7 เม.ย. 2019 เวลา 02:38 • สุขภาพ
“สายตาคนแก่”...แก่แล้วไม่เป็นจะได้ไหม...
คำตอบของคำถามนี้ คงต้องตอบแบบหักหารน้ำใจกันหน่อยนะครับ
“ไม่ได้ครับ”
แต่ถึงแม้ผมจะพูดแบบนี้ไป ก็เชื่อว่าต้องมีหลายๆคนที่กำลังคิดว่า”ไม่เชื่อหรอก” ถ้าเรารักษาสุขภาพดีๆ เราก็จะแข็งแรงไม่มีโรคภัยใดๆแน่นอน
ผมก็ไม่เถียงนะครับ คนที่ดูแลสุขภาพย่อมแข็งแรงไร้โรคภัย แต่สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือ“สายตาคนแก่”นั้น มันไม่ใช่โรคครับ แต่มันคือการแก่ตัวตามธรรมชาติของดวงตาของคุณเอง
เอาล่ะครับ วันนี้ผมจะมาสรุปเรื่องนี้ง่ายๆให้ฟัง
“สายตาคนแก่” พูดคำนี้ไปก็ออกจะหยาบคายไปเสียหน่อย จริงๆเเล้วมันคือ”สายตาผู้สูงอายุ”ครับ
แต่คำที่คนทั่วไปคุ้นชินกันมากกว่าก็คือคำว่า”สายตายาว” ซึ่งอันที่จริงแล้วมันไม่ใช่สิ่งเดียวกันเลย เพียงแต่อาการมันคล้ายๆกัน คือมองไกลๆได้ แต่มองใกล้ๆเริ่มไม่ชัด เราก็เลยพูดแทนๆกันไป
เชื่อว่าคนที่อ่านบทความนี้ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวกัน ดังนั้นหลายๆคนอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าสายตาผู้สูงอายุมันเป็นยังไง...เอางี้ครับ มาลองทำตามนี้ดู
เหยียดแขนข้างหนึ่งของคุณไปข้างหน้าแล้วชูนิ้วชี้ขึ้นมา...ตอนนี้พวกคุณกำลังเห็นนิ้วชี้นั้นอย่างชัดเจนใช่มั๊ยครับ
หลังจากนั้นก็ลองเคลื่อนนิ้วชี้นั้นเข้ามาใกล้ใบหน้าคุณอย่างรวดเร็ว เอาล่ะ ผมเดาว่าในช่วงวินาทีแรกนั้น พวกคุณจะมองเห็นนิ้วชี้นั้นแบบเบลอๆใช่มั๊ยครับ แต่ในเวลาชั่ววินาที พวกคุณก็จะเริ่มสามารถมองเห็นนิ้วชี้นั้นได้อย่างชัดเจน...ผมพูดถูกใช่ไหมล่ะครับ?
