21 ก.ค. 2019 เวลา 07:30 • สุขภาพ
ตับเเข็ง...กับภาวะแทรกซ้อนที่มากมายจนนับไม่ไหว!
“ตับ”… อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ธรรมชาติได้สร้างให้มันมีขนาดใหญ่ และมีหน้าที่สำคัญๆมากมายเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ สมัยที่ผมเรียนหมอนั้น โรคตับแข็งถือเป็นโรคอันดับต้นๆเลยที่ต้องจำอาการและการตรวจร่างกายเยอะมากๆ เพราะเมื่อคุณขาดอวัยวะชิ้นหนึ่งที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากมายไปแล้วนั้น มันก็จะเกิดความผิดปกติต่างๆมากมายทั่วทั้งร่างกายตามมาอย่างแน่นอน
เมื่อพูดถึงตับนั้น หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของมันผมขอยกให้หน้าที่นี้เลย “การกำจัดสารพิษ”
คุณรู้ไหมครับ ว่าอาหารทุกๆมื้อที่พวกเรารับประทานเข้าไปนั้นมีพิษ เอาง่ายๆโปรตีนเนื้อสัตว์ทุกชนิดต่างเป็นพิษต่อร่างกายแทบทั้งนั้น แต่อาหารเหล่านี้เมื่อถูกย่อยในลำไส้แล้วถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ก่อนที่มันจะไหลไปทั่วทั้งร่างกาย ธรรมชาติก็ได้สร้างตับขึ้นมา เพื่อตรวจคัดกรองสารต่างๆที่อยู่ในกระเเสเลือดนั้นก่อน
เลือดทั้งหมดที่มาจากลำไส้และลำเลียงสารอาหารทั้งหมดมานั้น จะต้องผ่านตับเป็นอวัยวะแรกก่อนเสมอ ตับจึงถือว่าเป็นอวัยวะหน้าด่านที่คอยเสียสละรับสารพิษต่างๆไว้กับตัวเองตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตาม มันก็มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้มากๆ และนอกจากนี้ธรรมชาติยังได้ให้ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งกับมันก็คือ “ความสามารถในการฟื้นฟูตัวเอง”
ตับเป็นอวัยวะที่มีความสามารถในการแบ่งตัวเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูตัวเองสูงมากๆ ตับที่ถูกตัดทิ้งจนเหลือเพียง 25% หรือ 1 ใน 4 นั้น สามารถแบ่งตัวกลับมาให้มีขนาดใกล้เคียงเดิมได้ ไม่มีอวัยวะใดๆในร่างกายที่สามารถทำแบบนี้ได้อย่างแน่นอน
ถึงตรงนี้หากใครกำลังคิดว่าในเมื่อตับมีความสามารถถึงขนาดนี้ มันจะเป็นโรคหรือบาดเจ็บแค่ไหนก็ได้ ไม่ต้องไปเป็นห่วงมัน คุณก็กำลังคิดผิดเสียแล้วครับ ลองจินตนาการผิวหนังที่บาดเจ็บนะครับ มันก็อาจซ่อมเเซมกลับมาเป็นดั่งเดิมได้ใช่ไหมครับ แต่ถ้ามันบาดเจ็บมากๆหรือซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลานานๆ ต่อให้มันยังสามารถซ่อมเเซมตัวเองได้ แต่มันก็มีโอกาสที่จะเกิดแผลเป็น และตับเองก็เช่นเดียวกัน เมื่อตับบาดเจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็จะเกิดแผลเป็นมากมาย ทำให้เนื้อตับเริ่มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม และนี่ก็คือที่มาของชื่อโรค”ตับแข็ง”นั่นเอง
สำหรับโรคตับที่ทำให้เกิดภาวะตับแข็งนั้นมีมากมายจนนับไม่ไหว เพราะโรคตับเรื้อรังแทบทุกชนิด จะมีการอักเสบเรื้อรังจนจะมาลงเอยที่ภาวะตับแข็งเสมอ แต่อย่างไรก็ตามในกลุ่มโรคเหล่านั้น ก็มีโรคตับอยู่ 3 โรคที่พบได้บ่อยที่สุด และที่สำคัญก็คือสามารถป้องกันได้ไม่ยาก นั่นก็คือ
1
