2 มี.ค. 2019 เวลา 01:28
มหากาพย์ Nokair ปีกหัก หรือแค่ พักใจ🐣 (Ep.1)
สายการบิน นกแอร์ ที่คนไทยรู้จักกันดี สีเหลืองสดใส แต่หัวใจขุ่นมัว เพราะ ทุกเที่ยวบินที่เคยมีแต่รอยยิ้ม แต่ต้องกลายเป็น ฝืนยิ้ม เพราะขาดทุนหนักมานานหลายปี
จนก่อนจะมี ข่าวดี หรือข่าวลือ ที่นกแอร์ อาจจะได้ไปเป็น นกเอเชีย (Nok+Air asia) รึเปล่า? จะเป็นจริงหรือไม่ ไม่รู้ แต่สิ่งที่รู้ เพราะเห็นมานาน จึงอยากแชร์..
ราคาหุ้น NOK ที่ตกหนักซ้ำซ้อนลากยาวมานานหลายปีแบบไม่มีเยื่อใย
จากราคา IPO ที่ 26 บาท เมื่อปี 2556 จากวันนั้นจนวันนี้หุ้นนก ก็ไม่เคยขึ้นไปไกล หรือกลับมาทำกำไรอีกเลย (ใครอยู่ดอยอันหนาวเหน็บก็คงจะไม่มีวี่แววที่จะได้ลงง่ายๆ)
เป็นเพราะอะไร ที่ทำให้นกแอร์ขาดทุนหนักขนาดนี้ นอกจากปัจจัยภายนอกที่ทุกคนทราบกันดี ว่าสายการบินโลวคอสต์ ในตลาดประเทศไทยหลักๆแล้วมีอยู่ 4 สายการบินหลักคือ
1. Air asia
2. Thai lion air
3. Nokair
4.Thai smile
การแข่งขันด้านราคา ที่ต้องสู้กันจนทำให้ "ใครๆก็บินได้" และความท้าทายจากราคาน้ำมันที่ผันผวน ยังไม่รวมถึงเมื่อต้องเผชิญกับช่วง Low season หรือปัญหาด้านการเมือง, สภาพอากาศ และอื่นๆอีกมากมาย
แรกเริ่มเดิมที นกแอร์ เมื่อครั้งเข้าตลาดหุ้น
ในปี 2556 มีรายได้ 11,314.73 ล้านบาท
กำไร 1,066.10 ล้านบาท
แต่หลังจากเข้าตลาดหุ้นได้เพียง 1 ปี ก็มีแต่ขาดทุน
ในปี 2557 มีรายได้ 12,312.93 ล้านบาท
ขาดทุน 471.66 ล้านบาท
ในปี 2558 มีรายได้ 14,296.20 ล้านบาท
ขาดทุน 726.10 ล้านบาท
ในปี 2559 มีรายได้ 16,938.32 ล้านบาท
ขาดทุน 2,795.09 ล้านบาท
ในปี 2560 มีรายได้ 20,376.71 ล้านบาท
ขาดทุน 1,854.30 ล้านบาท
ในปี 2561(ไตรมาส3) มีรายได้ 15,224.07 ล้านบาท
ขาดทุน 1,962.59 ล้านบาท
ปี 2547 นกแอร์ ที่แรกเริ่มถูกก่อตั้ง เพื่อเป็นสายการบินต้นทุนต่ำในเครือของการบินไทย เพื่อที่จะมาสู้กับ แอร์เอเชีย ที่ "ใครๆก็บินได้" โดยตั้งใจบุกตลาดโลวคอสต์เป็นหลัก โดยที่การบินไทยถือหุ้นประมาณ 39%
แต่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน
เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากที่นกแอร์ ได้ปีกหัก จนต้องระดมทุนผู้ถือหุ้น ในการเพิ่มทุนถึง 2 ครั้ง
1
ในครั้งแรก ได้เสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิม 2.40 บาทแต่การบินไทยก็ได้สละสิทธิ์ที่จะไม่เพิ่มทุนให้กับนกแอร์!! ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่เม่าน้อยเล่นหุ้นอย่างแอร์ป้ายิ่งนัก (แต่สุดท้ายการบินไทยก็คิดถูก)
