2 ส.ค. 2019 เวลา 03:14 • ปรัชญา
ผู้ชนะ รู้ว่าชนะก่อนจึงออกรบ
ผู้แพ้ รบก่อนแล้วจึงหวังว่าจะชนะ
2
หลักแห่งการทำศึก มี หนึ่งคือวินิจฉัย สองคือคำนวณ สามคือปริมาณ สี่คือเปรียบเทียบ ห้าคือชัยชนะ
พื้นที่ก่อให้เกิดการวินิจฉัย การวินิจฉัยก่อให้เกิดการคำนวณ การคำนวณก่อให้เกิดปริมาณ ปริมาณก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบก่อให้เกิดชัยชนะ
วินิจฉัยความใหญ่เล็กของพื้นที่ คำนวณความมากน้อยของทรัพยากร ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรคือพื้นฐานแห่ง "ปริมาณ"การระดมพลที่แตกต่างกัน
พื้นที่ใหญ่ทรัพยากรมากก็สามารถรวมกำลังพลได้มาก
กองทัพที่ชนะจึงประดุจเอาหนึ่งอี้ไปเปรียบกับหนึ่งจู กองทัพที่แพ้จึงประดุจเอาหนึ่งจูไปเปรียบกับหนึ่งอี้ เสมือนปล่อยน้ำที่กักในลำธารสูงแปดพันเชี๊ยะให้ทะลักถาโถมลงมา
(อี้และจู คือมาตราชั่งสมัยโบราณของจีน 1 อี้ = 480 จู)
รูปลักษณ์การรบก็เหมือนการปล่อยน้ำพลังงานมหาศาลเข้าถาโถมทำลายทุกสิ่งให้ราบเป็นหน้ากลอง
ซุนวูเห็นว่า ความแตกต่างทางกำลังพล คือเหตุแห่งชัยชนะหรือพ่ายแพ้ของการรบ ดังภาษิตว่า "น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ"
คงไม่มีใครรู้ซึ้งถึงคำว่า "ผู้แพ้รบก่อนแล้วจึงหวังว่าจะชนะ" ได้ดีไปกว่าผม ช่วงวัยรุ่นผมเป็นคนใจร้อนมุทะลุมาก คิดอะไรได้ทำเลย ไม่ปรึกษาใคร ชอบทำอะไรเกินตัว
ถือคติว่า "ไปตายเอาดาบหน้า" ไม่มีแผนสำรอง พูดแบบบ้านๆก็คือ "กูจะไปอย่างเดียว" จนทุกอย่างพัง ธุรกิจเจ๊ง ต้องขายรถทิ้ง แฟนก็ขอเลิก
ผมใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายอยู่หลายปี จนเวลาล่วงเลยเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ความสุขุมเริ่มมากขึ้นพร้อมกับความรู้ที่ว่า
"ผู้ชนะ รู้ว่าชนะก่อนจึงออกรบ"
ผมเริ่มสร้างธุรกิจใหม่อย่างรอบคอบ แต่เหมือนในหัวติดเบรคคำว่า "ถ้าไม่มั่นใจว่ารบชนะอย่าออกรบ" ซึ่งมันทำให้ผมปลอดภัย แต่ก็ทำให้ผมช้าไปหลายอย่าง
ผมคาดหวังความ Perfect แต่ความ Perfect ไม่เคยมีอยู่จริง
Smartphone ที่ดีที่สุดในโลกยังไม่เคยถูกสร้างขึ้นมา เพราะมนุษย์ยังไม่หยุดที่จะพัฒนา
ผมเคยได้ดูคลิปของ อาจารย์บัณฑิต อึ้งรังษี ท่านพูดไว้ว่า
Perfection = Paralysis หรือ
เพอร์เฟคชั่น = การเป็นอัมพาต
หรือก็คือ ถ้ารอความสมบูรณ์แบบ คุณก็จะไม่มีวันได้เริ่มต้น
สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ "คิดให้รอบคอบ ลงมือทำทันที เข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว แล้วค่อยๆปรับปรุงแก้ไขไป"
ขอบคุณที่อ่านจนจบ ถ้าชอบก็กดไลต์ กดติดตามไว้ครับ
โฆษณา