1.ไวรัสตับอักเสบบีและซี (Viral hepatitis B, C)
ไวรัส 2 ชนิดนี้ติดต่อผ่านทางเลือด เช่น การใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น เข็ม มีดโกน แปรงสีฟัน การสัก การมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น จุดเด่นของไวรัสชนิดนี้ก็คือการติดเชื้อเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษามันก็จะทำให้ตับอักเสบไปเรื่อยๆ ทำให้ตับแข็งเป็นเหมือนสถานีต่อไปของการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ สำหรับการป้องกันนั้นก็คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ
2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic hepatitis)
แอลกอฮอล์นั้นเป็นสารที่มีพิษต่อตับ และความจริงแล้วก็เป็นพิษต่ออวัยวะอื่นๆด้วยเช่นกัน แต่ตับจะเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะแอลกอฮอล์ทุกหยดที่คุณดื่มเข้าไปนั้น จะเข้าไปเตะตับของคุณเป็นอวัยวะเเรกอยู่เสมอ เมื่อตับเสียหายมากๆก็จะเกิดพังผืดมากมาย และการป้องกันมีวิธีเดียว นั่นก็คือการดื่มให้น้อยลง หรือเลิกดื่มไปเสียเลย
3.ไขมันเกาะตับ
ภาวะไขมันเกาะตับ ทำให้ตับอักเสบเรื้อรังจนพังได้ แต่พบน้อยกว่า 2 สาเหตุแรกโดยความเสี่ยงที่ทำให้เกิดไขมันเกาะตับก็คือ ความอ้วน โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
สาเหตุเหล่านี้เป็นตัวการที่พบได้บ่อยที่สุด และสามารถป้องกันได้ แต่ถ้าคุณไม่ป้องกัน ตับก็จะเเข็งขึ้นเรื่อยๆโดยที่คุณไม่อาจรู้ตัว และอาจมารู้สึกตัวอีกทีตอนที่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆเกิดขึ้นมากมายแล้ว ทั้งภาวะแทรกซ้อนที่ตัวตับเอง และภาวะแทรกซ้อนที่ตับฉุดอวัยวะอื่นๆให้ล้มเหลวตาม
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคตับแข็งนั้น เกิดจากเลือดที่ไม่สามารถไหลผ่าน”ตับที่ตีบแข็ง”ได้ ดังนั้นเลือดทั้งหมดที่มาจากลำไส้ที่โดยปกติแล้วต้องไหลผ่านตับก่อนเพื่อกำจัดสารพิษนั้น จึงต้องหาทางออกที่เส้นเลือดเล็กๆน้อยๆเส้นอื่น ซึ่งจริงๆแล้วก็พอมีอยู่บ้างแต่ไม่ได้มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับเลือดได้ทั้งหมด และหลอดเลือดหนึ่งที่เลือดชอบลัดไปก็คือที่บริเวณ”หลอดอาหาร”
และอันดับแรกก็ขอพูดถึงภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายเฉียบพลันมากที่สุด นั่นก็คือ”เลือดออกที่หลอดอาหาร” ซึ่งเกิดจากเลือดปริมาณมากที่พยายามไหลไปทางหลอดอาหารนั้นมีมากเกินไปจนทำให้เส้นเลือดแตกออก ซึ่งเลือดออกในสถานการณ์นี้ไม่ใช่เลือดออกเเบบซึมๆธรรมดาเหมือนโรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้ทั่วไป เพราะมันคือการเลือดออกแบบทะลักทลายเหมือนเขื่อนแตกเลยทีเดียว ผู้ป่วยจะมาด้วยทั้งอาเจียนและถ่ายเป็นเลือดอย่างรุนแรง จนทำให้ช็อกเสียชีวิตได้เลยถ้ามารักษาไม่ทัน และก็ต้องบอกว่าผมเห็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้มาจำนวนแทบนับไม่ถ้วนเลยล่ะครับ