กลายมาเป็นตระกูล จุฬางกูร ที่ยอมซื้อหุ้นเพื่อระดมทุนในครั้งนี้ เกมส์จึงเปลี่ยน ตอนนี้ ตระกูล จุฬางกูร จึงกลายมาเป็นหุ้นใหญ่ แทนการบินไทย ด้วยสัดส่วนราว 49%
ครั้งที่ 2 พร้อมกับข่าวการลาออกของ CEO สายบันเทิงพาที สารสิน ผู้ซึ่งนำพาชื่อเสียง ทั้งทัวร์คอนเสิรต์ ออกทีวี และคอนเสปต์การตลาดแปลกใหม่ ที่ทำให้นกแอร์เป็นที่รู้จัก
เนื่องจากเงินทุนในครั้งแรกก็ยังคงไม่เพียงพอ บริษัทขาดทุนอีกราว 1,200 ล้านบาท ทำให้ต้องเพิ่มเงินทุนอีกรอบ ในราคา 1.50 บาท โดยที่รอบนี้การบินไทย ยอมที่จะช่วยเหลือ โดยเพิ่มเงินไป 380 ล้านบาท ด้วยความเต็มใจหรือไม่ ไม่รู้ เพราะแม้แต่แบงค์ไหนๆก็ไม่กล้าปล่อยกู้ให้นกแอร์อีกแล้ว ซ้ำร้ายธนาคารไทยพานิชย์ที่เคยให้การสนับสนุน ก็ยุติความสัมพันธ์กับนกแอร์แต่เพียงเท่านี้ เพราะเราไปกันไม่ได้จริงๆ! เราเลิกกันเถอะ
ตัวการบินไทยเอง ก็ช้ำหนักเพราะขาดทุนไม่แพ้กัน ไหนจะมี การบินไทย สไมล์ที่ต้องแบกรับอีก
แต่สุดท้ายไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ไม่อาจช่วยให้นกแอร์กลับมาฟื้นคืนชีพ และมีกำไรได้อีกครั้ง เพราะไม่ว่าจะนักวิเคราะห์ นักบริหาร หรือแม้แต่คนธรรมดา แค่อ่านงบการเงินเป็น ก็ดูออกไม่ยาก ว่าการช่วยเหลือนกแอร์เพียงแค่เงิน คงจะไม่ช่วยอะไร เพราะจากบทเรียนที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้....
สุดท้าย คงต้องกลับมามองว่า ปัญหาของนกแอร์คืออะไร ซึ่งคงไม่พ้น เรื่องการบริหาร ที่ยังจัดการได้ไม่ดีพอที่ทำอย่างไรก็ขาดทุน
ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ "ปัจจัยภายใน" นั่นเอง
ปัจจัยภายใน ของบุคลากรในองค์กร ในด้านการบริหารที่นกแอร์ยังถือว่าสอบตก
ครั้งหนึ่งในปี 2550 ก่อนจะเข้าตลาดหุ้น
นกแอร์ได้เปิดเที่ยวบิน ดอนเมือง-บังกาลอร์ และดอนเมือง - ฮานอย
ที่ขาดทุน วันละ ล้าน เพราะไม่มีผู้โดยสาร!!
โดยปกติแล้วไม่ว่าจะวงการไหน ก่อนจะทำอะไรขายไม่ว่าจะสินค้าอะไรก็คงไม่ต่างกันในเรื่องของการตลาด ที่จะต้องมีการลอง และดูผลตอบรับจากผู้ซื้อ
และเช่นเดียวกัน การที่สายการบิน จะมีการเปิดเส้นทางใหม่ จะต้องมีการลองตลาด และลองเส้นทางโดย อาจจะเริ่มที่เปิด อาทิตย์ละ1 วัน และดูผลตอบรับ หากดี ก็เพิ่มเป็นอาทิตย์ละ 2 วัน และหากดีกว่าเดิม มีผู้โดยสารมากขึ้น ก็เพิ่มไปเรื่อยที่ละขั้น เป็น 3 4 5 6 7 จนกลายเป็น Daily flight หรือบินทุกวัน
เพราะทุกเที่ยวบิน ต้องมีค่าใช้จ่าย มีต้นทุน หากไม่มีผู้โดยสารมาใช้บริการ สิ่งที่จะต้องเสียไป คือค่าน้ำมัน ค่า Operate flight ทุกอย่างจะเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แต่หากไม่มีรายรับเพียงพอ กำไรก็ไม่เกิด ก็ขาดทุนในที่สุด..
