7 พ.ค. 2019 เวลา 07:00 • บันเทิง
30 ไม่แจ๋ว เมื่อผลการวิจัยพบว่า เราเลิกฟังเพลงใหม่ตอน 30
(อ่านแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตามกันนะครับ)
เคยสังเกตุกันไหมว่า พอเราอายุมากขึ้น การตอบรับต่อสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิตก็ลดน้อยถอยลงไปด้วย อย่างหนังแทนที่จะดูทุกเรื่องที่เข้าใหม่ เราก็เลือกสรรกันเป็นอย่างดี และจากการวิจัยของผู้ให้บริการสตรีมมิงอย่าง ดีเซอร์ (Deezer) ก็พบว่า เราเลิกฟังเพลงใหม่ๆ ที่ออกมาในตอนที่เราอายุ 30 ปี โดยสาเหตุหลักๆ ก็ไม่พ้นเรื่องของชีวิตที่วุ่นวายมากขึ้น และที่ลืมไม่ได้ก็คือ เราไม่ได้หมกตัวกับการฟังเพลงใหม่ๆ ทั้งหลายในแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว
ในช่วงที่เราอายุ 12 – 22 ปี สมองของเราจะผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ซึ่งตัวเราเองก็ยอมรับเพลงต่างๆ ที่เราได้ยินในช่วงเวลานั้นมากขึ้นไปด้วย ที่สำคัญผลวิจัยนี้สรุปด้วยว่า สมองของเราเป็นพวกถวิลหาอดีต เพราะฉะนั้นอย่าอายหากชอบฟังเพลงเก่า ที่มองกันง่ายๆ ทั่วๆ ไป ก็จะพบว่า บรรดาคนที่มีอายุมากขึ้น มักจะพูดถึงเรื่องอดีต วันชื่นคืนสุขที่ผ่านมา แม้บางคนจะแย้งว่า ตัวเองใจยังเยาว์ และมีจิตวิญญาณอิสระชั่วนิรันดร์ แต่เอาเข้าจริงๆ สังเกตุดีๆ จะพบว่า พออายุมากขึ้นเราจะหงุดหงิดกับคำแสลงใหม่ๆ ที่ยากทำความเข้าใจ และต้องถามเด็กๆ ในบ้านว่า มีม (Meme) นั้นนี้ หมายความถึงอะไร
เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับแต่ละคนในช่วงวัยที่แตกต่างกันไป บางคนเร็วบางคนช้า แต่จากการวิจัยของดีเซอร์ บ่งชี้เป็นนัยๆ ว่า คนเราหยุดฟังเพลงใหม่ตอนอายุสัก 30 ปีครึ่ง โดยเป็นผลที่ได้จากการทดลองกับคนอังกฤษ 1,000 คน เกี่ยวกับเพลงที่พวกเขาฟังและชอบ ซึ่ง 60% ใช้ชีวิตจำเจอยู่กับเพลงในวงแคบๆ ฟังเพลงเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วก็มีมากกว่า 25% ที่บอกว่าพวกเขาไม่อยากลองฟังเพลงใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือแนวทางที่ตัวเองชื่นชอบ
โดยอายุที่มากที่สุดที่ยังคงหาเพลงใหม่ๆ ฟัง จากผลวิจัยปรากฏว่าอยู่ที่ 24 ปี แต่ที่น่าตกใจก็คือ ในกลุ่มนี้มีถึง 75% บอกว่าพวกเขาฟังเพลงใหม่ๆ สัก 10 เพลงหรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์ และ 64% เผยว่าพวกเขามองหาศิลปินใหม่ๆ แค่ห้าคนต่อเดือน ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ดูเหมือนความสามารถในฟังเพลงใหม่ๆ ของเราลดลงเรื่อยๆ
เมื่อแยกเพศออกมา การวิจัยนี้ยังบอกอีกว่า ผู้หญิงจะเริ่มถึงจุดสูงสุดในการค้นหาเรื่องเพลงตอนอายุ 23 ปีกับอีก 4 เดือน ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าผู้ชาย ที่จะมาอยู่ในสถานะนี้ตอนอายุ 25 ปีกับ 2 เดือน
นอกจากนี้ การวิจัยของดีเซอร์ยังพบด้วยว่า การเป็นอัมพาตทางด้านดนตรีนั้น เรื่องของที่อยู่อาศัยก็มีผล โดยคนสก็อตต์จะเจอกับเรื่องนี้ช่วงหลังๆ ของชีวิต โดยเฉลี่ยแล้วจะเป็นตอนอายุ 40 ปีกับ 7 เดือน ซึ่งอายุมากกว่าคนเวลส์ที่อยู่ในสถานะนี้ตอนอายุ 24 ปีกับ 8 เดือน ถึง 15 ปี ส่วนคนทางตะวันตกเฉียงเหนือจะเป็นตอนอายุ 23 ปีกับ 9 เดือน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้การตอบรับเพลงใหม่ๆ น้อยลงของเราก็แตกต่างกันไป โดย 19% บอกว่ามีตัวเลือกที่มากเกินไป, 16% บอกว่าต้องหางานทำ และ 11% บอกว่าต้องเลี้ยงลูก หากก็พอมีมุมดีอยู่บ้าง ตรงที่ 47% ของผู้เข้าทำการวิจัย ยอมรับว่าอยากมีเวลาให้กับการหาเพลงใหม่ๆ ฟังมากขึ้น ซึ่งแสดงว่าอย่างน้อยพวกเขาก็ยังมีความสนใจในตลาดเพลงอยู่
“กับการที่มีเพลงดีๆ ออกมามากมาย มันง่ายมากที่จะรู้สึกว่า มันเยอะเกินไป” อดัม รีด (Adam Read) บรรณาธิการดนตรีของดีเซอร์ ประจำอังกฤษและไอร์แลนด์กล่าว “ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าเราเกิดเป็นอัมพาตทางดนตรีในช่วงที่อายุแตะเลขสาม”
