13 เม.ย. 2019 เวลา 09:00 • สุขภาพ
“อนุมูลอิสระ”และ”สารต้านอนุมูลอิสระ” คืออะไร...
ทั้ง 2 คำนี้ ผมคิดว่าพวกเราคงได้ยินกันอยู่บ่อยๆนะครับ
โดยเฉพาะสินค้าเพื่อสุขภาพต่างๆที่เอาคำที่ดูสวยหรูเหล่านี้มาโฆษณา จนบางทีพวกเราก็เหมือนกำลังถูกสะกดจิต ให้ตื่นตาตื่นใจกับคำเหล่านี้โดยที่เราก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของมันเท่าใดนัก
อนุมูลอิสระคืออะไร สารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร วันนี้ผมจะมาสรุปง่ายๆให้ฟังครับ
ก่อนอื่นต้องบอกว่าคงต้องรื้อฟื้นความรู้หน้าแรกของหนังสือวิชาเคมีกันเสียก่อน ว่าด้วยเรื่อง”อะตอม”
อะตอมประกอบไปด้วยโปรตอนที่เป็นขั้วบวก และอิเล็กตรอนที่เป็นขั้วลบ(ผมขอข้ามนิวตรอนไปนะครับ) ดังนั้นอะตอมโดยปกติแล้วก็จะเป็นกลางทางไฟฟ้าเพราะมีโปรตอนและอิเล็กตรอนเท่าๆกัน
อนุมูลอิสระ ก็คืออะตอมนี่แหละครับ แต่คืออะตอมที่มีอิเล็กตรอนหายไป เมื่ออยู่ในสภาพที่ไม่เป็นกลางทางไฟฟ้านี้ก็จะทำให้อนุมูลอิสระรู้สึกหงุดหงิดคันไม้คันมือ และคอยจ้องที่จะไปขโมยอิเล็กตรอนจากอะตอมอื่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้ตัวเองกลับมาเป็นกลางเหมือนเดิมอีกครั้ง พูดในภาษาเคมีก็คือ มันจะคอยไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารอื่นๆอยู่ตลอดเวลานั่นเอง และสารตัวนั้นที่โดนแย่งอิเล็กตรอนไป ก็อาจกลายเป็นอนุมูลอิสระตัวใหม่ กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ไม่รู้ว่าจะไปจบลงตรงไหน ถ้ายกตัวอย่างที่เห็นง่ายๆในชีวิตประจำวัน ก็เช่น การเกิดสนิม การเน่าเปื่อยผุพังของสิ่งต่างๆ เป็นต้น
นี่ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีเอาเสียเลยครับ เพราะร่างกายของเราไม่ได้ต้องการปฏิกิริยาเหล่านี้ การมีอนุมูลอิสระในร่างกายนั้นจึงไม่ต่างจากการมีระเบิดกระจายไปทั่วร่างกายของเรา
ปัจจุบันมีงานวิจัยและการทดลองมากมาย ที่บ่งชื้ให้เชื่อได้ว่า อนุมูลอิสระนั้นอันตรายต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิตจริงๆ ผมขอยกตัวอย่างที่สำคัญนะครับ เช่น อนุมูลอิสระทำให้ผนังหลอดเลือดเป็นแผล เปิดทางให้เหล่าไขมันเข้าไปสะสมจนตีบตัน เป็นหนทางไปสู่”โรคหัวใจและสมองขาดเลือด” หรือ อนุมูลอิสระไปทำให้ดีเอ็นเอเสียหาย เกิดการกลายพันธุ์ กลายเป็นเซลล์ใหม่ที่ไม่ใช่เซลล์เรา และผมก็กำลังหมายถึง”มะเร็ง”นั่นเอง การที่เซลล์ดีๆของเราอยู่ดีๆก็เสื่อมลงไป กลายพันธ์ุไป ส่วนหนึ่งเราก็เชื่อว่ามันเกิดจากพวกอนุมูลอิสระนี่ล่ะครับ ซึ่ง2โรคที่กล่าวไปนี้รวมกันแล้ว พวกมันก็ถือเป็นเพชรฆาตอันดับหนึ่งของมนุษย์เลยล่ะครับ
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าอนุมูลอิสระเป็นต้นเหตุทำให้เซลล์ทั่วร่างกายเสื่อมเร็วมากขึ้น แล้วก็ทำให้แก่วัยนั่นเอง
เอาล่ะครับ มาถึงคำถามว่า”แล้วพวกอนุมูลอิสระเหล่านี้...มันมาจากไหนกัน”
อนุมูลอิสระนั้นมันก็เกิดตามธรรมชาติของมัน ในปฏิกิริยาต่างๆที่ไม่สมบูรณ์แบบ ทำให้เกิดอะตอมที่พิการขาดอิเล็กตรอนไป
