27 พ.ค. 2019 เวลา 09:27 • สุขภาพ
งูเห่ากัด...ต้องทำอย่างไร?
งูเห่าที่ผมจะพูดถึงวันนี้ ไม่ใช่ชาวนากับงูเห่า หรืองูเห่าในสภานะครับ แต่หมายถึงงูเห่าในโลกจริง ที่มีตัวยาวๆและมีพิษนั่นล่ะครับ
เมื่อพูดพิษของงูนั้น มันก็เป็นพิษที่น่าหวาดกลัวที่สุดในสายตาของคนส่วนใหญ่ จนทำให้สัตว์ที่เป็นเจ้าของพิษตัวนี้ถูกยกให้เป็นสัตว์อันตรายขนาดที่ว่าใครเห็นพวกมันก็ต้องวิ่งหนีกันไม่คิดชีวิตเลยทีเดียว โดยไม่สนว่ามันจะเป็นงูน้อย งูน่ารัก หรืองูยักษ์ก็ตาม
แต่พวกคุณเคยสงสัยไหม ว่าจริงๆแล้วพิษงูนั้นทำอะไรได้บ้าง
เอาล่ะ มาทำความรู้จักกับพิษงูเหล่านี้และวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นกันดีกว่าครับ...
งูเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีหลายสปีชี่ย์มาก โดยกว่า 3000 สปีชี่ย์ของพวกมันนั้นมีงูที่เป็นพิษอยู่ราวๆ 250 สปีชี่ย์ ซึ่งส่วนใหญ่งูพวกนี้ก็จะอาศัยอยู่ในเขตร้อนแบบประเทศไทยนี่ล่ะ งูพิษจำนวนมากเหล่านี้ไม่ได้มีพิษสะเปะสะปะมากมายเต็มไปหมด แต่พิษของพวกมันนั้นสามารถแบ่งได้เป็นเพียง 3 ประเภทหลักๆเท่านั้น ซึ่งก็คือ...
1.พิษต่อระบบประสาท
พิษชนิดนี้จะไปทำให้ระบบประสาทสั่งการการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายผิดปกติไป ทำให้กล้ามเนื้อไม่ทำงาน แขนขาอ่อนแรง ลิ้นเเข็งพูดไม่ชัด โดยภาวะที่อันตรายที่สุดก็คือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจไม่ทำงาน ทำให้หายใจไม่ได้จนเสียชีวิตไปอย่างเงียบๆ
โดยงูที่มีพิษนี้และพบได้บ่อยในประเทศไทยก็คือ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา
2.พิษต่อเลือด
เวลาที่พวกคุณมีบาดแผลเลือดออก เพียงสักพักเดียวเลือดพวกนั้นก็จะเเข็งตัวใช่มั๊ยล่ะครับ เพราะในเลือดของพวกเรามีเกร็ดเลือด และระบบเตือนภัยที่คอยบอกให้เกร็ดเลือดพวกนี้มารวมตัวกันในยามที่มีภาวะเลือดออก ซึ่งพิษของงูชนิดนี้มันจะไปทำลายระบบเตือนภัยนี้นั่นเอง จึงทำให้เลือดแข็งตัวได้ยากและมีเลือดออกคั่งบวมบริเวณที่โดนกัด และในกรณีที่รุนแรงมากๆอาจถึงขั้นที่ว่าเลือดไหลออกมาเองดื้อๆเลย เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ทำให้เสียเลือดจนช็อกได้ และที่น่ากลัวอีกอย่างก็คือเลือดออกในสมอง ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
โดยงูที่มีพิษนี้และพบได้บ่อยในประเทศไทยก็คือ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ
3.พิษต่อกล้ามเนื้อ
พิษชนิดนี้จะเข้าไปทำลายเซลล์กล้ามเนื้อโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยปวดเมื่อยอ่อนเพลียทั่วร่างกาย แต่อันตรายจริงๆของพิษนี้นั้นเกิดจาก”สาร”ที่เกิดจากการสลายกล้ามเนื้อ โดยปกติแล้วมันก็ไม่มีอันตรายใดๆ แต่การที่มีสารเหล่านี้ทะลักออกมาปริมาณมากๆพร้อมกันนั้น จะทำให้เกิดพิษต่อไตจนทำให้ไตวายได้ ซึ่งงูที่พบบ่อยๆก็คือ งูทะเล
1
จะเห็นได้ว่างูแต่ละชนิดที่พิษที่อันตรายแตกต่างกัน ดังนั้นการรักษาจะถูกต้องที่สุดก็ต่อเมื่อผู้ป่วยรู้ว่าโดนงูอะไรกัดมา ไม่ถึงขนาดต้องรู้ชนิดงู แต่รู้ว่างูมีลักษณะอย่างไรก็เพียงพอ เช่น สี ลายตัว ลักษณะหาง แม่เบี้ย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่าผู้ป่วยมักจำไม่ได้ ส่วนใหญ่ไม่เห็นตัวมันเลยด้วยซ้ำไป บางคนไม่รู้ว่ากระทั่งเป็นงูหรือป่าว แต่อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแพทย์ก้สามารถดูแลได้แม้ไม่ทราบชนิดงู
1
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นระหว่างมาโรงพยาบาลนั้น ควรล้างแผลให้สะอาดเหมือนแผลทั่วๆไป วางอวัยวะส่วนที่โดนกัดไว้นิ่งๆในระดับต่ำกว่าหัวใจหรือหน้าอก เพื่อให้พิษไหลขึ้นมาได้น้อยลง
สำหรับความเชื่อผิดๆที่ไม่ควรทำก็คือ การทำขันชะเนาะ และการกรีด ดูด บีบเค้น จี้ไฟ หรือใช้สมุนไพรพอกบริเวณแผล การทำแบบนี้อาจทำให้เนื้อตายและติดเชื้อมากขึ้น
1
การรักษาที่โรงพยาบาลโดยทั่วไปนั้นก็คือการสังเกตุอาการ ถ้าเกิดมีอาการรุนแรงขึ้นมาก็จะให้”เซรุ่มต้านพิษงู” ซึ่งเซรุ่มนี้จะไปดักจับพิษงูที่ไหลอยู่ในกระเเสเลือดโดยตรง
สุดท้ายนี้ ช่วงนี้ก็กำลังเข้าสู่ฤดูฝนแล้วนะครับ เป็นช่วงที่อาจเจองูออกมาเพ่นพ่านได้บ่อยขึ้น ควรระวังตัวเป็นพิเศษ โดยส่วนใหญ่การถูกงูพิษกัดนั้นสามารถรักษาให้หายได้ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้นเมื่อถูกงูกัดก็ขอให้ตั้งสติให้ดี พยายามสังเกตุลักษณะงูเท่าที่เป็นไปได้ ปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง แล้วรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดนะครับ...
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
Blockdit : Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
โฆษณา