31 มี.ค. 2019 เวลา 09:47 • ไลฟ์สไตล์
ยิ่งฟัง ยิ่งได้ ยิ่งชนะใจ
แปลกดี ที่คนเรามักพูดมากกว่าฟัง
ทั้งๆ ที่การฟังมากกว่าพูด
จะทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารดีขึ้น
และทำให้เราทุกคนมีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น!
โดยส่วนตัว ผมเชื่อในเรื่องของการฟัง ว่ามันเป็นตัวนำพาเราไปยังกลางดวงใจของคนที่เราพบเจอ พูดคุย หรือร่วมงานด้วย ซึ่งเมื่อเราเข้าถึงกลางดวงใจของคนเหล่านั้นแล้ว ยิ่งฟังอย่างจริงใจ ให้เข้าอกเข้าใจ ก็ยิ่งทำให้เขาเหล่านั้นเชื้อเชิญให้เรานั่งลงตรงกลางดวงใจ และมันก็เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า
ทำอย่างไร
เราถึงจะเอาชนะใจผู้คนที่เราพบเจอ
หรือพุดคุย หรือร่วมงานด้วย ได้เป็นอย่างดี?
ยิ่งผมได้มาอ่านหนังสือแปลเล่มหนึ่ง ที่มีชื่อภาษาไทยว่า เงียบให้ถูกจังหวะ คนชนะไม่พูดมาก (Discover the Secret to Getting Through to Absolutely Anyone) เขียนโดย มาร์ก กูลสตัน (แปลโดย นุชนาฏ เนตรประเสริฐศรี) ยิ่งทำให้สิ่งที่ผมเชื่อมั่น มั่นคง แข็งแรง และหนักแน่นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
แต่เหนือไปกว่าการฟัง ที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้บอกไว้ นั่นก็คือ การรู้จักตั้งคำถาม ที่เกี่ยวกับตัวคนที่เราพบเจอ พูดคุย หรือร่วมงานด้วย เพื่อให้เขาได้ตอบ ได้ระบาย ได้พูดในเรื่องราวของเขา ที่อาจไม่เคยบอกใคร หรือเก็บซ่อนไว้จนยากจะเข้าถึง ซึ่งหากเราตั้งคำถามถามเขาอย่างจริงใจ ใส่ใจที่จะฟัง ทุกการฟัง ทุกการตั้งคำถาม มันจะทำให้เราชนะใจคนที่เราพบเจอ พูดคุย หรือร่วมงานด้วย โดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรมาก หรือมัวแต่พูดแต่เรื่องของตัวเองจนซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย
ในหน้าที่ 63 และ 64 ผู้เขียนได้นำเสนอขั้นตอนที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า “มีคนเข้าใจ” ไว้ดังนี้
1 จับอารมณ์ซึ่งคุณคิดว่าอีกฝ่ายรู้สึกอยู่ให้ได้ เช่น ท้อแท้ โกรธ หรือ กลัว
2 บอกเขาว่า “ฉันพยายามจะเข้าใจความรู้สึกของคุณ และคิดว่าคุณกำลังรู้สึก...........” แล้วเติมอารมณ์นั้นในประโยค “แบบนั้นถูกมั้ย ถ้าไม่ถูก ช่วยบอกหน่อยว่าคุณรู้สึกอะไร” จากนั้นก็รอฟังว่าเขาจะรับว่าใช่หรือแก้ว่าไม่ใช่
3 จากนั้นถามต่ออีกว่า “คุณท้อแท้ (โกรธ ผิดหวัง ฯลฯ) แค่ไหน” และให้เวลาอีกฝ่ายตอบ ต้องเตรียมใจรับกระแสอารมณ์ไว้ด้วย อย่างน้อยก็ทีแรก โดยเฉพาะหากอีกฝ่ายเก็บกดความท้อแท้ โกรธเคือง หรือหวาดกลัวไว้ในใจมานาน ตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะเถียงกลับหรือระบายความขุ่นข้องหมองใจของคุณเอง