และเมื่อปี 2015 บล็อก เดอะ สกายเน็ท แอนด์ อีเบิร์ท (the Skynet & Ebert) ได้ตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้ของสปอติฟาย อเมริกา (US Spotify) และเอคโค เนสท์ (Echo Nest) และพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว การฟังเพลงในช่วงวัยรุ่นจะเป็นการฟังเพลงที่ได้รับความนิยม แล้วจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าอายุ 30 และพอ 33 ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีการฟังเพลงใหม่ๆ อีกแล้ว
นอกจากเรื่องของเวลาที่น้อยลงแล้ว บางการวิจัยยังพบว่า เรามักจะฟังเพลงเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยอารมณ์ถวิลหาอดีตทางดนตรี อย่างการศึกษาที่ตีพิมพ์ในรายงานประจำปีของ เมโมรี แอนด์ ค็อกนิชัน (Memory & Cognition) พบว่าดนตรีจะมีผลมากๆ ในเรื่องการกระตุ้นความทรงจำ สะท้อนให้เห็นอดีตสมัยเรียน
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เซ็ธ สตีเฟนส์-เดวิดโดวิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของสปอติฟาย แล้วเขียนไว้ในเดอะ นิว ยอร์ค ไทม์ส โดยเขาพบว่า ถ้าอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นๆ เวลามีเพลงสักเพลงถูกปล่อยออกมา มันจะกลายเป็นเพลงฮิตในกลุ่มคนอายุช่วงเดียวกับเรา ในอีก 10 ปีต่อมา โดยเพลงที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ “Creep” ของ Radiohead เพลงนี้กลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมอันดับที่ 164 ในกลุ่มคนฟังชายอายุ 38 ปี แต่ไม่ติดอันดับท็อป 300 ของคนฟังที่เกิดก่อนหรือหลังจากนั้น 10 ปี เพราะหนุ่มๆ ที่อายุ 38 ในตอนนี้ อยู่ในช่วงที่เพลงนี้กำลังหอมหวานพอดี เมื่อออกมาในปี 1993
สำหรับสาเหตุที่เป็นแบบนี้ จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า บรรดาเพลงโปรดของเรานั้น จะกระตุ้นให้เกิดความพึงพอใจในสมอง ด้วยการหลังสารโดพามีน (dopamine), เซโรโทนิน (serotonin), อ็อกซีโทซิน (oxytocin) และสารที่เกี่ยวกับความสุขอื่นๆ ยิ่งเราชอบเพลงนั้นมากเท่าไหร่ สารเคมีที่หลั่งไหลไปทัวร่างกายของเราก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ในช่วงที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว สมองของเรานั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมาย แล้วยังมีเรื่องของฮอร์โมนและความรู้สึกมาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นถ้าเราได้ยินเพลงที่เราชอบ มันก็จะฝังใจเราไปทั้งชีวิ
หากไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่มีเพลงใหม่ๆ ที่คุณรักอีกแล้วในช่วงชีวิตต่อจากนั้น มันแค่อาจจะไม่สามารถทำให้เกิดการตอบสนองที่แข็งแรงในแบบนั้นออกมาได้อีก เพราะคุณไม่ใช่ฟองน้ำอย่างที่เคยเป็นอีกแล้ว
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เราฟังเพลงเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เรียกว่า ‘ช่วงของการรอคอยอย่างมีความหวัง’ ถ้าคุณเกิดขนลุกวาบเวลาได้ยินเพลงโปรด มันคงไม่พ้นเรื่องของการตอบสนองของฮอร์โมนในตัว แล้วยังเป็นเพราะคุณรู้ว่า จะได้ยินช่วงที่ดีของเพลงนี้ที่กำลังจะมาถึง ยกตัวอย่างง่ายๆ ก่อนหน้าที่อารมณ์ของเพลงจะไปถึงจุดสุดยอด หรือว่ามีการเปลี่ยนคอร์ดที่สร้างอารมณ์ได้สุดๆ สมองของเราจะรับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ แล้วหลั่งโดพามีนออกมา อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เราเริ่มสูญเสียความรู้สึกพึงพอใจกับเพลงแบบเดิมๆ ไปเพราะว่า เราไปตีกรอบเรื่องดนตรีให้กับตัวเองแคบลงนั่นเอง
ซึ่งหากพูดง่ายๆ ก็คือ เราอาจจะไม่ ‘เปิดใจ’ ยอมรับมากพอนั่นเอง
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง 30 ไม่แจ๋ว เมื่อผลการวิจัยพบว่า เราเลิกฟังเพลงใหม่ตอน 30 คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 13-14 มิถุนายน 2561
อ่านเแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่านได้ที่ www.sadaos.com และทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด่วยกดไลค์เพจ www.facebook.com/Sadaos
ดนตรีแนวไหนที่มีการเติบโตมากที่สุดในปี 2018 หาคำตอบได้ที่เรื่องนี้ >> https://www.blockdit.com/articles/5cd14b5411ccb33f19c2c672
โฆษณา