ส่วนหนึ่งมันก็เกิดขึ้นในร่างกายเราเองโดยเป็นของเสียจากปฏิกิริยาเมตาบอริซึมต่างๆ ดังนั้นอนุมูลอิสระก็ต้องมีอยู่แล้วในร่างกายเรา อีกส่วนหนึ่งก็ได้รับจากภายนอก อย่างเช่น มลพิษต่างๆ อาหารทอด บุหรี่ แอลกอฮอล์ รังสี ยาและสารเคมีต่างๆ... เอาเป็นว่ายกตัวอย่างได้ไม่หมดไม่สิ้นครับ และในชีวิตนี้พวกเราก็ไม่สามารถป้องกันมันได้ทั้งหมดแน่นอน
แล้วธรรมชาติจะหยุดยั้งอนุมูลอิสระเหล่านี้ได้อย่างไร? ตามหลักการแล้ว ก็คงต้องให้อิเล็กตรอนที่มันทำหายไป แต่ว่าใครจะเป็นคนให้ล่ะ ในเมื่อคนที่ให้ก็อาจจะเสี่ยงกลายเป็นอนุมูลอิสระด้วยเช่นกัน
ข่าวดีก็คือ มันมีสารประเภทนี้อยู่ครับ ที่พร้อมจะบริจาคอิเล็กตรอนให้สารอื่นๆโดยที่มันยังคงมีความเสถียรได้อยู่ สารนั้นก็คือ”สารต้านอนุมูลอิสระ”นั่นเอง ตั้งชื่อมันตรงๆตัวเลยนี่ล่ะ โดยสารต้านอนุมูลอิสระจากอาหารที่ดังๆก็เช่น วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน กลูตาไธโอน ไฟโตเอสโตรเจน เป็นต้น พูดง่ายๆมันก็อยู่ในพืชผักผลไม้นั่นล่ะครับ
ดังนั้นสารต้านอนุมูลอิสระจึง”เชื่อ”กันว่ามันช่วยลดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้ รวมถึงความแก่ชรา ที่ต้องใช้คำว่า”เชื่อ”นี้ ก็เพราะว่าการทดลองส่วนใหญ่เป็นการทดลองในห้องแลปครับ แม้ในห้องแลปสารต้านอนุมูลอิสระจะกำจัดพวกอนุมูลอิสระได้ดี แต่เมื่อพูดถึงในร่างกายมนุษย์ เรายังคงไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าสารต้านอนุมูลอิสระนี้สามารถช่วยป้องกันโรคต่างๆได้จริงๆ ก็คงต้องรอการศึกษาวิจัยกันต่อไป
แต่ว่าอย่างไรก็ตาม แม้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระมันจะมีประโยชน์กับพวกเราจริงๆหรือไม่ แต่การที่เรากินพืชผักผลไม้กัน มันก็ไม่มีผลเสียอยู่แล้ว มีประโยชน์ต่างๆมากมายด้วยซ้ำ ดังนั้นก็กินไปเถอะครับ ไม่ต้องคิดมาก
1
สิ่งที่น่ากังวลจริงๆอาจเป็นพวกอาหารเสริมที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่า โฆษณาว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ก็ไม่รู้ว่ามีสารอื่นๆปะปนอยู่หรือป่าว กินเข้าไปทุกๆวันมันก็ไปสะสมทำให้เกิดโรคต่างๆในอนาคต ดังนั้นผมคิดว่าการได้รับสารอาหารจากธรรมชาติ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ปัจจุบันนี้คนเราต่างหาหนทางต่างๆมากมายเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง
บางคนก็หมั่นเพียรพยายามดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะกินอาหารดีๆ ออกกำลังบ่อยๆ
บางคนก็ชอบใช้ทางลัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาบำรุง หรืออาหารเสริมต่างๆ
มันก็ไม่มีวิธีที่ผิดหรือถูกหรอกนะครับ เพียงแต่เราคงต้องใช้วิจารณญานในการดูแลสุขภาพของเรามากเสียหน่อย เพราะไม่เช่นนั้น การดูแลสุขภาพมากเกินไป ก็อาจเป็นการทำร้ายสุขภาพไปโดยไม่รู้ตัว...
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆอีกได้ที่
[R]
UpToDate : Nutritional antioxidants in atherosclerotic cardiovascular disease
V. Lobo, A. Patil, A. Phatak, N. Chandra, Free radicals, antioxidants and functional foods: Impact on human health, Pharmacogn Rev. 2010 Jul-Dec; 4(8): 118–126.
โฆษณา