2 ก.ค. 2019 เวลา 03:47 • กีฬา
แต่ละตลาดซื้อ-ขายผู้เล่น แฟนบอลลิเวอร์พูลคุ้นชินชื่อไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส ในการปิดดีลต่างๆ แต่ละดีลที่สำเร็จลุล่วงไปนั้นนอกจากเอ็ดเวิร์ดสแล้ว ยังมีผู้ช่วยมือดีที่ทำงานเป็นเหมือนเบื้องหลัง และทั้งคู่ก็รู้จักกันก่อนที่จะได้มาทำงานด้วยกันที่ลิเวอร์พูล
เอียน เกรแฮม (Ian Graham) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของลิเวอร์พูล ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยเอ็ดเวิร์ดส เมื่อปี 2012
นิวยอร์ค ไทม์ส จากสหรัฐ ได้อธิบายการทำงานของแกรม ได้น่าสนใจมาก นักเตะอย่าง ฟิลิปเป้ คูตินโญ่, นาบี้ เกอิต้า, โม ซาลาห์ ล้วนแต่มาจากการกลั่นกรองโดยโมเดลการวิเคราะห์ของเกรแฮม
👨‍🏫 จุดเริ่มต้นมันสมอง
3 สัปดาห์หลังจากเจอร์เก้น คล็อปป์ เข้ามาทำงานกับลิเวอร์พูล เกรแฮมตั้งใจเดินทางมาถึงออฟฟิศสโมสรเพื่อต้องการอธิบายอะไรบางอย่างแก่กุนซือป้ายแดง ซึ่งตอนนั้นทั้งคู่ยังไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน และเกรแฮม ก็หวังว่าเพื่อนใหม่รายนี้จะเข้าใจในสิ่งที่เขาทำเพื่อให้สิ่งนั้นใช้งานได้จริง
เกรแฮม กางกระดาษข้อมูลวางลงบนโต๊ะ แล้วเริ่มพูดถึงเกมนัดที่โบรุสเซียร์ ดอร์ทมุนด์สมัยที่คล็อปป์เป็นเทรนเนอร์พบกับไมนซ์ เกรแฮมตั้งข้อสงสัยว่าดอร์ทมุนด์ มีโอกาสมากมายในเกมนั้นแต่ทำไมถึงแพ้ไป 0-2 จากนั้นเกรแฮมก็เริ่มอธิบายว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร
เกมนั้นดอร์ทมุนด์มีโอกาสถึง 19 ครั้ง มากกว่าไมนซ์ถึง 9 หน สถิติทุกอย่างดีกว่าหมด ทั้งเรื่องครองบอล และการเข้าทำในพื้นที่อันตราย แต่กลับเป็นฝ่ายปราชัย.. เกรแฮมให้เหตุผลว่าที่ดอร์ทมุนด์แพ้เพราะเหตุผลสองประการ คือ ในนาที 70 ดอร์ทมุนด์พลาดได้ลูกจุดโทษ และ 4 นาทีต่อมา เกิดความผิดพลาดด้วยการทำเข้าประตูตัวเอง
ในกีฬาฟุตบอล โอกาสทองการทำประตูมันสามารถส่งผลกับผลการแข่งขันได้เยอะกว่าโอกาสการทำสกอร์ของกีฬาชนิดอื่นๆ เพราะการทำประตูมันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อย่างใน พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ก็มีค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อนัดไม่ถึง 3 ลูก ดังนั้นไม่ว่าบอลมันจะพุ่งเข้าไปกองซุกก้นตาข่าย หรือหลุดจากกรอบประตูเพียงไม่กี่นิ้วมันก็สามารถส่งผลกับผลการแข่งขันได้เยอะมาก
แต่หากเอาไปเทียบกับกีฬาชนิดอื่นๆ อย่างเช่นเบสบอล โอกาสการทำโฮมรัน ต้องดูว่าการเล่นมันถูกต้องหรือมีการทำฟาวลรึเปล่า หรืออย่างเช่นการที่ตัววิ่งในอเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล จะทำเฟิร์สท์ดาวน์ได้หรือไม่
เกรแฮม ยกตัวอย่างมาให้ คล็อปป์ ดูอีก 1 เกม คือเกมกับ ฮันโนเวอร์ ที่เตะให้หลัง 1 เดือนจากเกมที่แพ้ไมนซ์.. ในนัดนั้น ดอร์ทมุนด์ ก็มีสถิติเหนือกว่าบานเบอะแต่กลับแพ้อีกครั้งด้วยสกอร์ 0-1
เกรแฮมพูดว่า "คุณแพ้ 0-1 ในเกมนั้น แต่คุณสร้างโอกาสได้มากกว่า 2 เท่า..."