แต่พวกคุณจะรู้สึกได้เลย ว่าคุณต้อง”เกร็งกล้ามเนื้ออะไรสักอย่างในลูกตา”เพื่อมองหรือโฟกัสมันให้ชัดขึ้น
สิ่งนี้เราเรียกว่า”การเพ่ง(accommodation)”ครับ มันคือการที่”เลนส์ตา”ของพวกคุณบีบตัวให้”อ้วนนูน”ขึ้นเพื่อให้สามารถหักเหแสงได้มากขึ้น อารมณ์ก็ประมาณเวลาปรับเลนส์กล้องนั่นแหละครับ เลนส์ตาของคุณกำลังปรับโฟกัสแบบอัตโนมัติอยู่
และผมขอให้พวกคุณจำความรู้สึกเพ่งแบบนี้ไว้ให้ดีนะครับ เพราะสิ่งที่ผมกำลังให้ทำอยู่นี้ พวกคุณจะไม่สามารถทำมันได้อีกต่อไป เมื่อพวกคุณอายุมากขึ้น
เอาล่ะครับ ผมจะอธิบายให้ฟัง
เลนส์ตาของพวกเราก็มีลักษณะคล้ายๆวุ้นรูปทรงเลนส์นูนแบบในแว่นขยาย ที่สามารถยืดหยุ่นให้อ้วนนูนมากขึ้นหรือน้อยลงได้เวลามองใกล้หรือมองไกลมากขึ้น
1
เวลาดวงตาเรามองสิ่งไกลๆนั้น เลนส์ตาของพวกเราไม่จำเป็นต้องปรับโฟกัสอะไร มองเหม่อๆก็สามารถมองเห็นได้ชัดดี ซึ่งสิ่งนี้ตรงกันข้ามกับเวลามองใกล้ ถ้าเลนส์ตาไม่ปรับโฟกัสเลนส์อะไรเลย แสงมันก็จะไปตกเลยจอภาพหลังดวงตาครับ เหมือนกับเวลาถ่ายรูปเร็วๆโดยไม่รอให้มันปรับโฟกัส มันก็จะได้ภาพเบลอๆใช่มั๊ยล่ะครับ ดังนั้นเลนส์ตาของเราจึงต้องอ้วนนูนขึ้นเพื่อบีบแสงให้มาตกที่จอภาพพอดี นั่นทำให้เวลามองไกลๆแล้วพวกเราจะรู้สึกว่าสบายตา แต่กลับปวดตาเวลามองใกล้ๆนั่นเอง
ภาพบนมองไกล ภาพล่างมองใกล้ จะเห็นว่าเลนส์จะต้องอ้วนนูนขึ้นชัดเจน เพื่อหักเหแสงได้มากขึ้น
แต่เมื่อคุณอายุมากขึ้น เลนส์ตาอันนี้ก็จะเริ่มเเข็งตัว จากวุ้นก็จะกลายเป็นก้อนหิน ที่ไม่สามารถยืดหยุ่นให้นูนมากขึ้นได้อีกต่อไป พูดง่ายๆก็คือ ยิ่งคุณแก่ขึ้น คุณก็ยิ่งเพ่งหรือปรับโฟกัสเลนส์ไม่ได้นั่นเอง!
หลายๆคนพูดว่า ยิ่งแก่ตัวลง อวัยวะต่างๆก็จะเริ่มหย่อนยานไปหมด ยกเว้นหูที่ตึง แต่ผมขอแถมให้อีกอย่างละกันนะครับ เพราะเลนส์ตาของคุณก็จะตึงด้วยเช่นกัน แถมตึงเร็วซะด้วย หลายๆคนเริ่มตึงตั้งแต่อายุ 40 ปีด้วยซ้ำไป
ดังนั้น ผิวหนังเหี่ยว ตีนกาขึ้น ผมร่วง ต่างๆนานา...ถ้าพวกเราสามารถหยุดความเสื่อมพวกนี้ได้ พวกเราก็คงไม่เป็น”สายตาผู้สูงอายุ”ได้ด้วยเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่ปฏิเสธธรรมชาติเหล่านี้ได้หรอก อย่างมากก็แค่ชะลอวัยเท่านั้น
สุดท้ายนี้ก็ต้องบอกว่า สายตาผู้สูงอายุนั้น เป็นสิ่งที่แทบจะไม่สามารถหลบหนีมันไปได้ แค่ว่าจะพบเจอมันช้าหรือเร็วเท่านั้น
อาการแรกๆของมันก็คือ เวลาอ่านหนังสือ จะเริ่มเหยียดแขนออกไปไกลมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เชื่อว่าหลายๆคนก็คงเริ่มอ่านบทความนี้กันแบบไกลๆแล้วสินะครับ เสียใจด้วยนะครับ ผมว่าคุณน่าจะเริ่มสูงวัยแล้วล่ะครับ><...
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
[R]
UpToDate : Visual impairment in adults: Refractive disorders and presbyopia
โฆษณา