11 มี.ค. 2019 เวลา 13:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แมงมุมมดแดง [Myrmaplata plataleoides]
มดแดง (weaver ant [Oecophylla smaragdina]) เป็นมดชนิดหนึ่งที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดี เพราะนอกจากจะสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปตามต้นไม้ชนิดต่างๆ ที่มดแดงไปทำรังอยู่ เช่น ต้นมะม่วง สะเดา และหูกวาง หรือตามที่มดพวกนี้เดินหาอาหารทั่วไป มดชนิดนี้ยังถูกนำมาใช้เป็นอาหาร โดยคนในภาคอีสานจะเอาตัวอ่อนของมดแดงในระยะและวรรณะต่างๆ มาใส่ในเมนูต่างๆ เพื่อกินเป็นอาหาร เรียกว่า "ไข่มดแดง"
มดแดงของจริง
ในธรรมชาติมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่พยายามจะอยู่ร่วมกับมด หรือพยายามจะแทรกซึมเข้าไปในรังมด เพื่อประโยชน์ต่างๆ ต่อตัวเอง เช่น เพื่อได้รับการป้องกันอันตรายโดยมด หรือ เพื่อกินตัวอ่อนของมดในรังเป็นอาหาร โดยมีศัพท์เรียกรวมสิ่งมีชีวิตพวกนี้ว่า Myrmecophile (myrmeco แปลว่า เกี่ยวกับมด ส่วน phile แปลว่า ชอบ) โดยพวกนี้จะทำการเลียนแบบมดในเชิงรูปร่าง กลิ่น เสียงของมด ให้มดเข้าใจผิดว่าเป็นพวกเดียวกัน
สิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มของ Myrmecomorphy (morphy - สัณฐาน) กลุ่มที่เลียนแบบมด ทำให้สัตว์อื่นเข้าใจว่ามันคือมด ทำให้ผู้ล่าหลีกเลี่ยงที่จะโจมตีมัน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Batesian mimicry (สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีอันตราย ไปเลียนแบบสิ่งมีชีวิตที่มีอันตราย เพื่อให้ผู้ล่าเข้าใจว่ามันมีพิษหรืออันตรายเช่นกัน)
แมงมุมมดแดง ([Myrmaplata plataleoides] (syn. - หรือมีชื่อวิทยาศาสตร์อีกชื่อที่ไม่ใช้แล้วคือ: [Myrmarachne plataleoides]), ชื่อสามัญ คือ Kerengga ant-like jumper) เป็นแมงมุมกระโดด (พวกเดินล่าเหยื่อ แต่ไม่สร้างรังดักเหยื่อ) ที่เป็น Myrmecomorphy ตัวหนึ่งที่เลียนแบบจนเหมือนมดแดง ซึ่งแมงมุมชนิดนี้ในสองเพศจะมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน (Sexual dimorphism) คือ ตัวเมียที่ผมเจอจะมีหน้าตาคล้ายมดแดงธรรมดา ส่วนตัวผู้จะมีหน้าตาเหมือนกับมดแดงที่กำลังแบกมดแดงตัวเล็กๆ อีกตัวหนึ่งอยู่ดังรูปข้างล่าง
1
แมงมุมมดแดงตัวเมีย หน้าจะคล้ายกับมดแดง ลองเปรียบเทียบกับรูปข้างบน
แมงมุมมดแดงตัวผู้ เหมือนมดแดงกำลังแบกของอย
ถึงแม้จะหน้าตาเหมือนมดแดงมาก แต่ว่าพฤติกรรมของแมงมุมตัวนี้แตกต่างจากมดแดงอย่างเห็นได้ชัด คือ มันจะเคลื่อนที่ช้ากว่ามดแดงมาก (แต่ก็เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน) ไม่กัด และสามารถปล่อยใยออกมาได้
แมงมุมชนิดนี้มีการเลียนแบบ (mimic) มดในหลายอย่างเช่น ขาคู่หน้าของแมงมุมจะยื่นไปข้างหน้า และพัดโบกเลียนแบบหนวดของมด และทำให้เห็นเหมือนมีขาแค่ 3 คู่เหมือนแมลง ตาและจุดดำรอบดวงตาด้านข้างของหัวมีลักษณะคล้ายตามด มีเอวที่บางที่เป็นลักษณะของมด และ มีสีใกล้เคียงกันกับมดแดง
แต่ถ้าดูหน้าของมันใกล้ๆ จะเห็นหน้าเป็นแบบแมงมุม ไม่ใช่มดแดง ลักษณะเด่นคือ มีตา 2 คู่อยู่ด้านหน้า มีรยางค์ช่วยจับอาหาร chelicera) และมีเขี้ยว (fang) ที่ไม่ใช่เขี้ยวเหมือนมดแดง
ซูมหน้าแมงมุมมดแดงดูใกล้ๆ จะดูใกล้เคียงกับแมงมุมอยู่
ลักษณะที่เหมือนมดแดงเหล่านี้ทำให้มันเข้าไปอยู่ใกล้ๆ กับมดแดง และได้รับประโยชน์โดยที่ผู้ล่าอื่นๆ จะหลีกเลี่ยงมัน เพราะว่าคิดว่าเป็นมดแดงที่ก้าวร้าวและกัดเจ็บได้ ทำให้โอกาสที่จะอยู่รอดจากการล่ามีสูงขึ้น
ตอนแรกผมคิดว่าสัตว์กลุ่มนี้จะหายาก แต่คราวนี้มาเจอแมงมุมตัวนี้มาเดินเล่นอยู่ในบ้านเลย เลยไม่รู้ว่าจะระบุว่าหาง่ายหรือหายากดี จริงๆ แล้วยังไม่มีการศึกษากันอย่างจริงจังว่าแมงมุมชนิดนี้มีจำนวนมากหรือน้อยขนาดไหน เพราะคนที่พบเห็นส่วนใหญ่ก็จะคิดว่ามันคือมดแดงที่พบเป็นจำนวนมากและไม่ได้สนใจเท่าใดนัก
ที่อุดรธานี ช่วงมะม่วงกำลังออกลูกพอดี มดแดงแถวๆ นั้นก็มีจำนวนมาก ผมเจอแมงมุมมดแดงตัวเมียทำรังอยู่บนต้นชมพู่ พอถ่ายรูปไปรอบแรกกลับมาดูอีกที เจอว่าใบไม้ที่อยู่ติดกันมีแมงมุมตัวผู้ทำรังอยู่ด้วย ขอให้ออกลูกกันเยอะๆ นะ
ถ้าบ้านใครมีมดแดงเยอะๆ ลองไปดูใกล้ๆ อาจจะเจอแมงมุมมดแดงด้วยก็ได้
แมงมุมมดแดงตัวเมียอยู่ในรังบนใบชมพู่
แมงมุมมดแดงตัวผู้ใกล้ๆ กัน ภาพหลุดโฟกัสไปเยอะเลย
อ่านและดูรูปเพิ่มเติมได้ที่ https://en.m.wikipedia.org/wiki/Myrmaplata_plataleoides
โฆษณา