ในปัจจุบันการวิเคราะห์ได้รับการยอมรับมากในหมู่กีฬาอเมริกันเกมส์ อย่าง เบสบอล และบาสเกตบอล ซึ่งมันสามารถประยุกต์ใช้ได้กับวงการฟุตบอล
ตอนที่ตำแหน่งกุนซือลิเวอร์พูลว่างลง เกรแฮม คือคนที่วิเคราะห์แล้วว่าคล็อปป์ เหมาะสมกับแนวทางของทีม ถึงแม้ผลงานล่าสุดก่อนมาลิเวอร์พูล คล็อปป์พาดอร์ทมุนด์ ได้เพียงอันดับ 7 ของตาราง แต่ผลจากการวิเคราะห์ผ่านโมเดลของเกรแฮมซึ่งวัดจากสไตล์การเล่น โอกาสเข้าทำ การพยายามทำสกอร์ ตัวเลขเหล่านี้ บอกว่า อันดับจริงๆที่ดอร์ทมุนด์ควรจะได้คือที่สองของตาราง ซึ่งบทสรุปของโมเดลนี้บอกว่า ฤดูกาลนั้นของดอร์ทมุนด์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวของคล็อปป์ เพียงเพราะโชคไม่ดีเท่านั้นที่เขาพาทีมได้อันดับอันน่าผิดหวัง
เกรแฮมจบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์เชิงทฤษฎีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เกรแฮมสร้างฐานข้อมูลของตัวเองเพื่อติดตามผู้เล่นกว่า 100,000 คนทั่วทั้งโลก ซึ่งเขาก็เป็นคนที่คอยแนะนำว่าลิเวอร์พูลควรจะซื้อใครและหากซื้อมาแล้วจะเข้ากับระบบทีมมากน้อยแค่ไหน ทุกอย่างมันล้วนมาจากโมเดลของเขานั่นเอง
⚽️💰พลังแห่ง MONEYBALL
เป็นที่ทราบดีกันดีว่า แนวทางการบริหารของ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป ไม่เน้นเรื่องการใช้เงินฟาดซื้อผู้เล่นเข้ามาเสริมทัพ หากแต่จะซื้อใครสักคนที่มีมูลค่าสูง เขาคนนั้นต้องมีดีพอและเข้ากับรูปแบบการเล่นของทีมได้
1
เกรแฮม ใช้เวลาสองปีในการเรียนปริญญาเอกที่เคมบริดจ์ แต่ก็ไม่ได้ต้องการที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ตามที่เรียนมา ดังนั้นถ้าคุณจะค้นหาสิ่งที่จะทำให้คุณเดินหน้าต่อไป เมื่อมีคนเสนองานในการวิเคราะห์และเป็นที่ปรึกษาทีมฟุตบอล เขาก็สนใจรับงานนั้นทันที และเกรแฮมก็ถูกสั่งให้ไปอ่าน"มันนี่บอล"(Moneyball)
จากหนังสือ Moneyball ของไมเคิล ลูอิสที่เขียนขึ้นจากเรื่องจริง โด่งดังจนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์และได้รับความนิยมไปทั่วโลก
มันนี่บอลเป็นเรื่องเกี่ยวกับกีฬาเบสบอล ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงของ บิลลี่ บีน ผู้จัดการทั่วไปของ โอ๊คแลนด์ แอธเลติค ทีมเบสบอลใน MLB ซึ่งในหนังแสดงโดยแบร็ด พิตต์ พระเอกชื่อดังของฮอลลีวู้ด
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้คือ หลังจากโอ๊คแลนด์ แพ้ต่อ นิวยอร์ค แยงกี้ส เมื่อปี 2001 สตาร์ผู้เล่นของโอ๊คแลนด์ต่างทยอยหนีจากทีมไปหมด เพื่อไปอยู่กับทีมที่ให้เงินเยอะกว่า ซึ่งมันทำให้เกิดช่องโหว่ในเรื่องตัวผู้เล่น ครั้นจะหาคนเข้ามาแทน ทีมก็ไม่มีเงินมากพอที่จะดึงเข้ามา
ต่อมา บีน ได้ไปเจอ ปีเตอร์ แบรนด์ นักเศรษฐศาสตร์จบใหม่(เรื่องจริงชื่อพอล เดอโปเดสต้า) ระหว่างการเจรจาไปขอเทรดตัวกับทีมหนึ่ง ซึ่งเขาประทับใจในตัวเด็กคนนี้มาก จนสุดท้ายจากตอนแรกจะเทรดผู้เล่น กลับได้แบรนด์เข้ามาร่วมทีมแทน
แบรนด์ เสนอไอเดียการทำทีมให้เหมาะสมในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับวงการเบสบอลมาก่อน โดยเขาเสนอว่าให้ทีมเลิกมองภาพลักษณ์ภายนอกของนักกีฬา แล้วให้ใช้ข้อมูลสถิติของแต่ละคนมาพิจารณา แล้วเลือกผู้เล่นจากคนที่ทีมอยากได้ในตัวของผู้เล่นแต่ละคน ซึ่งวัตถุประสงค์คือทำยังไงเพื่อให้ทีมที่มีงบน้อยสามารถสู้กับทีมบิ๊กๆที่มีเงินเยอะได้
แบรนด์ นำเอาสถิติต่างๆมาพิจารณา แล้วเลือกคนที่ใช่ที่สุดในแผนการเล่นของทีม เช่น เขาเลือกคนที่ได้ฟาวล์จากคู่แข่งมากสุดแทนที่จะเอาคนที่ตีแม่นสุด หรือเลือกคนที่มีท่าขว้างบอลแปลกสุดแทนที่คนที่ขว้างแรงสุด ดังนั้นทีมโอ๊คแลนด์ในตอนนี้เต็มไปด้วยผู้เล่นที่แปลกประหลาด
อย่างไรก็ตาม ผลงานในปี 2002 โอ๊คแลนด์ ยังมีผลงานที่ย่ำแย่หล่นเป็นบ๊วยของลีก ซึ่งเป็นเพราะโค้ชไม่ได้ทำตามแผนที่ บีน วางเอาไว้ คือไม่เอาผู้เล่นที่เหมาะสมกับทีมลงเล่น ซึ่งสุดท้าย บีน ก็ตัดสินใจโละผู้เล่นที่ไม่เข้ากับทีมออก และปล่อยตัวคาร์ลอส เปย่า ซูเปอร์สตาร์คนสุดท้ายที่เหลืออยู่ และกดดันให้โค้ชทำตามปรัชญาของเขา
ต่อมา โค้ชของโอ๊คแลนด์ ทำตามแผนที่บีนวางไว้ โดยใช้ผู้เล่นที่บีนเลือกนี่แหละลงสนาม ซึ่งมันได้ผลดีอย่างไม่น่าเชื่อ โอ๊คแลนด์ ทำสถิติชนะ 20 เกมติดต่อกัน จนเป็นสถิติของลีกในตอนนั้น
ซึ่งจากการทำทีมของบีนนี่เอง ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากวงการเบสบอล จนไปเข้าตาของ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ เจ้าของทีมบอสตัน เร้ด ซ็อกซ์เข้าอย่างจัง และเสนอค่าจ้างให้บีนถึง 12.5 ล้านเหรียญต่อปี แต่บีนเลือกที่จะปฏิเสธและทำงานต่อกับโอ๊คแลนด์ต่อไป โดยตอนจบมีฉากตัวละครของจอห์น เฮนรี่ นั่งเจรจากับบีน อีกด้วย
ตัดภาพมาที่ลิเวอร์พูลยุคก่อนที่ FSG จะเข้ามาบริหาร สถานะของทีมก็ไม่ต่างอะไรกับโอ๊คแลนด์เลย พวกเขาไม่มีเงินที่จะไปสู้กับเชลซี, แมนฯซิตี้, แมนฯยูไนเต็ด ซึ่งหลังจาก FSG เข้ามา ทีมบริหารก็ค่อยๆปูรากฐานให้มั่นคง และเริ่มจัดตั้งทีมวิเคราะห์ขึ้นมา โดยมีเอียน เกรแฮม เป็นคนจัดการเบื้องหลังผู้เล่นของทีม..
🕵️‍♀️นักเตะจากโมเดล
เชลซีคือทีมแรกที่จัดตั้งส่วนงานของการวิเคราะห์ อาร์เซน่อล ก็เป็นอีกทีมที่ลงทุนซื้อข้อมูลจากบริษัทStatDNA ทว่าผู้จัดการทีมของทั้งเชลซีและอาร์เซน่อล มองไม่เห็นว่ามันมีประโยชน์อะไรกับทีมขึ้นมา พวกเขามองว่ามันยุ่งยากเกินไปกับการที่จะต้องมาทำอะไรแบบนี้...