4 ขั้นต่อไปก็ถามว่า “แล้วสาเหตุที่ทำให้คุณท้อแท้ (โกรธ ผิดหวัง ฯลฯ) ขนาดนั้น เพราะอะไรล่ะ...” ถามเสร็จก็รอให้อีกฝ่ายระบายความรู้สึกเต็มที่อีกเช่นเคย
5 เสร็จแล้วจึงบอกว่า “บอกหน่อยสิว่าต้องเกิดอะไรขึ้น ความรู้สึกนั้นถึงจะดีขึ้นได้”
6 จากนั้นก็ถามว่า “ที่บอกนั่น ฉันจะมีส่วนช่วยทำให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วคุณเองมีส่วนตรงไหนที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นได้”
ไม่จำเป็นต้องท่องบทตายตัว ใช้คำถามพวกนี้เป็นจุดเริ่ม แล้วค่อยขยับไปตามบทสนทนา
ทุกครั้ง ที่เวลาเราพูดถึงปัญหาของคนสองคน หรือปัญหาของใครคนหนึ่งกับคนอีกหลายคน หรือปัญหาที่คนในสังคมต่างละเลงมันเล่นจนเจ็บปวดใจ เรามักจะได้คำตอบว่า ที่เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจกัน มัวแต่พูด ไม่ยอมฟังกัน มัวแต่โต้เถียงกัน แต่ไม่เคยคิดทำให้ปัญหามันคลี่คลาย จนทำให้สบายอกสบายใจกันทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
หากเรารู้กุญแจดอกสำคัญที่ว่า เป็นเพราะต่างคนต่างไม่มีความเข้าอกเข้าใจกัน ไม่เปิดพื้นที่ให้อีกฝ่ายได้พูด และไม่รู้จักตั้งคำถาม เพื่อให้เขาตอบ และเป็นการตั้งคำถามที่ทำให้ผู้ตอบรู้สึกได้ถึงความตั้งใจฟัง หรือความเข้าอกเข้าใจที่มีให้ต่อกันจริงๆ ปัญหามันก็ไม่มีทางแก้ไขหรือคลี่คลายได้ด้วยดี
จากบทเรียนชีวิตที่ผมเพิ่งประสบพบเจอ มันคือการที่ผมมัวแต่พูดแต่เรื่องของตัวเอง โดยไม่ยอมรับฟังเพื่อนร่วมงาน หรือไม่รู้จักตั้งคำถามในเรื่องราวชีวิตของเขา ในปมปัญหาของเขา แล้วตั้งใจฟังเขาอย่างจริงใจจริงๆ สิ่งที่ผมได้รับมาคือ เขาไม่อยากคุยด้วย ไม่อยากเป็นเพื่อนกับผม ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับผม ซึ่งถ้าผมทำอย่างนี้ได้ ผมอาจได้ผลลัพธ์ที่ดี เหมือนอย่างที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวไว้ในหน้าที่ 67
“ในตัวคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนสำคัญเด่นดังแค่ไหน ก็คือมนุษย์ธรรมดา ซึ่งอยากรู้สึกว่ามีคนเข้าใจ สนองความต้องการนั้นให้ได้ แล้วคุณจะเปลี่ยนจากคนแปลกหน้า กลายเป็นเพื่อน หรือพวกเดียวกัน”
ตอนนี้ ผมกำลังพยายามทำอยู่ครับ ผมอยากให้เขาอยากคุยกับผม อยากเป็นเพื่อนกับผม แม้มันจะต้องใช้เวลายาวนานเพียงใด แต่ผมเชื่อว่า เมื่อเขารู้ว่าผมเข้าอกเข้าใจเขาอย่างจริงใจจริงๆ คำว่า เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน มันคงไม่ใช่สิ่งที่หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
โฆษณา