รูภายในนั้นตีบลงเรื่อยๆนั่นเอง
และเมื่อ”การบีบตัว”และ”การตีบตัว”ของหลอดเลือดขาเข้า มารวมพลังกัน มันก็เลยเป็นการตีบแบบดับเบิ้ล ก็ยิ่งเร่งเวลาการขาดใจตายของตัวกรองของเราให้เร็วขึ้นไปอีก...
และนี่ก็คือวิธีที่”ความดันสูง”ทำลายไตของมนุษย์นั่นเอง
ก็จบลงแล้วครับสำหรับตอนที่ยากพอสมควร บทความนี้ผมคิดนานมากว่าจะเล่าแบบไหนดี ก็หวังว่าทุกคนจะอ่านเข้าใจนะครับ สงสัยอะไรถามได้เลยในเม้นท์ ส่วนบทความต่อไปถือเป็นเก็บตก เพราะเนื้อเรื่องไม่ยาวมากนัก กับตอนที่ 4 ไขความลับ...“ความดันสูง”ทำลายตามนุษย์ด้วยวิธีใด! จะมาในเร็วๆนี้ อย่าลืมติดตามด้วยนะครับ!
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
____________________
โฆษณา