4 มิ.ย. 2019 เวลา 03:04 • ประวัติศาสตร์
“งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (The Boston tea party) น้ำชาสร้างอเมริกา” ตอนที่ 2
การเอารัดเอาเปรียบของอังกฤษ
รัฐสภาซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมายในสหราชอาณาจักร ไม่มีสมาชิกรัฐสภาเป็นชาวอาณานิคมเลย
จนในปีค.ศ.1765 (พ.ศ.2308) รัฐสภาก็ได้ออกพระราชบัญญัติอากรสแตมป์ (The Stamp Act) เพื่อเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐอเมริกา
พระราชบัญญัตินี้ทำให้ทุกอย่างที่เป็นกระดาษในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ เอกสารต่างๆ แม้กระทั่งไพ่ ก็ต้องติดสแตมป์และเสียภาษี
ชาวอาณานิคมไม่พอใจเป็นอย่างมาก พวกเขาไม่มีตัวแทนอยู่ในรัฐสภาที่อังกฤษเลย จึงเป็นการไม่ยุติธรรมหากอังกฤษจะออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีพวกเขา
เกิดการจลาจลต่อต้านพระราชบัญญัติอากรแสตมป์อย่างรุนแรง ผู้คนต่างโยนสแตมป์ไปทั่วและเผาสแตมป์กลางเมือง รวมถึงเกือบจะพังบ้านของ “โทมัส ฮัตชินสัน (Thomas Hutchinson)” ข้าหลวงอังกฤษประจำรัฐแมสซาชูเซตส์
โทมัส ฮัตชินสัน (Thomas Hutchinson)
ในช่วงแรก ฮัตชินสันพยายามจะเจรจากับชาวอาณานิคมด้วยเหตุผลดีๆ แต่เมื่อเขาเปิดเผยตนว่าเขานั้นเห็นด้วยกับกฎหมายของสหราชอาณาจักร ก็ยิ่งทำให้ชาวอาณานิคมรังเกียจเขามากและยิ่งก่อความรุนแรง
เมื่อรัฐสภาอังกฤษเห็นว่าชาวอาณานิคมต่อต้านอย่างหนัก จึงตัดสินใจยกเลิกพระราชบัญญัติอากรสแตมป์ ทำให้ชาวอาณานิคมต่างยินดีเป็นอย่างมาก
แต่ถามว่าสหราชอาณาจักรล้มเลิกความคิดที่จะเก็บภาษีจากชาวอาณานิคมมั้ย? ไม่อย่างแน่นอน สหราชอาณาจักรได้ออกกฎหมายทาวน์เซนด์ (The Townshend Acts) ในปีค.ศ.1767 (พ.ศ.2310) ซึ่งทำให้สินค้าทุกอย่างที่นำเข้ามาในอเมริกาต้องถูกเก็บภาษีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ กระจก ใบชา
ชาวอาณานิคมกลับมาไม่พอใจอังกฤษหนักกว่าเดิม หนึ่งในชาวบอสตันที่ไม่พอใจอย่างรุนแรงคือ “ซามูเอล อดัมส์ (Samuel Adams)”
ซามูเอล อดัมส์ (Samuel Adams)
ซามูเอลเป็นหนึ่งในคนที่เรียกร้องให้อเมริกาแยกตัวออกจากอังกฤษ ทำให้เขาเป็นที่หมายหัวจากทางการอังกฤษ
พ่อของซามูเอลเคยเป็นเจ้าของโรงเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในบอสตัน แต่ภายหลังล้มละลาย ต้องสูญเงินทั้งหมด
ซามูเอลได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยิ่งเรียนก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกโกรธแค้นพวกอังกฤษ แต่ต้องเก็บไว้ในใจ ไม่กล้าแสดงออก เนื่องจากหากเขาแสดงออกมากเกินไป จะกลายเป็นกบฎทันที
โทษของกบฎคือความตาย
ซามูเอลจะทำอย่างไรต่อไป เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อ รอติดตามต่อในตอนหน้านะครับ
โฆษณา