ช่วงปี 2008-2012 เกรแฮม เคยให้คำแนะนำแก่ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ซึ่งตอนนั้นไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส นั่งแท่นเป็นหัวหน้าทีมวิเคราะห์ อย่างไรก็ตามผู้จัดการทีมของสเปอร์สหลายคนไม่ได้สนใจคำแนะนำเขาเท่าไหร่นัก กระทั่งเอ็ดเวิร์ดสย้ายมาทำงานที่ลิเวอร์พูล เขาก็ดึงเกรแฮมมาทำงานด้วยในทีมฝ่ายวิเคราะห์(เอ็ดเวิร์ดส เริ่มทำงานกับลิเวอร์พูลในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นผอ.ฝ่ายวิเคราะห์ จากนั้นขยับเป็นผอ.ด้านเทคนิค และในปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกีฬา)
นอกเหนือจากเกรแฮมแล้ว ในห้องทำงานของเขา ยังมี ทิม วาสเก็ตต์ ที่จบสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์, ดาฟีดด์ สตีล และวิลล์ สเปียร์แมน ที่เพิ่งเข้ามาอยู่กับทีมไม่นาน
ในขณะที่ทีมอื่นๆอยากหานักวิเคราะห์เก่งๆสักคนเข้ามาทำงาน แต่ที่ลิเวอร์พูล กลับมีคนเหล่านี้ถึง 4 รายในที่เดียว
หลังเริ่มทำงานกับลิเวอร์พูลได้ไม่นาน เกรแฮม ทำการวิจัยโดยได้เป้าหมายคือ ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ ตามข้อมูลของเขายืนยันว่าคูตินโญ่ คือนักเตะที่เข้ากับลิเวอร์พูลได้ดี จากนั้นทีมก็ได้คว้าเข้ามาร่วมทีมด้วยค่าตัว 8.5 ล้านปอนด์ ซึ่งหลังจากนั้นคงไม่ต้องอธิบายอะไรมากว่าคูตี้ เคมีเข้ากับลิเวอร์พูลมากแค่ไหน และ 5 ปีหลังจากนั้น สโมสรก็ได้เงินจากค่าตัวที่ขายคูตินโญ่ แก่บาร์เซโลน่า ร่วมๆ 105 ล้านปอนด์และต่อมาลิเวอร์พูล ก็ได้นำเงินนั้นมาดึงผู้เล่นอย่างเฟอร์กิล ฟาน ไดค์, อลีสซง เบ็คเกอร์ และฟาบินโญ่ เข้ามายกระดับให้อยู่หัวแถวของเกาะอังกฤษ
นักเตะพวกนี้ก็เป็นเหมือนสินค้า ไม่มีคนไหนที่มีค่าตัวถูกเลย แต่ เฮนรี่ เคยบอกไว้ว่า ถ้าสโมสรไม่หากำไรด้วยการขายแข้งระดับ คูตินโญ่ แล้วล่ะก็.. ทีมก็คงไม่มีทางได้นักเตะชั้นยอดเหล่านี้มาร่วมทัพหรอก
ในรายของนาบี้ เกอิต้า ก็เป็นอีกคนที่เกรแฮม เป็นคนแนะนำ เริ่มแรกตอนที่เล่นกับเร้ดบูลส์ ซัลซ์บวร์ก เกอิต้า รับบทบาทกองกลางตัวรับ ยืนปักหลักอยู่หน้าแผงกองหลัง จน 5 ปีต่อมาเราได้เห็นว่าเขาเล่นได้หลากหลายมากขึ้นจากเดิมมาก สามารถขยับมาเป็นกองกลาง หรือเล่นเป็นปีกก็ได้ ซึ่งเราได้เห็นเขาเล่นตำแหน่งนี้มาบ้างในทีมของเจอร์เก้น คล็อปป์
การเปลี่ยนบทบาทของ เกอิต้า ทำให้ตัวเลขด้านผลงานที่เขาทำให้ทีมมันดูไม่ได้โดดเด่นอะไรมากเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น ในกีฬาฟุตบอลนั้น ตำแหน่งของคุณจะมีผลกับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่คุณจะวางบอลเข้าไปในกรอบเขตโทษได้ หรือแย่งบอลมาจากคู่แข่งได้มากแค่ไหน ซึ่งนั่นถือว่าต่างกับกีฬาบาสเกตบอล แต่ เกรแฮม ก็ไม่สนใจสถิติเหล่านั้นเลย พวกตัวเลขที่เขาจะสนใจอยู่นิดหน่อยมีแค่เรื่องอย่างเปอร์เซ็นต์ด้านความสำเร็จในการผ่านบอลเท่านั้น
