13 ก.ย. 2019 เวลา 00:19
เด็กเสื้อลายดอกกับครูบ้านนอกที่รัก
ขอบคุณภาพจาก https://pixabay.com
เหตุการณ์ที่ผมกำลังจะเล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ได้คุยในไลน์กับเพื่อนที่ขายของอยู่ที่สามชุกตลาดร้อยปี จังหวัดสุพรรณบุรี
เพื่อนสนิทผมคนนี้ ขายของอยู่ที่นั่น และหนึ่งในของที่ขายก็คือ น้ำซาสี่หรือน้ำจรวดนั่นล่ะครับ
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับหัวข้อที่โปรยไว้บนชื่อบทความนี้กันล่ะครับ
มันเกี่ยวข้องตรงที่มันมีเรื่องราวที่เพื่อนผมเล่าให้ฟัง แล้วผมอยากนำมาเล่าต่อ เพราะมันสะท้อนได้หลายๆอย่างในสังคมเรา ยังไงลองมาอ่านดูกันนะครับว่ามันคืออะไร
เพื่อนผมเล่าว่า ที่ตลาดร้อยปี มันก็ขายของตามปกติ คนก็จะเยอะในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ และที่ตลาดนี้จะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มากันมากอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นก็คือ กลุ่มทัศนศึกษา มีทั้ง หน่วยงาน ราชการ เอกชน อบต. เทศบาล อสม. และที่มากที่สุดคือ เด็กนักเรียน
ที่เรากำลังจะพูดถึงก็คือ กลุ่มเด็กนักเรียนที่มาทัศนศึกษานี่เองล่ะครับ
โรงเรียนที่จัดมาทัศนศึกษาที่ตลาดร้อยปีจะเป็นโรงเรียนจากเขตกรุงเทพ กับภาคกลางเป็นหลัก ที่ไกลๆหน่อยก็จะเป็นโซนภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ตอนบนบางจังหวัด
สิ่งที่เพื่อนผมเล่าให้ฟังก็คือ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มันก็ขายของตามปกติ วันนั้นช่วงเช้ามีนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งใน กทม. เป็นนักเรียนชั้น ป.6 มาทัศนศึกษา เด็กๆก็มาซื้อน้ำซาสี่กินกันเยอะแยะ ทำให้มันขายดีมาก
ข้อสังเกตุที่มันบอกผมคือ เด็กเกือบทุกคนจ่ายเงินด้วยแบงค์ร้อยแบงค์ห้าร้อย เด็ก ๆ ไม่มีครูเดินประกบ ดูเด็ก ๆ ตื่นตัวกันมาก คุยกันเสียงดัง สนุกสนาน
ตัดฉับมาที่ช่วงบ่าย มีกลุ่มนักเรียนมาทัศนศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง คราวนี้เป็นโรงเรียนจากอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับชั้นป.6 เหมือนกันแต่สิ่งที่ต่างกันคือ เด็กโรงเรียนนี้จะเดินกันเงียบๆ เดินเป็น
กลุ่ม ๆ ย่อยๆ ไม่แยกเดินคนเดียว มีครูคอยตามประกบทุกกลุ่ม และนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหน้าร้านขายน้ำ
ซาสี่ของเพื่อนผม
ครูเดินมากับเด็กนักเรียนชาย 3 คน ครูเป็นครูผู้หญิงตัวป้อมๆดำๆสวมแว่นตา เด็กนักเรียนก็ประมาณตัวคล้ำๆ ผอมๆ ดูเจื่อนๆ พอเดินมาถึงหน้าร้าน ครูก็ทำมือจุ๊ ๆ ที่ปาก แล้วบอกเด็กสามคนนั้นว่า...
นี่พวกเธอสัญญากับครูก่อนนะ เดี๋ยวครูจะเลี้ยงน้ำซาสี่พวกเธอสามคน แต่อย่าเสียงดัง เดี๋ยวเพื่อนคนอื่นได้ยิน มันจะหลายคนไป โอเคนะ
เด็กๆก็พยักหน้ารับทราบ พร้อมสั่งน้ำหวาน ขณะที่เพื่อนผมกดน้ำแก้วสุดท้ายให้ครู ก็มีเด็กผู้หญิงโรงเรียนเดียวกันสองคน เดินมาที่ร้านพร้อมถือเงินคนละ20บาท แล้วสั่งซื้อน้ำหวานต่อทันที
พอเพื่อนผมกำลังกดน้ำหวานให้เด็กผู้หญิงสองคนนี้ ครูคนเดิมก็หันกลับมา บอกว่า...
หนูสองคน เดี๋ยวครูจ่ายให้นะ เธอสองคนช่วยงานโรงเรียนเป็นประจำ ครูจำได้ ครูออกเงินให้
เด็กผู้หญิงสองคนนี้คงไม่ใช่นักเรียนในชั้นที่ครูคนนี้สอน เพราะดูไม่คุ้นเคยกันเลย เท่าที่เพื่อนผมสังเกตเห็น
ถามว่า เหตุการณ์ที่เล่ามาทั้งหมดมันสะท้อนอะไร......
มันสะท้อนว่า นี่คือต้นตอของความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำอันมหาศาลของบ้านเรา มันเหลื่อมล้ำกันมาตั้งแต่ ประถม มัธยม มหาลัยก็ยิ่งห่างกันไปเรื่อยๆ จนเป็นผู้ใหญ่
ความห่างของอะไร ความห่างของโอกาส และทุนทรัพย์ ของทั้งเด็กและครูที่อยู่โรงเรียนคนละระดับ
เด็กใน กทม. ไม่รู้สึกว่าขาดแคลนอยากได้อะไร พ่อแม่ก็ให้เงินมาเพียงพอ ที่จะซื้อได้ตามใจชอบ
เด็กต่างจังหวัด อำเภอเล็ก ๆ ทั้งเด็ก ทั้งครู น่าจะขาดแคลนทั้งคู่ แม้เพียงน้ำหวานแก้วละ 20 บาท บางทีเงินก็หมดไม่พอซื้อ ครูเองก็คงไม่ใช่ลูกคหบดีมีเงินอะไร เงินเดือนน้อยนิด แต่ครูบ้านนอกจะผูกพันกับเด็ก จนเกิดความอาทร สงสาร ครูจึงยอมควักเงินที่มีน้อยเพื่อเติมสิ่งที่ขาดให้เด็กน้อย
เอกลักษณ์ของเด็กโรงเรียนเล็กๆในต่างจังหวัดก็คือ เวลาไปทัศนศึกษาจะใส่เสื้อลายดอก ตามแต่ว่าโรงเรียนจะอยู่ภาคไหน ก็จะสะท้อนออกมาผ่านลายผ้าดังกล่าว
ตัวอย่างเสื้อลายดอก
#ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ
ที่กรุณาอ่านบทความ
หากถูกใจ กดไลก์ กดแชร์ และกดติดตามได้นะครับ
โฆษณา