23 พ.ค. 2019 เวลา 00:03 • การศึกษา
"เสียดายก่อนแต่งไม่ได้อ่าน แต่งแล้ว (เงิน)ไปไหน !?"
วิถีพ่อบ้านใจกล้า
การแต่งงาน คือ การที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงครอบครัวของทั้งสองฝ่ายที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
การแต่งงาน จะมีผลผูกพันตามกฎหมายก็ต่อเมื่อ ชายและหญิงจะจดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น
การเข้าพิธีแต่งงานใด ๆ แม้จะทำถูกต้องตามจารีตประเพณี แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็ไม่ถือว่าเป็นการแต่งงานโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลผูกพันในเรื่องทรัพย์สินและสิทธิต่างๆ ระหว่างสามี ภรรยา เช่น สิทธิในการรับมรดก, สิทธิการเรียกร้องค่าเสียหาย กรณีถูกทำละเมิด เป็นต้น
เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว ทรัพย์สินของชายและหญิง จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ สินส่วนตัว และสินสมรส
สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่ชายหรือหญิงต่างเป็นเจ้าของ (ของใครของมัน) ซึ่งได้แก่ทรัพย์สินที่
1.มีอยู่ก่อนแต่งงาน
2.เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องประดับตามฐานะ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับประกอบอาชีพ
3. ได้มาระหว่างแต่งงาน โดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา
4. ที่เป็นของหมั้น
สินส่วนตัว แม้จะขาย แลกเปลี่ยน หรือซื้อทรัพย์สินอื่น หรือถูกทำลายและได้เงินหรือทรัพย์สินอื่นชดใช้มา ทรัพย์สินนั้น ๆ ก็ยังคงเป็นสินส่วนตัว
ส่วนสินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ชายและหญิงต่างมีส่วนคนละครึ่งหนึ่งในทรัพย์สินนั้น ซึ่งสินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สินที่
1. ได้มาระหว่างแต่งงาน เช่น เงินเดือน เงินจากการขายของ รับจ้าง ไม่ว่าฝ่ายใดจะหามาได้เท่าไหร่ อีกฝ่ายก็จะมีส่วนในทรัพย์สินดังกล่าว ถึงไม่มีส่วนในการหามาเลยก็ตาม
2. ได้มาระหว่างแต่งงาน โดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือ โดยระบุให้เป็นสินสมรส
3. ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว เช่น ชายมีตึกแถวเป็นสินส่วนตัว หลังแต่งงานได้นำมาปล่อยเช่า ค่าเช่าถือว่าเป็นสินสมรส
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขเหล่านี้สามารถทำข้อตกลงยกเว้นได้
โดยก่อนแต่งงาน ชายและหญิงต้องทำสัญญาก่อนสมรสเพื่อกำหนดวิธีจัดการทรัพย์สิน
เช่น อาจตกลงให้ทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายต่างหามาได้ระหว่างแต่งงาน เป็นของคนที่หาได้ (ไม่เป็นสินสมรส) เป็นต้น.
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา