15 มี.ค. 2019 เวลา 09:00 • สุขภาพ
มหากาพย์อาหารคอเลสเตอรอลสูง...ไม่ดีต่อพวกเราจริงหรือไม่
เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ได้มีการทดลองชิ้นหนึ่ง ได้ทดลองให้หนูลองกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลในปริมาณที่สูงมากๆ แล้วผลก็เป็นไปตามคาด...การทดลองนี้พบว่าหนูเหล่านั้นมีคอเลสเตอรอลในเลือดพุ่งสูงกระฉูดขึ้นสุดๆ และหลังจากนั้นเพียงไม่นาน สมาพันธ์โรคหัวใจของอเมริกาก็ได้ออกคำแนะนำเลยว่า “คนทั่วไป ไม่ควรกินคอเลสเตอรอลเกิน 300 มก.ต่อวัน!”
แล้วคอเลสเตอรอลมันมีอยู่ในอาหารอะไรบ้างล่ะ?...คนทั่วไปมักนึกถึงพวกไข่แดง อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ซึ่งก็ถูกแล้วล่ะครับ อาหารพวกนี้มีคอเลสเตอรอลจริงๆ และอันที่ดูน่าปวดหัวสำหรับคนทั่วไปจริงๆก็คือ”อาหารทะเล” หลายๆคนกังวลว่ากินเเล้วจะทำให้คอเลสเตอรอลสูงขึ้น!
กลับมาที่เรื่องคำแนะนำของอเมริกากันครับ ในตอนนั้นอเมริกาน่าจะเป็นประเทศเดียวที่ออกคำแนะนำนี้ ในขณะที่หลายๆประเทศอื่นทั่วโลก เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มยุโรป เกาหลี นิวซีแลนด์ นั้นกลับไม่มีการแนะนำถึงการควบคุมการบริโภคคอเลสเตอรอลจากอาหารเลย แต่เน้นการควบคุมการกิน”ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์”เป็นหลักมากกว่า...
คือความจริงตอนนั้นมันก็เป็นเรื่องที่ประชาชนถกเถียงกันมากเลย คอเลสเตอรอล 300 มก.นั้น แค่ไข่ลูกเดียวก็เกือบจะเกินแล้ว ต้องควบคุมอาหารขนาดไหนกัน มาถึงจุดนี้แล้ว ก็เริ่มมีการทดลองในคนดูบ้าง ลองให้กินไข่หลายๆลูกต่อวันดู มันจะเพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือดเหมือนในหนูมั๊ยนะ?
แล้วก็ดูเหมือนว่าผลการทดลองมันจะยิ่งทำให้พวกเราปวดหัวกันมากยิ่งขึ้น เพราะการทดลองส่วนใหญ่พบว่า การกินคอเลสเตอรอลเยอะๆ กลับไม่ได้ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นอย่างที่คิดกันไว้เลย! แล้วคอเลสเตอรอลที่ให้กินเข้าไป มันไปอยู่ที่ไหนล่ะ? ไปๆมาๆแบบนี้สมาพันธ์โรคหัวใจของอเมริกาก็เริ่มปวดหัวตาม จะยังแนะนำแบบเดิมดีมั๊ย แต่แล้วสุดท้าย ก็ยอมลบคำแนะนำนี้ออกไปจากหนังสือ แต่ก็แอบห้อยท้ายไว้หน่อย ว่าอย่ากินเยอะละกันนะ...
ต่อมาก็เริ่มมีการศึกษากลไกของคอเรสเตอรอลในมนุษย์อย่างจริงจัง หลังจากที่ผลการทดลองไม่เป็นดั่งที่คิดไว้ เอาล่ะ ผมจะอธิบายให้ฟังคร่าวๆละกันนะครับ คือคอเลสเตอรอลในเลือดของพวกเราเนี่ย มันมาจาก 2 แหล่งหลักๆครับ คือคอเลสเตอรอลที่”กินเข้าไป” กับคอเลสเตอรอลที่”ตับของเราสร้างขึ้นมาใหม่” เอาล่ะ...ผมให้ทุกคนเดา ว่ามันมาจากส่วนไหนมากกว่ากัน?
คำตอบคือ คอเลสเตอรอลส่วนใหญ่เลยตับของเราสร้างขึ้นมาเองครับ โดยเจ้าตับนี่ล่ะที่คอยควบคุมสมดุลคอเลสเตอรอลในเลือดของพวกเรา ถ้าวันไหนเรากินคอเลสเตอรอลเข้าไปเยอะๆ ตับมันก็จะชดเชยโดยการสร้างใหม่ให้น้อยลง ถ้าวันไหนเรากินน้อยลง มันก็สร้างมากขึ้นนั่นเอง
สรุปกินมากกินน้อยก็เพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือดเท่าๆกันเลยนี่!
