29 ก.ค. 2019 เวลา 10:00 • สุขภาพ
ไข้เเบบใด...เหมือนไข้เลือดออก?
ช่วงนี้ก็เข้าสู่ฤดูฝนกันเเล้วนะครับ แม้จะตกบ้างไม่ตกบ้างและมีพื้นที่แห้งแล้งมากมาย แต่ก็ควรระวังตัวกันเอาไว้ เพราะไม่ว่าอย่างไร นี่ก็คือฤดูแห่งการระบาดของไข้เลือดออก เนื่องจากน้ำที่ขังอยู่ทั่วทุกที่นั้น ก็คือที่วางไข่ของเหล่ายุงลาย
บางทีต่อให้คุณระวังพวกมันกัดมากแค่ไหน สุดท้ายก็ยังโดนพวกมันกัดได้อยู่ดี ซึ่งถ้าคุณโชคดี ยุงลายตัวนั้นก็อาจไม่มีเชื้อโรคใดๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วพวกมันก็มักเป็นยุงลายปลอดเชื้อนั่นล่ะครับ
ไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในไข้ที่คนทั่วไปกลัวกันมากที่สุด จากการที่มีข่าวการเสียชีวิตให้เห็นตามโซเชี่ยลกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมก็ต้องบอกว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเวลาที่คนทั่วไปเป็น”ไข้”นั้น ก็มักหนีไม่พ้นพวก”ตระกูลไข้หวัด”หรอกครับ ดังนั้นคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าไข้ที่คุณกำลังเป็นอยู่นั้น คือไข้เลือดออกหรือไม่ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟัง
ไข้เลือดออกนั้น เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เชื้อไวรัสตัวนี้จะมีชีวิตวนเวียนไปมาอยู่ระหว่าง”มนุษย์”และ”ยุงลาย” โดยผมขอเปรียบเปรยง่ายๆว่าการโดนยุงกัดนั้น ก็ไม่ต่างจากการใช้”ของมีคมร่วมกัน” เพราะยุงลายเป็นสัตว์ที่สามารถเข้าถึงเส้นเลือดของมนุษย์ได้โดยตรง พวกมันจึงสามารถนำเลือดที่ติดเชื้อจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปสู่คนอื่นๆได้ ดังนั้นเชื้อไวรัสเดงกี่ในเลือดของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จึงสามารถทำให้คนอื่นๆติดเชื้อตามได้จากการที่มียุงเป็นพาหะ
3
สรุปง่ายๆก็คือไวรัสไข้เลือดออกเป็นไวรัสที่ติดเชื้อในกระเเสเลือดของมนุษย์ แต่มียุงลายคอยช่วยแพร่กระจายเชื้อโรคให้นั่นเอง
เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์แล้วนั้น ประมาณ 90% มักจะไม่มีอาการใดๆ หรือมีอาการน้อยมากๆ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วไวรัสชนิดนี้จะไม่สามารถต่อสู้กับภูมิต้านทานของพวกเราได้อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกประมาณ 10% ที่อาจมีอาการจากการติดเชื้อไข้เลือดออกได้
เมื่อการติดเชื้อเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยก็จะเริ่มมี”ไข้” หลายๆคนอาจสงสัยว่าไข้ของ”ไข้เลือดออก”นั้นมันต่างจาก”ไข้ทั่วไป”อย่างไร อย่างที่บอกไปตอนต้นครับ ว่าไข้ส่วนใหญ่ที่คนทั่วไปเป็นก็หนีไม่พ้นพวกตระกูลไข้หวัด แต่แล้วถ้าบังเอิญเป็นไข้เลือดออกขึ้นมา คุณจะรู้ได้อย่างไร?
ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าไข้เลือดออก แต่ในความจริงแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดกลับไม่ได้มีอาการ”เลือดออก”ให้เห็น และความจริงแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกจากเพียงอาการได้ แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือการ”สงสัย” สงสัยว่าน่าจะเป็นไข้เลือดออก โดยลักษณะไข้ที่น่าสงสัยสุดๆเลยว่าน่าจะเป็นไข้เลือดออกก็คือ “ไข้เพียวๆ”
“ไข้เพียวๆ”คืออะไร? ก็หมายความว่าผู้ป่วยจะมีไข้สูงเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีอาการอื่นๆเลย เช่น ไม่มีไอ น้ำมูก เจ็บคอ ท้องเสีย ซึ่งจะทำให้น่าสงสัยมากๆว่าไข้นั้นๆคือไข้ติดเชื้ออะไรกันแน่ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วการติดเชื้อก็มักจะมีอาการตามแหล่งที่เชื้อโรคมันเข้าไปอยู่ เช่น
ถ้าคุณไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คุณก็น่าจะติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนๆ
ถ้าคุณปวดหู หูอื้อ คุณก็น่าจะติดเชื้อในหู...
ถ้าคุณท้องเสีย ปวดท้อง คุณก็น่าจะติดเชื้อที่ในลำไส้...
ถ้าคุณปัสสาวะแสบขัดหรือปวดหลัง คุณก็น่าจะติดเชื้อที่ในทางเดินปัสสาวะ…
แต่ถ้าคุณไม่มีอาการใดๆเลย ก็จะทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่ามันเป็นการติดเชื้อที่อวัยวะใด
โดยการติดเชื้อที่ไม่ค่อยมีอาการใดๆนอกจากไข้แบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อใน”กระเเสเลือด”เป็นหลักครับ เชื้อโรคเพียงแค่วนเวียนไปมาในกระเเสเลือด แต่ไม่ได้ติดเชื้อในอวัยวะใดๆเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงแรก จึงไม่มีอาการใดๆให้เห็นได้ชัดเจน แต่ความเสี่ยงอย่างหนึ่งของการติดเชื้อแบบนี้ก็คือ ในระยะต่อมาอาจกลายเป็นการติดเชื้อหลายระบบได้ โดยมีการติดเชื้อหลายชนิดอยู่เหมือนกันครับที่สามารถมีลักษณะเช่นนี้ และ”ไข้เลือดออก”ก็เป็นหนึ่งในนั้น
1
ดังนั้นสรุปแล้ว ผู้ป่วยที่น่าสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกก็คือ ผู้ป่วยที่มีไข้สูงมาก โดยเฉพาะเป็นมามากกว่า 2-3 วัน แต่ก็ยังไม่เห็นมีอาการอื่นๆเลย ได้แต่นอนซม อ่อนเพลียไปวันๆ อาจมีปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ตามประสาไข้สูงๆทั่วไป ถ้าใครมีอาการแบบนี้ก็รีบไปหาหมอกันด้วยนะครับ
แต่เมื่อหมอวินิจฉัยแล้วว่าเป็นไข้เลือดออก ก็อย่าเพิ่งตกใจกันไปนะครับ เพราะไข้เลือดออกนั้นก็จะมีความรุนแรงหลายระดับ ซึ่งโดยทั่วไปนั้นผู้ป่วยมักติดเชื้อแบบไม่รุนแรง
ผมขออธิบายให้ฟังง่ายๆแบบนี้ครับ สมมุติว่ายุงลายที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออก บินไปกัดผู้คนจำนวนมากจนมีผู้ติดเชื้อไวรัส 1,000 คน ในจำนวนนี้ จะมีคนประมาณ 900 คน หรือประมาณ 90% ที่จะไม่มีอาการใดๆเลย ไม่มีแม้แต่ไข้ อย่างที่ไม่บอกไปตอนต้น ผู้ป่วยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่ากำลังติดเชื้อไข้เลือดออกอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะมีอีก 100 คน หรือประมาณ 10% ที่จะเริ่มมีอาการขึ้นมา
จากผู้ป่วย 100 คนที่เริ่มมีอาการนี้ จะมีประมาณ 50 คน หรือครึ่งหนึ่ง ที่ถึงแม้มีอาการ แต่ก็จะมีอาการไม่รุนแรง นั่นก็คือไข้สูงหลายๆวัน โดยเฉพาะมากกว่า 2-3 วันโดยที่ไม่มีอาการอื่นๆเลย นอกจากปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว หรือผื่นไข้ และที่สำคัญก็คือผลตรวจเลือดยังมี”เกร็ดเลือด”อยู่ในระดับปกติดี
ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวมจากผู้ติดเชื้อ 1,000 คน จะมีประมาณ 950 คน หรือ 95% ที่มักไม่มีอาการใดๆหรือมีอาการแต่ไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเหลืออีก 5% ที่มีโอกาสติดเชื้อรุนแรง ซึ่งแค่นี้ก็ถือว่ามากเพียงพอที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษแล้ว
1
ในจำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกประมาณ 5% นี้สามารถมีอาการรุนแรงมากขึ้น และสามารถแบ่งได้เป็นหลายระดับ ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกนั้น เกิดจากปัจจัยหลัก 2 อย่าง นั่นก็คือ “การลดลงของเกร็ดเลือด” และ “การรั่วของสารน้ำออกจากเส้นเลือด”
ถ้ามีเกร็ดเลือดลดลงมากๆ ก็จะสามารถทำให้เกิด”ภาวะเลือดออกรุนแรงจนช็อก”ได้ ถ้ามีการรั่วของสารน้ำมากๆ ก็จะทำให้ร่างกาย”ขาดน้ำรุนแรงจนช็อก”ได้เช่นกัน
1
ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมาพบหมอ แล้วหมอบอกว่าสงสัยจะเป็นไข้เลือดออก หมอจึงต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด”ทุกวัน” ตรวจร่างกายว่ามีภาวะขาดน้ำหรือไม่ และเจาะเลือดติดตามเพื่อดูระดับเกร็ดเลือด ถ้าเริ่มไม่น่าไว้ใจ ก็จะให้นอนโรงพยาบาลตรวจติดตามกันตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าใครมีไข้ไม่ทราบสาเหตุแล้วไม่มาพบหมอ พวกเขาก็จะพลาดโอกาสในการตรวจติดตามและการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งอาจกลายเป็นไข้เลือดออกแบบรุนแรงในภายหลังได้โดยไม่ทันตั้งตัว
ถึงแม้จะมีเพียงประมาณ 5% ที่อาจมีอาการรุนแรง แต่ก็เป็นภาวะที่ไม่สามารถประมาทได้เลย
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงนั้นมักเป็นคนที่ติดเชื้อ”ครั้งแรก” และผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อติดเชื้อ”ซ้ำ”ในครั้งต่อๆมา
2
สำหรับการรักษานั้น โดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หมอมักใช้วิธีการตรวจติดตามทุกๆวันอย่างที่บอกไป ร่วมกับการให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ ใช้”พาราเซตามอล”ลดไข้ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งเสริมภาวะเลือดออก โดยเฉพาะยาแก้ปวดชนิด”NSAIDs” เช่น ไอบูโพรเฟน, ไดโครฟีแนค เป็นต้น
แต่สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงแล้ว หมอก็จะให้นอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าอย่างใกล้ชิดเเละให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเลยเพื่อความปลอดภัย
ดังนั้นประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับคนทั่วไปนั้นก็คือ การมาพบหมอให้ทันท่วงที ไม่ประมาทต่ออาการไข้ที่ตนเองเป็น และนอกจากนี้ก็คือการป้องกันการโดนยุงกัด เช่น การใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด การใช้ยากันยุง และการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการกำจัดแหล่งน้ำขังต่างๆ เป็นต้น
สุดท้ายนี้ผมขอสรุปอีกครั้งว่าอาการของโรคไข้เลือดออกนั้น ก็คือไข้สูงลอยหลายวันโดยที่ไม่มีอาการอื่นๆชัดเจน ในระหว่างนี้แม้มีอาการเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ควรมาพบแพทย์ก่อนเสมอนะครับ ก่อนที่มันจะมีอาการ”เลือดออก”เหมือนกับชื่อ ที่ตั้งให้กับมัน...
1
#Healthstory
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
โฆษณา