ในทางกลับกัน สิ่งที่เขาให้ความสนใจอย่างมากคือการใช้เวลาหลายเดือนในการสร้างรูปแบบที่จะคำนวณโอกาสการทำประตูของแต่ละทีมซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเล่นแบบอื่นๆ อย่างเช่นการผ่านบอล, การยิงพลาด, การสไลด์ ฯลฯ แล้วตามด้วยการคำนวณโอกาสการทำประตูของแต่ละทีมซึ่งเกิดขึ้นหลังการเล่นแบบอื่นๆ การใช้โมเดลนี้ทำให้เขาสามารถหาได้ว่านักเตะแต่ละคนมีส่วนกับโอกาสทำประตูระหว่างเกมมากแค่ไหน จริงอยู่ว่านักเตะบางคนที่มีตัวเลขด้านสถิติต่างๆ ที่ดีจะได้อยู่ในลิสต์ลำดับต้นๆ ที่ เกรแฮม ชอบใจ แต่บางคนก็หล่นไปอยู่ลำดับท้ายๆ เหมือนกัน
เกอิต้า อาจจะมีเปอร์เซ็นต์การผ่านบอลเข้าเป้าน้อยกว่ากองกลางชั้นยอดคนอื่นๆ แต่ตัวเลขจากการคำนวณเฉพาะของ เกรแฮม แสดงให้เห็นว่า เกอิต้า มักจะพยายามผ่านบอลที่จะทำให้เพื่อนร่วมทีมอยู่ในจุดที่มีค่าเฉลี่ยด้านโอกาสในการทำประตูดีกว่าตำแหน่งอื่นๆ ถ้าเกิดเขาผ่านบอลเข้าเป้า สเกาท์อาจจะมอง เกอิต้า ว่าเป็นมิดฟิลด์สารพัดประโยชน์ แต่สิ่งที่ เกรแฮม เห็นจากโมเดลของเขาคือฟอร์มระดับสุดยอดของ เกอิต้า กองกลางชาวกินีคือคนที่สามารถทำให้บอลไปอยู่ในจุดที่เป็นประโยชน์ต่อทีมมากกว่าตำแหน่งอื่นๆ ได้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่แม้แต่คนที่นั่งดูเกมแบบใจจดใจจ่อยังอาจจะมองไม่เห็นเลย นอกจากว่าจะโดนบอกให้ดู เกมแฮม แนะนำให้ ลิเวอร์พูล พยายามคว้าตัวเขาไปร่วมทีมให้ได้ตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ก่อนที่ เกอิต้า จะมาอยู่กับ ลิเวอร์พูล เมื่อช่วงซัมเมอร์ ปีก่อน
หลายคนอาจบอกว่าโมฮาเหม็ด ซาลาห์ ล้มเหลวกับเชลซี แต่เกรแฮมกลับมองต่างว่ามันไม่ได้เป็นความล้มเหลวเลย จากการคำนวณของเกรแฮม ผลงานของซาลาห์กับเชลซีนั้นก็ไม่ต่างจากตอนที่เขาจะย้ายมาอยู่กับเชลซีหรือตอนย้ายออกจากที่นั่นเลย 500 นาทีที่เขาเล่นกับเชลซี มันเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆของจำนวนนาทีในการเล่นตลอดอาชีพ
เมื่อซาลาห์โด่งดังกับโรม่า ในกัลโช่ เซเรีย อา เกรแฮม เป็นคนแนะนำให้ลิเวอร์พูลซื้อซาลาห์มาให้ได้ ในตอนนั้นเกรแฮม มั่นใจว่าซาลาห์จะเข้ากับทีมได้แน่นอนโดยเฉพาะโรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ ที่ข้อมูลของเกรแฮมบอกว่า ฟีร์มีโน่ เป็นคนที่สร้างสรรค์โอกาสให้เพื่อนทำประตูมากกว่าที่ตัวเองจะทำประตูเอง
และหลังจบซีซั่น 2017/18 ซาลาห์ก็พังสถิติทำประตู โดยยิงไป 32 ประตูในพรีเมียร์ลีก จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของลิเวอร์พูลไปแล้ว
ทั้งหมดของโมเดลนี้คือ"ความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้น" ผลลัพธ์มันอาจไม่ตรงกับโมเดลที่ทำนายไว้เสมอไป แต่สิ่งที่งดงามเป็นการทำให้รู้ว่าสโมสรมีรูปแบบแนวทางการทำทีมที่เห็นผลเป็นรูปธรรม
#IanGraham #MoneyBall #Liverpool #LFC
Ref. New York Times, Money Ball Movie
Photo NY Times
โฆษณา