6 พ.ค. 2019 เวลา 03:03 • สุขภาพ
เบาหวาน...ทำให้มนุษย์สูญเสีย”ดวงตา”ไปได้อย่างไร?
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้น...มีความเชื่อว่าดวงตาถือเป็นอวัยวะเป้าหมายอันดับแรกหรือต้นๆเลยที่จะสูญเสียการทำงานไป
ดังนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเลยที่ผู้ป่วยจะมีดวงตาที่เสื่อมลงไปเรื่อยๆ และอย่างแย่ที่สุดก็คือ สูญเสียการมองเห็นไปทั้งหมด!
จากประสบการณ์ของผม คนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรมากนัก เพราะส่วนใหญ่ในระยะแรกๆหลายปีก็ยังคงมองเห็นได้ปกติอยู่ ในขณะที่โรคเบาหวานกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อทำลายดวงตาทีละน้อยๆ รอวันที่งานจะสัมฤทธิ์ผล
เอาล่ะ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟัง ว่าเรื่องราวมันมีความเป็นมาอย่างไร...
ดวงตาของมนุษย์นั้น ก็เหมือนกล้องดิจิตอล กล้องที่เราใช้กันอยู่นั้นมีส่วนที่สำคัญมากๆก็คือฉากรับแสง ซึ่งมีหน้าที่เปลี่ยนคลื่นแสงสีต่างๆให้กลายเป็นข้อมูลดิจิตอลและแสดงผลออกมาเป็นรูปภาพ เช่นเดียวกัน ดวงตาของพวกเราก็มี”เรตินา”ที่มีหน้าที่เปลี่ยนคลื่นแสงให้กลายเป็นกระเเสประสาทเพื่อส่งไปแปลผลเป็นรูปภาพที่สมอง
ดังนั้นเรตินาจึงมีโครงสร้างที่ซับซ้อนแบบสุดๆ ไม่มีอวัยวะใดๆในร่างกายของเราที่มีความสามารถนี้ ถ้าเกิดส่วนนี้เสียไป ก็เรียกได้ว่าเสียหัวใจการทำงานของดวงตาไปเลยทีเดียว การแพทย์ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถไปซ่อมมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก ส่วนมากก็ทำได้แค่รักษาแบบประคับประคองไป แล้วก็ภาวนาให้ร่างกายมันซ่อมแซมตัวของมันเอง
อย่างที่บอก ว่าเรตินานั้นมีโครงสร้างที่ซับซ้อนมาก การที่เรตินามีความสามารถพิเศษอย่างนี้ ก็ต้องแลกมากับภาระอันใหญ่หลวง
เรตินาในดวงตาเรานั้น เป็น1ในอวัยวะที่ทำงานหนักที่สุดในร่างกายของเรา เพราะมันต้องคอยแปลรหัสคลื่นแสงอยู่ตลอดเวลาที่พวกเราลืมตา เหมือนกับกล้องถ่ายวีดีโอที่เปิดใช้งานอย่างต่อเนื่อง คนใช้กล้องก็คงรู้ว่ามันใช้พลังงานสูงมาก ไม่ทันไรแบตก็หมดเเล้ว หลายคนต้องพกแบตสำรองกันหลายๆก้อนกันเลยด้วยซ้ำ
ดังนั้น ดวงตาของเราจึงเป็น1ในอวัยวะที่ใช้พลังงานสูงที่สุดในร่างกาย ซึ่งพลังงานของดวงตาก็คือ “ออกซิเจนที่มากับเส้นเลือด”นั่นเอง
อวัยวะใดๆก็ตามที่มีความต้องการออกซิเจนมากขนาดนี้ มันก็ย่อมเสี่ยงต่อการตายมากขึ้น เพราะมันจะไม่ยอมให้มีออกซิเจนน้อยลงอย่างเด็ดขาด ถ้าเริ่มน้อยลงเมื่อไหร่ มันจะเริ่มทำงานผิดปกติทันที และถ้าขาดออกซิเจนนานๆก็อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการทำงานไปอย่างถาวร
ดังนั้นระบบเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงในส่วนเรตินาจึงถูกสร้างมาอย่างดี มีระบบอัตโนมัติมากมายที่สั่งการให้เลือดมาเลี้ยงเรตินาอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตาม เส้นเลือดนี้ก็ยังไม่อาจทนทานต่อเลือดที่”ข้นหวาน”ได้
อย่างที่ผมเคยเขียนไว้หลายครั้งแล้ว ผมขอสรุปง่ายๆสั้นๆว่าเลือดที่ข้นหวานนี้ มันจะไปทำให้ผนังหลอดเลือดตีบแคบมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีเลือดไหลไปเลี้ยงดวงตาและเรตินาของเราน้อยลง
ในช่วงแรกๆนั้นเรตินาก็มีความพยายามดิ้นรนต่างๆมากมายเพื่อปรับตัวกับภาวะที่มีเลือดลำเลียงออกซิเจนมาให้มันน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยยังกินหวานๆไปเรื่อยๆ มันก็จะถึงจุดที่มันปรับตัวไม่ไหว เหล่าเซลล์เรตินาเริ่มตายลงไปเรื่อยๆที่ละตัวสองตัว จนจอรับภาพของเราชำรุดทรุดโทรมไป ภาพที่เราเห็นจึงมีความคมชัดลดลง
อย่างที่บอกไปตอนต้นบทความครับ ความเสียหายที่เกิดบนจอรับภาพนั้นมักรักษาแก้ไขได้ค่อนข้างยาก และมักเป็นภาวะ”สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร”
น่าเสียดายที่การสูญเสียการมองเห็นในโรคเบาหวานนั้น มันค่อยๆเกิดอย่างช้าๆ ในระยะแรกๆผู้ป่วยจึงไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าเริ่มมองเห็นน้อยลงแล้ว กว่าจะรู้ตัวก็เรียกได้ว่าอาจสายไปแล้ว ยิ่งเป็นมากก็ยิ่งรักษาได้ยาก ดังนั้นคนที่เป็นโรคเบาหวานแล้วจึงจำเป็นต้องตรวจสุขภาพตาทุกๆปีแม้ไม่มีอาการใดๆก็ตาม
โรคเบาหวานนั้นถือเป็นสาเหตุระดับแนวหน้าที่ทำให้ผู้ใหญ่ในวัยกลางคนขึ้นไปต้องสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร เรียกได้ว่าถ้าคุณเจอคนตาบอดคุณก็อาจเดาได้เลยว่าพวกเขาเป็นเบาหวานด้วยแน่ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เบาหวานขึ้นตานั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดเลยครับ ถ้าคุณรู้จักควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่ปล่อยให้ตัวเองอ้วนลงพุงแล้วล่ะก็ ผมก็มั่นใจว่าดวงตาของคุณจะปลอดภัยจากโรคเบาหวานไปตลอดชีวิตได้อย่างแน่นอน!
ดังนั้นสำหรับคนที่เป็นเบาหวานแล้ว ได้โปรดทะนุถนอมดวงตาของคุณไว้ให้ดี เพราะชีวิตประวันทุกๆวันของคุณนั้นอาจทำร้ายดวงตาของคุณอยู่ ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันของคุณตั้งแต่วันนี้ ถ้าคุณไม่อยากที่จะสูญเสียมันไป...
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆอีกได้ที่
Blockdit : Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
[R]
UpToDate(แหล่งรวมข้อมูลทางการแพทย์โดยเน้นหลักฐานที่ทันสมัย)
- Diabetic retinopathy: Pathogenesis
โฆษณา