20 มิ.ย. 2019 เวลา 02:30 • สุขภาพ
ทำไมยาแก้อักเสบถึงกัดกระเพาะ?
ยาแก้อักเสบเป็นหนึ่งในยาที่คนทั่วไปใช้กันบ่อยมากที่สุด
ยาแก้อักเสบนั้น พูดง่ายๆมันก็คือยาแก้ปวดนั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อนะครับ ยาแก้อักเสบคือยาที่ช่วยลดอาการอักเสบซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการปวด
ก่อนอื่นผมต้องเล่าให้ทุกคนเข้าใจอย่างนี้กันก่อนครับ การอักเสบคือกระบวนการที่ร่างกายต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเชื้อโรค วัตถุภายนอก ผลึกเก๊าท์ เซลล์ตัวเราเองที่บาดเจ็บมากๆ เป็นต้น ซึ่งการต่อสู้เหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่ดีมากๆครับ เป็นกระบวนการที่ขาดไปไม่ได้เลย แต่การต่อสู้กันระหว่างเม็ดเลือดขาวและสิ่งแปลกปลอมนั้นย่อมทำให้เกิดความเสียหายต่อบริเวณรอบๆ เหมือนการทำสงครามที่ย่อมทำให้บ้านเมืองเสียหาย แต่ในร่างกายนั้น จะทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน หรือที่เรียกรวมๆกันว่า”การอักเสบ”นั่นเอง
สำหรับประเด็นที่ทำให้การอักเสบนั้นเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารของเราก็คือ กระบวนการและขั้นตอนของการอักเสบที่ผมพูดถึงนี้ ความจริงแล้ว กระบวนการแบบนี้มีขั้นตอนคล้ายๆกับ”กระบวนการสร้างเมือกในกระพาะอาหาร”ของเรา หรือจะเรียกว่าเหมือนกันเลยก็ว่าได้นะครับ ดังนั้นยาแก้อักเสบที่ไปยับยั้งกระบวนการอักเสบ มันจึงไปยับยั้งกระบวนการสร้างเมือกในกระเพาะอาหารด้วยนั่นเอง
ตามปกติเเล้ว อย่างที่หลายๆคนทราบกันดี กระเพาะอาหารของพวกเรานั้นจะมีสภาพเป็นกรดครับ เพื่อให้สภาพเเวดล้อมเหมาะกับการย่อยอาหาร แต่พวกคุณเคยสงสัยกันไหม ว่าทำไมกระเพาะอาหารของเราถึงไม่โดนกรดย่อยไปด้วยล่ะ ทำไมมันถึงทนต่อสภาพกรดแบบนี้ได้ ซึ่งก็ต้องบอกว่าเอาจริงๆแล้ว ไม่มีอวัยวะใดๆที่ทนต่อสภาพกรดแบบนี้ได้หรอกครับ ดังนั้นธรรมชาติจึงได้สร้างให้กระเพาะอาหารของพวกเรามีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง นั่นก็คือกระเพาะอาหารสามารถสร้างเมือกขึ้นมาเคลือบผนังของตัวเองได้ เพื่อไม่ให้โดนกรดที่ตัวเองสร้างนั้นย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง
ดังนั้นเมื่อกระเพาะอาหารถูกยาแก้อักเสบยับยั้งการสร้างเมือกเเล้ว มันจึงทำให้กระเพาะอาหารไม่มีสิ่งใดไว้คอยป้องกันการย่อยตัวเองได้อีกต่อไป ทำให้คนที่ใช้ยาแก้อักเสบอย่างต่อเนื่องนั้นอาจมีอาการระคายเคืองกระเพาะอาหารจนมีอาการแสบร้อนใต้ลิ้นปี่ได้ หรือถ้าเป็นมากขึ้นหน่อยก็อาจมีแผลในกระเพาะอาหารจริงๆ และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา เช่น มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือมีกระเพาะอาหารทะลุก็ได้เช่นกัน
ซึ่งผลข้างเคียงของยาแก้อักเสบเหล่านี้ ก็ต้องบอกว่าเกิดขึ้นไม่ใช่น้อยๆนะครับ โดยมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นได้จนถึง 10 เท่าได้เลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับชนิดยาแก้อักเสบ หลายๆการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยปวดแสบใต้ลิ้นปี่ได้ถึงครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ยาทั้งหมดด้วยซ้ำไป ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานๆ ก็อาจกลายเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้
ผลข้างเคียงจากยาแก้อักเสบเหล่านี้นั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ใช้ยาทุกคน แต่ก็จะมีผู้ป่วยบางกลุ่มนะครับ ที่จะเสี่ยงมากกว่าคนทั่วๆไป ได้แก่ คนที่เคยมีแผลในกระเพาะอาหารแล้ว คนที่ใช้ยาแก้ปวดบ่อยๆหรือเกินขนาด คนที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาที่มีสเตียรอยด์ และผู้สูงอายุทั่วไป คนเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้อักเสบให้มากที่สุด ถ้าต้องการใช้ก็ควรไปปรึกษาหมอเสียก่อนนะครับ เพราะการใช้ยาแก้อักเสบเองโดยที่ไม่มีความรู้อาจทำให้เกิดข้างเคียงร้ายแรงได้
ทีนี้มาดูกันดีกว่าครับ ว่าพวกเราจะใช้ยาแก้อักเสบให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นได้อย่างไร
ก่อนอื่นก็ต้องขอพูดถึงชนิดของยาแก้อักเสบหรือยาแก้ปวดให้เข้าใจกันเสียก่อน โดยยาแก้อักเสบที่พวกเราใช้กันอยู่บ่อยๆนั้นมีอยู่ 2 ชนิดครับ ชนิดเเรกก็คือพาราเซตามอลยาที่พวกเราตุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กๆนั่นเอง ซึ่งเจ้าพารานี้ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องกัดกระเพาะหรอกครับ แต่ผลข้างเคียงนี้เป็นของยาแก้อักเสบอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเราเรียกรวมๆว่า “เอ็นเสด(NSAIDs)”ครับ ยาแก้อักเสบ 2 ชนิดนี้มีขายตามร้านขายยาหาซื้อได้ทั่วไป
