3 ต.ค. 2020 เวลา 04:10 • ธุรกิจ
คิดทุจริต ง่ายนิดเดียว ep.1
"ฮาว ทู ทิ้ง"
ความตั้งใจหนึ่งที่เคยคิดไว้ตอนที่เริ่มเขียน Blockdit คือจะมาเล่า Fraud scheme หรือวิธีการทุจริตของพนักงานในแบบต่าง ๆ ที่เคยเจอ หรือเคยศึกษามาให้ทุกท่านได้รับรู้กัน
ใจหนึ่งก็กลัวจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก เกิดคนดี ๆ เข้าด้านมืดเพราะผมขี้นมาจะผิดบาปแค่ไหนก็ไม่รู้
แต่คิดไปคิดมา ความอยากเล่า อยากขิง มีสูงกว่า
หรือจะมองโลกในแง่ ดีเข้าข้างตัวเองหน่อยก็ได้ว่า คนดี ๆ ต่อให้เราสอนวิถีโจรอย่างไรเขาก็ไม่ทำผิดหรอก ส่วนคนไม่ดี ไม่ต้องสอนอะไรเขาก็เป็นของเขาเอง
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีใครอ่านกลเม็ดในซีรีส์นี้แล้วเอาไปใช้ ผมก็ขอแช่งให้ได้เจอจับได้ในเร็ววันครับ
กลเม็ดเสร็จโจรหมายเลข 1 ใน Series นี้ขอตั้งชื่อว่า ฮาว ทู ทิ้ง เพราะเรื่องมันเกี่ยวกับของที่ต้องทิ้ง ต้องกำจัด ครับ
ในธุรกิจ ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไหนก็ตาม ถ้าลองพิจารณาดี ๆ ท่านจะพบว่าพวกสินค้าที่ผลิตออกมาแล้วต่ำกว่าคุณภาพ (Defect) หรือพวกเครื่องมือที่ชำรุดเสื่อมสภาพ วัตถุดิบเหลือใช้ (Scrap) ​และเศษขยะ (Waste) จากการผลิตสินค้า เหล่านี้ถือว่าเป็นขุมทรัพย์ของพนักงานเลยทีเดียว
ที่ผมบอกว่าเป็นขุมทรัพย์นี่ ไม่ใช่ว่าเขาจะเอาไป Recycle หรอกนะครับ แต่เพราะของพวกนี้มักถูกใช้เป็นหนทางหรือข้ออ้างในการยักยอกทรัพย์สินของบริษัทได้ต่างหาก
1. กลเม็ดพื้นฐานอย่างแรกคือการใช้เหตุผลว่า "สินค้าชำรุด"
นั่นคือ สินค้าที่ผลิตออกมา ความจริงแล้วไม่ได้ชำรุด แต่พนักงานบันทึกไปว่าชำรุดแล้วตัดจำหน่ายทิ้ง หรือ "จงใจ" ทำให้มันชำรุดซะงั้น
ถ้าไปตรวจสอบดี ๆ ท่านก็จะพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ Yield ในการผลิต หรืออัตราส่วนระหว่างผลผลิต (Output) กับวัตถุดิบ (Input) ที่ต่ำกว่าปกติ หรือ ไม่มีความสม่ำเสมอ
และหากไปดูกระบวนการตัดจำหน่าย หรือการกำจัดของที่ชำรุด ก็อาจจะพบผู้รับซื้อจากภายนอกที่มีความสัมพันธ์ หรือสนิทสนมกับพนักงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต และตรวจสอบคุณภาพเป็นพิเศษ
หรือหากไปสำรวจตลาดภายนอก ท่านก็อาจจะพบว่ามีสินค้าของท่านวางขายอยู่โดยผู้ค้าที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับบริษัทของท่านเลย แต่ไม่รู้ทำไมเขาถึงมี "ของแท้มีตำหนิ" มาวางขายได้ในราคาถูก
ผมเองก็เคยได้ของยี่ห้อดี แต่มีตำหนิมาจากตลาดนัดเหมือนกัน ก็สงสัยว่าทำไมมีของแบบนี้มาขายได้ถูก ๆ พอมาทำงานก็เลยรู้ว่า อ๋อ... เค้าก็น่าจะทำกันแบบนี้นี่เอง
2. กลเม็ดต่อมาคือ มุกที่เกี่ยวกับ "อุปกรณ์เสื่อมสภาพ" หรือ "วัตถุดิบหมดอายุ"
เครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน หรือวัตถุดิบ ช้าเร็วก็ต้องมีวันหมดอายุขัย
กรณีของวัตถุดิบ ในกระบวนการผลิตที่เน้นคุณภาพของสินค้ามาก ๆ ก็จะไม่ปล่อยให้ของหมดอายุถูกนำมาใช้อย่างแน่นอน
ซึ่งนั้นทำให้การทิ้งวัตถุดิบที่หมดอายุ หรือใกล้จะหมดอายุ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด
ปัญหาของเรื่องคือ ใครเป็นคนเคาะว่าของพวกนี้หมดอายุแล้ว หรือใครเป็นคนเช็คว่าหมดอายุแล้วจริง ๆ ไม่ใช่เอาของดีสอดไส้ทิ้งไปด้วย แล้วค่อยมาใช้ของหมดอายุรอบหน้าโปะทับไป
บางกรณีหนักข้อหน่อย ก็คือเอาวัตถุดิบไปวางทิ้งไว้ ให้ตากแดดตากฝน อ้างว่าลืม เพื่อจะได้ write-off ทีละมาก ๆ ให้ตัวเลขมันมาปะปนกับของที่แอบเอาออกไปด่อนหน้านี้
กรณีของเครื่องมือก็เช่นกัน ใบมีด ดอกสว่าน ไส้กรอง แบตเตอรี่ ฟิวส์ หลอดไฟ ฯลฯ
ของพวกนี้ บางทียังใช้ได้ดีอยู่เลย ก็อ้างว่าเสื่อม ขอซื้อใหม่ และต้องด่วน
"ถ้าไม่เปลี่ยน แล้วเครื่องจักรพัง ผลิตไม่ได้ พวกคุณรับผิดชอบไหวเหรอ?"