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญต่อไปก็คือ “ภาวะที่มีสารพิษตกค้างทั่วร่างกาย” เนื่องจากไม่มีตับไว้คอยกำจัดสารพิษอีกแล้ว ทำให้สมองทำงานผิดปกติ เซื่องซึม สับสน และที่เห็นได้ชัดมากๆก็คือ”ดีซ่าน” เป็นภาวะที่มีสารพิษตกค้างในผิวหนังจนมีตัวเหลืองตาเหลืองนั่นเอง
นอกจากนี้ภาวะตับแข็งยังสามารถฉุดรั้งให้ไต และหัวใจผิดปกติไปด้วยจนถึงขั้นล้มเหลวได้เช่นกัน และก็ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆอีกมากมาย เช่น เลือดแข็งตัวยาก ภาวะขาดสารอาหาร ท้องมาน เป็นต้น
และแม้ผมจะบอกว่าตับแข็งถือเป็น”สถานีร่วม”ของโรคตับเรื้อรังต่างๆ แต่มันก็ยังไม่ใช่”สถานีสุดท้าย”นะครับ เพราะสถานีสุดท้ายจริงๆของมันนั้นก็คือ”มะเร็งตับ” เพราะเซลล์ตับที่พังเป็นเวลานานนั้น อาจเป็นมะเร็งตับได้ ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากเป็นมะเร็งตับ คุณก็ต้องดูแลสุขภาพตนเองไม่ให้เป็นโรคตับแข็งด้วยเช่นกัน
สุดท้ายนี้พูดถึงการรักษา โรคตับแข็งในระยะท้ายๆนั้นถือเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ นอกจากวิธีเดียวก็คือการเปลี่ยนตับใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม โรคตับแข็งในระยะเเรกๆนั้น ยังถือว่าเป็นระยะที่ยังสามารถกลับไปเป็นปกติได้ ดังนั้นการตรวจพบโรคตับแข็งตั้งแต่เนิ่นๆจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่โรคตับในระยะเเรกๆนั้นก็มักไม่มีอาการใดๆ ทำให้ผู้ป่วยมักไม่ได้มาตรวจในระยะนี้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผลเลือดที่เป็นค่าตับนั้นสามารถบอกคุณได้ว่าตับของคุณยังทำงานปกติดีหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจเจอในระยะเนิ่นๆก็ยังไม่ใช่กุญแจที่สำคัญที่สุด เพราะต่อให้ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ พวกคุณก็ยังจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆอยู่ดี เพราะตับที่แข็งแรงในวันนี้ ไม่ได้การันตีว่าในอนาคตตับจะไม่มีปัญหาใดๆ โดยก่ีป้องกันก็คือ การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวกับเลือด, การไม่ใช้ของมีคมร่วมกัน, หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน, ลดการดื่มเหล้าสุรา, และการดูแลตัวเองไม่ให้มีโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้คือวิธีที่ง่ายๆที่จะช่วยให้คุณไม่เป็นโรคตับแข็งในอนาคต สำรวจตัวเองนะครับว่าตอนนี้คุณมีความเสี่ยงใดอยู่บ้าง และหยุดทำร้ายตับของคุณตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่ตับของคุณจะกลายเป็นเพียงก้อนแข็งๆที่ห้อยอยู่ในร่างกายคุณ
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
[R]
UpToDate(แหล่งรวมข้อมูลทางการแพทย์โดยเน้นหลักฐานที่ทันสมัย)
- Cirrhosis in adults: Etiologies, clinical manifestations, and diagnosis
- Cirrhosis in adults: Overview of complications, general management, and prognosis
- Epidemiology, clinical features, and diagnosis of nonalcoholic fatty liver disease in adults
- Pathogenesis of nonalcoholic fatty liver disease
โฆษณา