1 ก.ค. 2019 เวลา 01:23 • ประวัติศาสตร์
จากยอดเขาทุ่งสูง
สู่ยอดหญ้าที่หน้าบ้านของเรา
กลมกลืนกับชีวิตที่ลิขิตได้ด้วยตัวเอง
1
มีน้ำหนักของความทุกข์วางไว้อย่างล่องหนบนบ่าผู้คนมากมาย แท้แล้วคือน้ำหนักของความคาดหวัง ซึ่งหลายครั้งเป็นความคาดหวังจากตัวเราเอง
2
เราไม่เคยดีพอ เมื่อเทียบกับคนที่เก่งกว่า เราไม่เคยดีพอ เมื่อเทียบกับตัวเองที่เราอยากเป็น เราไม่เคยดีพอ เมื่อมองย้อนกลับไปถึงข้อพลาดในอดีต หรือโชคชะตาที่ทำร้ายให้เป็นแผลในใจแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไข
3
เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการก้าวไปข้างหน้า ไขว่คว้าขึ้นข้างบน โดยเชื่อว่า 'ตรงนั้น' จะมีความพึงพอใจรออยู่
4
สำหรับคนจำนวนหนึ่ง เวลาจึงถูกถมทับด้วยภารกิจจนไม่มีเวลาว่าง คุณค่าคือการใช้เวลาให้เต็มแม็กซ์ ยิ่งมีประสิทธิภาพ เรายิ่งมีค่า
5
สำหรับคนอีกจำนวนหนึ่ง อาจรู้สึกผิดกับตัวเองตลอดเวลา เมื่อปล่อยให้ชีวิตมีเวลาว่างมากเกินไป เนิ่นนานไปอาจถึงขั้นรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และไม่มีความหมาย
6
คลิปสัมภาษณ์วอร์เรน บัฟฟ์เฟต มหาเศรษฐีเบอร์ต้นของโลกพูดถึงเวลาว่า "ผมมีเงินพอที่จะซื้อทุกอย่างได้ แต่ผมซื้อเวลาเพิ่มไม่ได้" เขาจึงไม่ทำตัวยุ่ง และแบ่งเวลาเพื่อการอ่านและพักผ่อนไว้อย่างมากพอเสมอ คลิปนั้นชื่อ Busy is the new stupid.
7
แอนน์ มอร์โรว ลินด์เบิร์กห์ เขียนไว้ใน 'Gift from the Sea' ว่า "วิถีชีวิตริมชายหาดบอกกับฉันว่า ความน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ความมากเพียงไรที่ชีวิตต้องการ และคอยตั้งคำถามว่า นั่นจำเป็นด้วยหรือ"
8
อิสระมีน้ำหนักเบา นั่นย่อมหมายถึงการไม่แบกรับความคาดหวังเกินจำเป็น อิสระจากความคาดหวังของคนอื่น รวมถึงของตัวเอง
9
เราเฝ้าถามตัวเองตลอดเวลาว่า 'ฉันยังทำอะไรได้อีก' เราชื่นชมซูเปอร์แมน เรารังเกียจคนนอนเฉยๆ เราถมทับช่องว่างที่มีในชีวิตให้เต็มเอี้ยด และบางที...ล้นทะลัก
10
เวลาว่างทำให้เราดื่มด่ำกับสิ่งต่างๆ ได้ลึกซึ้งและเต็มอิ่มขึ้น
11
มีน้ำส้มตรงหน้าหนึ่งแก้ว คุณรีบดื่มให้หมด เพราะจะได้ไปดื่มมะม่วงปั่นแก้วที่ตั้งตรงนั้น แล้วรีบดื่มอีก เพราะมีแตงโมปั่นรออยู่ มองไปบนโต๊ะตัวยาวของชีวิต ยังมีน้ำอีกหลายรสชาติที่ตั้งรอคุณอยู่ คุณอยากดื่มมันทั้งหมด และเชื่อว่า เราเกิดมาเพื่อดื่มน้ำบนโต๊ะนี้ให้มากที่สุด
12
ถ้าเราดื่มน้ำน้อยชนิดลง น้ำส้มแก้วนั้นอาจอร่อยกว่าเดิม เพราะเราดื่มมันอย่างใส่ใจ เมื่อนั้นเราอาจพบว่า เราไม่ได้ต้องการดื่มน้ำทุกชนิดหรอก, เราอยากได้อีก เพราะไม่เคยพอใจกับสิ่งตรงหน้า
13
คำถามอาจไม่ใช่ว่า ทำอย่างไรจึง 'ทำเพิ่มได้' หากคือ 'เราต้องทำเพิ่มอีกเพราะอะไร' แน่นอน ถ้าคำตอบคือ-เพราะความจำเป็นของชีวิต ย่อมต้องทำ แต่ถ้าไม่ใช่ อาจแปลว่า เรากำลังวิ่งไล่ดื่มน้ำสารพัดชนิดบนโต๊ะยาวไม่รู้จบ
14
ไม่ใช่ 'มากแค่ไหนจึงพอ' หากคือ 'น้อยแค่ไหนจึงพอ' มิได้หมายถึงทรัพย์สมบัติ หากยังหมายถึงความคาดหวังกับตัวเองที่เราเพิ่มความทุกข์ไว้บนบ่าโดยไม่จำเป็น
15
เวลาที่มอบให้ตัวเองอย่างสงบเงียบ ต่างจากเวลาที่ใช้ไปกับการทำในสิ่งมากมายเพื่อให้คนอื่นยอมรับ ความต่างคือ แบบแรกเป็นความสุขใจภายใน แบบหลังคือภายนอก
16
มีเพียงการหันมอง 'สิ่งที่มี' และเห็นค่าของมัน ที่จะทำให้เรากลมกลืนกับชีวิตตัวเอง เราอาจไม่ต้องทำมากกว่านี้ เก่งกว่านี้ สำเร็จกว่า กระทั่งมีความสุขกว่านี้ เมื่อเราเห็นค่าของชีวิตที่เป็นอยู่ของตัวเอง ณ ปัจจุบัน
17
'น้อยแค่ไหนจึงพอ' เป็นคำถามเพื่อวาง ละ ตัดทิ้ง รวมถึงชื่นชมสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว
18
ความรู้สึกว่า 'เราดีพอ' เกิดจากการเห็นค่าของตัวเอง การวิ่งไล่ไขว่คว้ายิ่งทำให้รู้สึกแปลกแยกกับชีวิตปัจจุบัน
19
การให้เวลากับการมองชีวิตคนอื่นมากกว่าตัวเอง ทำให้ความกลมกลืนกับตัวเองหายไป และบ่อยครั้ง นั่นคือน้ำหนักของความทุกข์
20
และใครเลยจะรู้, คนที่เรามองเห็นว่าเขาน่าจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก ลึกๆ แล้วเขาอาจว่างเปล่าภายในไม่ต่างจากคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า เพียงแค่เขาถมช่องว่างนั้นด้วยการทำให้มากขึ้นเรื่อยๆ
21
แต่ก็นั่นแหละ, สุดท้ายชีวิตจะหาวิธีกลมกลืนกับตัวเองเจอจนได้, ถ้าเราไม่ป่วยไข้ไปเสียก่อน
โฆษณา