ก็ใช่แล้วล่ะครับ แต่มันก็จะมีมนุษย์อยู่กลุ่มหนึ่งนะครับ ที่กินคอเลสเตอรอลเข้าไปแล้ว ตับมันไม่ยอมชดเชยอะไรทั้งสิ้น ปล่อยให้คอเลสเตอรอลสูงๆไปเลยตามใจมัน แต่ก็เป็นคนส่วนน้อยอยู่ดี โดยลักษณะแบบนี้มันขึ้นอยู่กับพันธุกรรมซึ่งต่างกันไปแต่ละในพื้นที่ทั่วโลก แต่ทีนี้ในประชากรไทยเนี่ย มันยังไม่ค่อยมีการศึกษาว่ามีกลุ่มประชากรแบบนี้อยู่มากน้อยแค่ไหน...ดังนั้นจะให้ผมพูดว่ากินๆเข้าไปเลยไม่ต้องกังวล ผมก็ไม่กล้าพูดได้เต็มปากนะ555
แต่ในขณะที่การกินคอเลสเตอรอลนั้นยังดูคลุมเคลือๆอยู่ แต่ก็มีไขมันอีกประเภท ที่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดของเราสูงขึ้นจริงๆจังๆโดยไม่ต้องมาถกเถียงกันอีกเเล้ว นั่นก็คือ “ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์”...เจ้าไขมันพวกนี้มันจะไปบังคับตับให้สร้างคอเลสเตอรอลมากขึ้นโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆทั้งนั้น
ผมคิดว่าหลายๆคนก็คงรู้อยู่แล้วว่าไขมัน 2 ชนิดนี้มีมากในอาหารประเภทไหน สรุปสั้นๆก็คือ เนื้อและไขมันสัตว์บนบกทั้งหลาย และน้ำมันพืชแปรรูป เช่น พวกเนยเทียม ครีมเทียม เป็นต้น
ดังนั้นแล้ว ใครที่รักสุขภาพ มาเน้นหลีกเลี่ยงไขมันพวกนี้เป็นหลักจะดีกว่า โฟกัสถูกจุดกว่าแน่นอน ผมอยากบอกว่าอาหารทะเลน่ะ ถ้าไม่ได้กินบุฟเฟ่ต์ซีฟู้ดทุกวัน ก็คงไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน ปริมาณที่พวกเรากินอยู่ทุกๆวันนี้นั้นมีคอเลสเตอรอลรวมแล้วไม่มากเท่าไหร่หรอกครับ ส่วนไข่ก็กินวันละลูกได้ ยกเว้นถ้าเอาไปทอดความร้อนสูงๆ คราวนี้มันจะกลายเป็นคอเลสเตอรอลชนิดใหม่ที่เป็นอันตรายจริงๆนะครับ
ปัจจุบันนี้ หลายๆคนอาจกลัวอาหารทะเลยิ่งกว่าเนื้อหมูเนื้อวัว แต่ผมขอบอกเลยว่าเนื้อหมูเนื้อวัว มีทั้งคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวมากกว่าอาหารทะเลเยอะเลยครับ ดังนั้นใครที่กินสัตว์บนบกให้น้อยลงและหันไปกินสัตว์ในน้ำให้มากขึ้นได้ ผมรับรองว่าสุขภาพของคุณจะดีขึ้นอย่างแน่นอน!!!
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
[R]
- Maria L. Fernandez, Rethinking dietary cholesterol, Curr Opin Clin Nutr Metab Care 2012, 15:117 – 121
- S. Berger, G. Raman, R. Vishwanathan, P. Jacques, and E. J Johnson, Dietary cholesterol and cardiovascular disease: a systematic review and meta-analysis1–3
- John D. Griffin, M.S., Alice H. Lichtenstein, D.Sc., Dietary Cholesterol and Plasma Lipoprotein Profiles: Randomized-Controlled Trials, Curr Nutr Rep. 2013 December ; 2(4): 274–282
- L. Djoussé, MD, DSc, and J. Michael Gaziano, MD, MPH, Dietary Cholesterol and Coronary Artery Disease: A Systematic Review, Current Atherosclerosis Reports 2009, 11:418–422
โฆษณา