ก็เป็นมุกประจำของพวกเขาหล่ะครับ
3. เศษขยะที่เศษวัสดุที่เหลือจากการผลิต
ในกระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จะมีปริมาณของพวกนี้น้อย แต่ในการผลิตสินค้าบางประเภท อย่างไรเสียก็ต้องมีเศษวัสดุเหลือทิ้งครับ
ซึ่งหากองค์กร มีระบบบริหารจัดการดี ก็จะสามารถควบคุมการจัดการของพวกนี้ได้ เช่น นำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือ นำออกไปขายให้พ่อค้ารับซื้อของเก่า
แต่ก็เช่นเคย พนักงานที่คิดทุจริตก็จะเห็นช่องทางทำกินได้อยู่ดี ตัวอย่างแรกคือไปปรับเปลี่ยนแก้ไขกลไกหรือขั้นตอนในกระบวนการผลิตให้มันเกิด Scrap หรือ Waste พวกนี้มากกว่าปกติ เพื่อจะหาประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือทิ้ง
แน่นอนว่าหากเอาข้อมูล Yield มาดู ก็คงตรวจเจอความผิดปกติเหมือนกรณีที่ 1 แต่เราลองถามกันดูในองค์กรก็ได้ครับว่าทุกวันนี้มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจังหรือไม่ หรือหากเจอ แต่มันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตทั้งหมด เรายังอยากจะเสียเวลาไปสืบสวนหรือเปล่า ?
อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ Risk Tolerance กับ Governance ของแต่ละที่ครับ
ตัวอย่างที่สองคือ ก็คือการนำเอาเศษวัสดุที่มีราคาถูกกว่า โรยหน้าทับเศษวัสดุที่มีราคาแพงกว่า แล้วเอาขึ้นชั่งน้ำหนักขาย ก่อนตีราคาด้วยอัตราราคาที่ถูกกว่าและให้ผู้ซื้อนำออกไปจากโรงงาน
ฟังดูเหมือนพูดเป็นเล่น แต่ก็มีการกระทำเช่นนี้อยู่จริงครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไปดูที่กระบวนการและขั้นตอนที่เราใช้จัดการของพวกนี้
พนักงานที่อยู่กับหน้าที่เดิม ๆ มาเป็นเวลานาน กระบวนการที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง การตรวจสอบที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งหมดนี้ก็อาจจะเป็นเหตุผลให้เกิดช่องทางรั่วไหลได้ครับ
นี่ยังไม่นับการทุจริตแบบอื่น ๆ เช่นการเรียกรับผลประโยชน์ จาก Supplier ที่มาประมูลงานรับกำจัดสารเคมีให้เป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือผู้ค้าของเก่าที่ขอเข้ามาซื้อเศษวัสดุพวกนี้นะครับ
เพราะของแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็ต้องทำเป็นขบวนการ หรือไม่ก็ต้องอาศัยผู้อื่นให้ช่วย "ปิดตาข้างหนึ่ง" กันทั้งนั้นครับ
ทั้งหมดนี้ น่าจะพอให้ทุกท่านได้เห็นว่า แม้แต่ของที่เรามองว่าไม่มีค่าอะไรอย่าง ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คนเราทุจริตได้เหมือนกัน
ซึ่งแม้ว่าลักษณะของสิ่งที่ถูกขโมย หรือตามกระบวนการทำงานของแต่ละบริษัทจะแตกต่างกัน แต่ถ้าท่านไปลองพิจารณาดี ๆ ก็น่าจะมองเห็นวิธีการตรวจสอบ หรือป้องกันได้ ขอแค่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สักหน่อยก็พอ
อย่าไปมองว่ามันเป็นเรื่อง "ขี้ผง" ละกันครับ เพราะการทุจริตเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้ มันก็สามารถนำไปสู่การเกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ผิด ๆ และการทุจริตที่กว้างขวาง หรือใหญ่โตกว่านี้ได้ครับ
ขอบคุณมากครับ
โฆษณา