1 พ.ค. 2019 เวลา 02:30 • สุขภาพ
อากาศร้อน...ทำให้เกิด”โรคลมแดด”ได้อย่างไร?
ต้องบอกว่าช่วงเวลานี้ประเทศนี้ของเรามันร้อนซะเหลือเกิน
ร้อนจนผมสงสัยว่าในอีก10ปีข้างหน้ามันจะเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตได้อีกไหม สภาพอากาศแบบนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแข็งแรงหรือป่วยก็มีสิทธิ์ถูกหามเข้าโรงพยาบาลได้เหมือนกัน
ในบรรดาโรคทั้งหมดที่เกิดจากความร้อน โรคลมแดดเป็นภาวะที่อันตรายที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่เจอแดดเเล้วเป็นลม เเต่อาจเป็นลมจนไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย
มนุษย์อย่างพวกเราถือว่าเป็นสัตว์เลือดอุ่น มันมีความหมายว่าร่างกายของพวกเราจะปรับอุณหภูมิให้คงที่พอๆเดิมเสมอ ไม่ว่าจะอากาศจะร้อนขึ้นหรือเย็นลง ดังนั้นถ้าอากาศรอบตัวของเราร้อนมากขึ้น ร่างกายเราก็จะหาวิธีระบายความร้อนออกไป
วิธีการระบายความร้อนของพวกเราไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากมาย เมื่ออากาศร้อนมากขึ้น อวัยวะทุกส่วนของร่างกายก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น พวกมันก็จะถ่ายโอนความร้อนเหล่านี้ไปสู่”เลือด”ที่ไหลมาเลี้ยงพวกมัน จากนั้นเลือดที่อุณหภูมิสูงขึ้นจากทุกๆอวัยวะเหล่านี้ก็จะถูกบังคับให้ไหลเวียนไปยัง”ผิวหนัง”มากขึ้น เพื่อเอาความร้อนไปกองไว้ที่ผิวหนังซึ่งเป็นส่วนที่ง่ายที่สุดที่ร่างกายของเราจะระบายความร้อนได้
และการระบายความร้อนที่ดีที่สุดของผิวหนังก็คือ การระบายเอาเหงื่อที่ร้อนๆของเราออกมานั่นเอง
แต่กระบวนการระบายความร้อนที่เล่าไปนี้ มันจะทำงานน้อยลงในผู้สูงอายุครับ โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคหัวใจและปอด ทำให้คนกลุ่มนี้ระบายความร้อนออกทางเหงื่อได้น้อยลง จนความร้อนเริ่มสะสมในร่างกาย หรือในคนที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆในอากาศที่ร้อนก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะเป็นการสร้างความร้อนในร่างกายเพิ่มเข้าไปอีก แม้ระบายเหงื่อออกได้ แต่ก็อาจจะระบายความร้อนได้ไม่ทัน
เมื่อความร้อนในร่างกายสูงขึ้น ร่างกายเราก็จะไม่ต่างจากเตาอบที่มีอวัยวะต่างๆอยู่ข้างใน อวัยวะต่างๆเหล่านี้ก็จะเริ่มเสียการทำงานไป ไม่ว่าจะเป็นตับไตไส้พุง อาจถึงขั้นทำให้อวัยวะต่างๆล้มเหลวเฉียบพลันถึงขั้นวิกฤตได้เลยทีเดียว และหนึ่งในอวัยวะที่ไวต่อความร้อนมากที่สุดก็คือ”สมอง” ทำให้ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวลดลง กระวนกระวาย คลื่นไส้อาเจียน ประสาทหลอน ชัก และอาจถึงขั้นหมดสติโคม่าไปได้เลย โรคลมแดดจึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทำงานล้มเหลวของอวัยวะหลายระบบถ้ารักษาไม่ทันท่วงที
ดังนั้นในหน้าร้อนที่แสนร้อนแบบนี้ เราต้องระวังและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนี้
1.ใส่เสื้อผ้าสีอ่อนและถ่ายเทอากาศได้ดี
2.ทาครีมกันแดดขนาดอย่างน้อย SPF15 แต่ไม่ควรทาหนาเกินไปเพราะจะทำให้ระบายความร้อนยาก
3.ดื่มน้ำให้เพียงพอ(อย่างน้อย6-8แก้ว/วัน) ถ้าเล่นกีฬาหรือมีกิจกรรมให้ดื่มน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะเล่นมากกว่า1ชั่วโมง ควรดื่มน้ำเกลือแร่ แต่ไม่ควรดื่มกาแฟและแอลกอฮอล์
4.ไม่เล่นกีฬาในที่ร้อนจัด เลือกเล่นช่วงเช้าๆหรือเย็นๆ
5.ทำอะไรเย็นๆเข้าไว้ ไม่ว่าจะกินของเย็นๆหรือตากแอร์เย็นๆ
6.ไม่ปล่อยเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุไว้ในรถยนต์ปิดสนิท
7.ถ้าเป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ต้องระวังมากเป็นพิเศษ
แต่ถ้าใครเริ่มรู้สึกว่าเวียนหัว ปวดหัว หน้ามืด หรือคนรอบข้างเริ่มเห็นความความรู้สึกตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนกลุ่มเสี่ยงด้วยแล้ว ให้รีบรักษาเบื้องต้น โดยเข้าที่ร่มหรือในห้องแอร์เลยก็ยิ่งดี ปลดเสื้อผ้าให้หลวมๆ หาน้ำเย็นหรือน้ำแข็งมาชะโลมตัวโดยเฉพาะข้อพับต่างๆ แล้วรีบพาไปโรงพยาบาลทันทีนะครับ
สุดท้ายนี้อยากฝากว่า นอกจากเรื่องป้องกันและรักษาโรคลมแดดจะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว การช่วยกันรักษาและป้องกัน”ภาวะโลกร้อน”ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะอากาศที่ร้อนมากขึ้นเรื่อยๆอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่ใช่ฝีมือใครอื่น นอกจากมนุษย์อย่างพวกเรานั่นเอง...
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆอีกได้ที่
Blockdit : Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
[R]
UpToDate
- Exertional heat illness in adolescents and adults: Epidemiology, thermoregulation, risk factors, and diagnosis
- Severe nonexertional hyperthermia (classic heat stroke) in adults
โฆษณา