30 ก.ค. 2019 เวลา 00:19 • ปรัชญา
ความเข้าใจผิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง คือสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ได้ทรงมอบให้เราชาวไทยและชาวโลก นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต อันเป็นสิ่งมีค่าอย่างยิ่ง
ยังมีคนจำนวนมากทั้งคนไทยและต่างชาติ ไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมทำความเข้าใจให้ตรง ให้ถูกต้อง แล้วตีความผิด ๆ เอาไปเผยแพร่ บอกกล่าว นำมาซึ่งการบิดเบือนแนวทางชีวิตอันมีคุณค่า ที่พระองค์ทรงมอบไว้ให้
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญา ไม่ใช่วิธีการ หมายความว่า เป็นหลักคิด เราเอาสิ่งใดก็ได้มาเทียบเคียงตรงตามปรัชญานี้ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจพอเพียง
ทบทวนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกันก่อนจะไปต่อ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประกอบไปด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข
3 ห่วง คือ
ความพอประมาณ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
ความมีเหตุผล การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจ พิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ว่าทำแล้วจะเกิดผลเช่นไร
ความมีภูมิคุ้มกัน การเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบในทุก ๆ ด้านที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากการลงมือทำ
2 เงื่อนไข
ความรู้ เราต้องมีความรอบรู้รอบคอบ ในสิ่งที่จะลงมือทำเสมอ
คุณธรรม ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต อดทน พากเพียร และรู้จักแบ่งปัน
ส่วนความเข้าใจที่ผิดในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เคยได้ยินมาก็มีคร่าว ๆ ประมาณนี้
1. เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรเท่านั้น ความจริงแล้วไม่ใช่ เพียงแต่เราเห็นตัวอย่างหลัก ๆ ของคนที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้คือเกษตรกรต่างหาก เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรประณีต เกษตรผสมผสานวนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ ล้วนเป็นหนึ่งในวิธีการที่ใช้หลักปรัชญาพอเพียงทั้งนั้น
2. คนทั่วไป มนุษย์เงินเดือน ค้าขาย เป็นหมอ วิศวกร ไม่สามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้ อันนี้ก็ไม่ใช่อีก คนทุกสาขาอาชีพสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้หมด จะเป็นนักลงทุน นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ขอเพียงยึดหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เอาไปปรับในงานในภารกิจที่ทำ ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว
3. เศรษฐกิจพอเพียงห้ามรวย ข้อนี้ก็ไม่ตรงอีก เศรษฐกิจพอเพียงก็ร่ำรวยได้ เพราะมีขั้นต้นพึ่งตนเอง ขั้นพัฒนาคือรวมกลุ่ม และ ขั้นสูงคือค้าขายภายนอกแบบมีคุณธรรมกำกับ
ยกตัวอย่างหากเป็นบริษัทจะทำกำไรพันล้าน หมื่นล้านก็ไม่ผิด หากแต่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ธรรมาภิบาล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค พนักงาน ผู้ถือหุ้น และไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
4. เศรษฐกิจพอเพียงล้าสมัย สวนกระแสโลก ข้อนี้เห็นว่าไม่จริง กระแสหลักของโลกที่เราเห็นว่านำไปสู่การพัฒนาคือ ทุนนิยม อันที่จริงแล้ว ทุนนิยมต่างหากที่สวนกระแสหลัก เพราะสิ่งที่เป็นกระแสหลักจริง ๆ ของโลกเราคือ กระแสธรรมชาติ ซึ่งทุนนิยมนั้นทำอะไร สวนกระแสธรรมชาติ เน้นการผลิต เน้นการบริโภค เน้นการพัฒนาที่ฝืนธรรมชาติ ต้องการเอาชนะธรรมชาติ โดยใช้ความโลภหล่อเลี้ยงให้คนทำตาม แต่สุดท้ายเราก็เอาชนะธรรมชาติไม่ได้
ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินชีวิตแบบเคารพธรรมชาติ ไม่ฝืนธรรมชาติ พึ่งพิง อิงอาศัยธรรมชาติ ให้เราเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่า
4 หัวข้อหลักนี้ คือสิ่งที่ผมมองเห็นว่ายังเป็นความเข้าใจผิด จนบิดเบือน ทำให้การนำหลักปรัชญาที่มีคุณอันมหาศาลต่อโลกเราไปใช้ต้องสะดุดหยุดลง
หากคุณไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา ยังสนุกอยู่กับการวิ่งร้อยเมตรทุกวัน ก็ไม่เป็นไรนะครับ หากวันใด คุณเห็นว่าทางที่เดินมันไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง ไม่มีความสุข ก็ลองหันมาศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังดูก็ได้นะครับ
ไม่มีคำว่าสายเกินไป
#ขอบคุณที่กรุณาอ่านบทความครับ
โฆษณา