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเวลาเกือบเดือนคือ นกแอร์ได้เปิดเส้นทางบิน จาก ดอนเมือง ไปยัง บังกาลอร์ แบบ Daily flight หรือบินทุกวัน..
ส่วนฮานอย เป็นบินประจำทุกวัน วันละ 2 เที่ยว!
ด้วยกรณีด้วยกัน
และสุดท้าย ก็ต้องมีการลด เหลือเพียงวันละ 1เที่ยว เนื่องจากขาดทุนหนัก เพราะผู้โดยสารที่น้อยเกินไป จนทำให้ขาดทุน...
เพราะถึงแม้นกแอร์จะมีฐานลูกค้าเดิม ที่น่ารัก และเลือกที่จะนั่งนกแอร์ เพราะนกแอร์บริการดี และประทับใจกับรอยยิ้มที่สดใสของน้องนก ถึงจะดีเลย์บ้างก็ให้อภัยได้ ก็ไม่ช่วยให้ไฟล์ทเต็ม เพราะคงไม่มีใครอยากนั่งเครื่องบินเล่น ไปบังกาลอร์ แล้วก็บินกลับโดยที่ไม่จำเป็น..
และสุดท้าย บริษัทขาดทุนหนัก เพราะด้วยปัจจัยอื่นๆอีกที่ไม่ทราบได้ และก็คงเดาต่อไม่ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น...
พนักงานโดนลดเงินเดือน..
สุดท้ายบริษัทก็ทนแบกรับปัญหาไม่ไหว การปลดพนักงานครั้งใหญ่ก็ตามมา..
นี่คือช่วงวิกฤตที่นกแอร์ต้องประสบพบเจอมาก่อนหน้าที่จะเจอกับข่าวหุ้นร่วงเสียอีก..
ไม่ว่าจะนักบิน หรือพนักงานแผนกไหนๆ หรือแม้แต่นักบิน ลูกเรือ ที่โดนปลดออก ก็ต้องตกงานกันไปเกือบปี ส่วนพนักที่โชดดีที่ยังได้อยู่ต่อก็ถูกลดเงินเดือนกันไป แต่ก็เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะสุดท้ายบริษัทก็คืนให้ เมื่อสามารถกู้วิกฤตกลับมากางปีกได้อีกครั้ง
สิ่งนี้จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ทำให้เห็นได้ชัดว่า การบริหารจัดการที่ผิดพลาด ทำให้เกิดผลกระทบมากมาย เพราะการทำงานเป็นทีม หรือองค์กร เมื่อเฟืองตัวที่หนึ่งได้ขยับ ตัวอื่นๆก็ต้องขยับตาม หากดีก็ดีไป แต่หากผิดพลาด ก็ต้องพังกันเป็นโดมิโน่ แบบที่เห็นเช่นนี้..
ไม่ใช่ครั้งแรกของนกแอร์ที่เกิดความผิดพลาดด้านการบริหาร จึงทำให้เกิดปัญหาอีกครั้งต่อมา ที่เป็นข่าวใหญ่ในวงการการบินเมื่อ..นักบินนกแอร์ ประท้วงไม่บิน ไฟล์ทมากมายต้องถูกยกเลิก !!
เพราะยิ่งกว่าไม่มีผู้โดยสารนั่ง ก็คือไม่มีคนขับ แล้วจะเป็นอย่างไร?
คงได้แต่หวังให้นกแอร์ กลับมาเป็น ทุกเที่ยวบินมีแต่รอยยิ้มอีกครั้ง..เพราะในเรื่องราวร้ายๆ นกแอร์ก็ยังมีเรื่องราวดีๆอีกมาก
ถึงปีกหักก็รักเธอ🤟
โปรดติดตามตอนต่อไป..
Have a safe flight✈
#แอร์ป้าห้าดาว
Reference
โฆษณา