21 มี.ค. 2019 เวลา 07:43 • ไลฟ์สไตล์
5W 1H แห่งความฝัน สู่การมองเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่
พนักงานบริษัทอย่างเราๆ ท่านๆ เมื่อทำงานนานวันเข้า มักมีสภาพจิตใจที่เหี่ยวเฉา บางครั้งก็ไม่สมประดี (พูดภาษาบ้านๆ ก็เวิ่นเว้อนั่นแหละ) ยิ่งทำงานนานวันเข้า ยิ่งค้นพบว่าตัวเองเหมือนใช้ชีวิตวนอยู่ในอ่าง จนเกิดคำถามกับตัวเองว่า “เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร”
ผมมีหลัก “5W 1H แห่งความฝัน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎี “บิ๊ก พิคเจอร์” จากหนังสือเล่มที่มีชื่อว่า “ปาฏิหาริย์จากการต่อจิ๊กซอว์ชีวิต” มาฝาก (เขียนโดย ชอน อก เพียว แปลโดย ภัททิรา จิตต์เกษม จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อมรินทร์ ฮาว-ทู) ทฤษฎีนี้ได้นิยามคำว่าบิ๊ก พิคเจอร์ ไว้ว่า เป็นภาพขนาดใหญ่ของชีวิต ที่ทำให้เรามองเห็นอนาคตของตัวเราเอง ที่สำคัญที่สุด ชีวิตของเราไม่ได้เกิดจากภาพเล็กๆ เพียงภาพเดียว แต่เกิดจากภาพย่อยๆ ที่ต่อรวมกันเหมือนจิ๊กซอว์ จนกลายเป็นรูปภาพขนาดใหญ่ของชีวิต ซึ่งรูปภาพขนาดใหญ่รูปนี้นี่แหละ จะทำให้เราค้นพบคุณค่าของการมีชีวิตอยู่
ในฐานะคนทำงาน หากเราให้โอกาสตัวเองได้ลองตอบคำถามตามหลัก 5W 1H แห่งความฝัน ไม่ว่าจะเป็น Why (for what) : เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ เรามักลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เพื่อทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น หรือเพื่ออยู่แบบซังกะตาย หรือเพื่อมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ถ้าเราฝันอยากมีชีวิตอยู่เพื่อทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง นี่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะก้าวไปสู่การตอบคำถามข้อต่อไปแล้วล
Who : ใครคือเจ้าของความฝัน หากการมีชีวิตอยู่เพื่อทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น คือความฝันของตัวเราเอง แล้วเราจะมัวแต่คิดว่า เจ้าของบริษัท หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องบริวาร คือคนที่มีอิทธิพลเหนือกว่าความฝันนี้ของเราไปเพื่ออะไร ในเมื่อเราคือเจ้าของความฝัน เราต้องรับผิดชอบต่อความฝันของเรา เหมือนเราทำงาน หากไม่มีความรับผิดชอบ งานก็ล้มเหลว เช่นเดียวกัน การไม่รับผิดชอบต่อความฝัน ความฝันก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง
When : จะทำเมื่อไร บอกเลยว่า “เดี๋ยวนี้” คือคำตอบเดียวเท่านั้น การเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการรับผิดชอบต่อความฝันของตัวเองไว้ในจิตใต้สำนึก และคอยหมั่นรดน้ำพรวนดินตั้งแต่ตอนนี้ มันจะช่วยทำให้เราไม่คอยแต่บ่นแบบเบื่อๆ กับงานที่ทำอยู่ ไม่ค่อยแต่ผัดวันประกันพรุ่ง และไม่คอยแต่คิดเล็กคิดน้อย จนกลายเป็นคนไม่มีความสุขกับชีวิต
Where : จะทำที่ไหน เราทำงานที่ไหน ก็ให้เริ่มต้น ณ ที่แห่งนั้น ถึงจะเริ่มไม่รู้สึกรักที่แห่งนั้นแล้วก็ตามทีเถอะ อย่าลืมว่า คนเราสามารถประสบความสำเร็จกับงานได้ แม้ว่าจะอยู่ในที่ทำงานที่ไม่ได้รัก หากเรารักงานที่ทำเสียอย่าง เชื่อเถอะว่าเมื่อเราทำงานจนประสบความสำเร็จ ความรักต่อที่ทำงานมันจะค่อยๆ เกิดขึ้นมาเอง โดยที่เมื่อเรารู้สึกตัว เราก็รักที่ทำงานนั้นจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว
What : จะทำอะไร มาถึงคำถามสำคัญที่ว่า เราจะทำอะไร (ต่อไป) การรับผิดชอบต่อความฝันที่อยากมีชีวิตอยู่เพื่อทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น ในสถานที่ที่ตัวเองเริ่มไม่รู้สึกรักแล้วนั้น เราสามารถทำได้ด้วยการทบทวนตัวเอง แล้วเขียนลงไปบนกระดาษเป็นสองฝั่ง ฝั่งซ้ายมือ ให้เขียนว่า ทำสิ่งนี้แล้วชีวิตดีขึ้น จะกี่ข้อก็ลองเขียนมาดู แล้วลองมาเขียนฝั่งขวาว่า ทำสิ่งนี้แล้วทำให้ชีวิตแย่ลง จะกี่ข้อก็ให้เขียนลงไป
How : จะทำอย่างไร เมื่อเขียนได้แล้ว ก็ให้ขยายความในแต่ละข้อถึงวิธีการทำ เสร็จแล้วก็เลือกทำในสิ่งที่ทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นให้มากที่สุด และลดทอนการทำสิ่งที่ทำให้ชีวิตตัวเองแย่ลงให้มากที่สุดเช่นกัน เมื่อไรที่เราเผลอลืมทำฝั่งขวามากกว่าฝั่งซ้าย ก็ให้รีบมาอ่านวิธีการทำใหม่อีกรอบ อย่าลืมว่าชีวิตคือการทบทวนชีวิตตัวเองเสมอ
เมื่อตอบคำถามตัวเองได้ทุกข้อแล้ว ไม่ว่าตัวเราจะทำงานในด้านไหน สาขาใด ณ องค์กรใด เหี่ยวเฉา เวิ่นเว้อ หรือไม่สมประดีมากแค่ไหน เราจะมองเห็นภาพขนาดใหญ่ของตัวเราเองในมุมมองใหม่ที่มีเป้าหมายชีวิตชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นนักการตลาด ที่ไม่ได้เป็นแค่นักการตลาดธรรมดาๆ ทั่วไปนะจ๊ะ ขอบอก แต่เราเป็นนักการตลาดที่ทำให้ลูกค้าพึงพอใจกับสินค้าหรือองค์กรของเราอย่างสูงสุด ยิ่งกว่าที่เขาคาดหวังไว้เสียอีก เห็นไหมว่า เมื่อเราได้พบเคล็ดลับในการหาคุณค่าจากงานที่ทำอยู่ในลักษณะนี้ มันเป็นการค้นพบที่ไม่ได้ทำให้ความหมายในชีวิตของเราหายไปด้วย ซึ่งมันดีกับชีวิตของตัวเราเองอยู่มิใช่น้อย แถมหน้าตาของมันก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่เสียด้วยสิ
โฆษณา