ยากลุ่มเอ็นเสดนี้ผมต้องบอกว่ามันมีหลายตัวมากๆครับ ที่คนทั่วไปคุ้นหูกัน ก็อย่างเช่น ไอบูโพรเฟ่น(Ibuprofen) ไดโครฟีแนค(Diclofenac) Ponstan(พอนสเเตน) เป็นต้น ยากลุ่มนี้เป็นยาที่นิยมใช้กันเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีฤทธิ์ที่แรงกว่าพาราเซตามอล ลดอาการปวดได้มากกว่า แต่ความจริงแล้วก็ไม่เสมอไป อาการปวดบางประเภทนั้นแค่พาราเซตามอลก็เอาอยู่แล้ว
ดังนั้นถ้าอาการปวดไม่ได้มากมายและต้องรีบบรรเทาอาการอย่างเร่งด่วน หมอส่วนใหญ่ก็จะสนับสนุนให้ใช้พาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวดอันดับแรกครับ เพราะถ้าใช้อย่างถูกต้องแล้วเนี่ย ก็จะมีความปลอดภัยที่สูงมากๆเลยทีเดียว แต่ก็อย่างว่านะครับ เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่เริ่มไม่เห็นคุณค่าของพาราเซตามอลไปเสียแล้ว ใครมีอาการปวดก็มักใจร้อน อยากได้ยาแรงๆ จะได้หายเร็วๆ ซึ่งถ้าใช้ระยะสั้นเพียงไม่กี่วัน และไม่มีความเสี่ยงใดๆ ก็มักไม่เกิดปัญหาใดๆ
แต่สำหรับคนที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติอย่างที่ได้บอกไป หรือจะใช้ยาแก้ปวดในระยะยาว ก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งถ้าต้องการใช้ยากลุ่มนี้จริงๆ ก็จำเป็นต้องปรึกษาหมอก่อน ซึ่งโดยปกติหมอก็จะสั่งยาลดกรดในกระเพาะอาหารให้กินตอนเช้าก่อนอาหารวันละครั้งควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป หรือไม่ก็อาจเลือกยาแก้อักเสบกลุ่มอื่นๆให้ใช้แทน
เอาล่ะ ย่อหน้านี้สำคัญนะครับ โดยทั่วไปแล้วนั้น หลักการทั่วไปในการใช้ยาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสดก็คือ ไม่ควรกินตอนท้องว่างครับ ควรกินหลังอาหารหรือกินพร้อมๆกับยาเคลือบกระเพาะ ไม่ใช้ยาเกินจำนวนที่แนะนำบนกล่องหรือซอง และควรลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยาแก้อักเสบกลุ่มนี้มีหลายชนิดมากอย่างที่บอกไป ซึ่งต้องเลือกใช้เพียง 1 ชนิดเท่านั้น ห้ามใช้หลายชนิดพร้อมกัน ยกเว้นพาราเซตามอลที่สามารถใช้ร่วมกับยาแก้อักเสบอื่นๆได้ และมักได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย
จริงๆแล้วมันก็มียาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสดรุ่นใหม่ๆที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารเหมือนกันนะครับ เช่น เซเลเบล็ค(Celebrex) อาร์ค็อกเซีย(Arcoxia) เป็นต้น ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีมากทางหนึ่งนะครับ แต่ก็จะมีราคาที่แพงขึ้นมากๆ และที่สำคัญ ยากลุ่มนี้จะมีข้อห้ามก็คือไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย
แล้วก็ผมขอแถมนิดนึงว่า ถ้าคุณเป็นโรคไต คุณไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสดนี้ใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใดๆ เพราะมันอาจทำให้ไตของคุณวายได้
ดังนั้น ผมขอสรุปว่ายาแก้อักเสบนั้นเป็นยาที่คนทั่วไปใช้ได้ครับ แต่ควรใช้อย่างถูกต้อง และสำหรับคนที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติอยู่แล้ว ก็ควรปรึกษาหมอก่อนใช้ยา นอกจากนี้ใครที่มีปัญหาที่ต้องใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบอยู่บ่อยๆ ผมขอแนะนำว่าอย่าซื้อยารักษาเองดีกว่า เพราะการใช้ยาแก้ปวด ก็เป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น ถ้าไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ ก็อาจต้องกินยาแก้ปวดไปตลอดชีวิต ซึ่งต้นเหตุของอาการปวดหลายๆชนิดนั้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรืออาจต้องใช้ยาแก้ปวดที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้นถึงจะรักษาได้
บางทีการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลก็อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาให้รักษาอีกมากมาย บางทีการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อก็อาจเป็นสาเหตุให้ต้องใช้ยาอื่นๆเพิ่มขึ้นอีกมากมาย บางทีเราอาจไม่รู้หรอก ว่ายาที่เรากินเข้าไปนั้น มันเข้าไปรักษา...หรือไปทำลาย...ร่างกายของคุณ
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
Blockdit : Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
โฆษณา