10 ก.ย. 2019 เวลา 08:30 • สุขภาพ
“ผงชูรส”...อันตรายอย่างที่เขาว่ากันจริงไหม?
ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเรามีคำครหาต่างๆมากมายที่มีต่อผงชูรส แต่ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น ผงชูรสกลับยังเป็นเครื่องปรุงอาหารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกโดยแทบจะไม่มีกฏหมายใดๆบังคับเลยด้วยซ้ำไป สุดท้ายก็ต้องกลับมาถามตัวเองว่า“ผงชูรส...อันตรายอย่างที่เขาว่ากันจริงไหม?”
เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ในประเทศญี่ปุ่นมีนักวิทยาศาสตร์เคมีคนหนึ่งที่ชื่อว่า ศ.ดร.คิคุนาเอะ อิเคดะ เขามีความสงสัยว่าซุปดาชิที่ภรรยาของเขาทำให้กินนั้น มันมีรสชาติอะไร เพราะว่าเขาไม่สามารถบรรยายรสชาตินั้นด้วย 4 รสชาติที่รู้จักกันในโลกตอนนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นหวาน เปรี้ยว เค็ม หรือขม โดยอาจารย์อิเคดะให้คำบรรยายไว้ว่ามันคือรสชาติที่ซับซ้อนเหมือนหน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ ชีส และเนื้อผสมกัน เขาเก็บข้อสงสัยนั้นแล้วนำสาหร่ายคอมบุที่อยู่ในชุปดาชินั้นเข้าไปในห้องทดลอง
หลังจากนั้นเพียง 1 ปี โลกของอาหารก็ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่ออาจารย์อิเคดะประสบความสำเร็จในการสกัดสารๆหนึ่งจากสาหร่ายคอมบุได้สำเร็จ โดยสารที่สกัดได้มีลักษณะเป็นผงสีขาวและมีโครงสร้างของ”โมโนโซเดียม กลูตาเมต” และเขาก็ได้ประกาศการค้นพบนี้อย่างทันทีพร้อมกับตั้งชื่อรสชาติใหม่อันดับที่ 5 ของโลกว่า”อูมามิ” ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า”อร่อย”
แม้ว่าช่วงแรกนั้นเรื่องนี้จะยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นานอาจารย์อิเคดะก็ได้จับมือกับบริษัทซูซูกิ และกลายเป็นบริษัทแรกที่เริ่มต้นผลิตสารสกัดชนิดนี้ให้เป็นเครื่องปรุงรสอูมามิ หรือที่คนไทยเรียกว่า”ผงชูรส” โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า”อายิโนะโมะโต๊ะ” ซึ่งแปลว่า“ที่มาของรสชาติ(อร่อย)” เพื่อส่งมอบความอร่อยให้กับคนทั่วโลก ผลิตภัณฑ์นี้ค่อยๆตีตลาดโลกอย่างช้าๆจนสามารถครองใจพ่อครัวแม่ครัวและผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
เมื่อมีผู้บริโภคมากขึ้น ผลข้างเคียงต่างๆของผงชูรสจึงค่อยๆเริ่มถูกพูดถึงกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการกินผงชูรสนี้ ที่ประเทศอเมริกามีการสร้างเวปไซต์โดยเฉพาะสำหรับผู้บริโภคเพื่อเข้ามาแจ้งอาการไม่พึงประสงค์เลยทีเดียว โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา(FDA)ได้รับคำร้องเรียนจำนวนมากมายอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับอาการต่างๆเหล่านี้
จากคำร้องเรียนอาการจำนวนมากมาย กลุ่มอาการที่พบบ่อยที่สุดก็คือ “ปวดหัว วูบวาบ เหงื่อแตก ผิวหนังแดงหรือบวมนูน ชา คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น แสบร้อนบริเวณใบหน้า คอ รอบปาก และแน่นตึงที่ใบหน้าหรือหน้าอก เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้นั้นไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจาก”กลูตาเมต” ซึ่งสารตัวนี้นอกจากมีรสชาติอร่อยแล้ว ยังเป็นสารสื่อประสาทตัวหลักชนิดหนึ่งของสมองมนุษย์ด้วยเช่นกัน เมื่อมันกระตุ้นสมอง ร่างกายจึงมีความรู้สึกแปลกๆอย่างที่ได้กล่าวไป
แต่แม้จะมีการรายงานอาการต่างๆเหล่านี้อยู่อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยใดๆที่สามารถสรุปได้ว่าอาการเหล่านี้เกิดจากผงชูรสจริงๆหรือไม่ เพราะว่าอาการเหล่านี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในคนที่ไม่ได้กินผงชูรสด้วยเช่นกัน ทำให้ผงชูรสไม่ถูกห้ามนำมาใช้ในการประกอบอาหาร เพียงแต่ต้องบอกในฉลากสินค้าว่ามีผงชูรสเป็นส่วนประกอบ
เมื่อไม่สามารถหาหลักฐานได้ จึงไม่สามารถจับผิดผงชูรสได้ แม้พวกเราจะมองหน้ามันเเล้วรู้อยู่แก่ใจว่ามันคือผู้ร้าย แต่บางทีพวกเราก็อาจต้องแอบคิดในใจเหมือนกันว่าพวกเราอาจใส่ร้ายป้ายสีผงชูรสด้วยอาการต่างๆเหล่านี้กันมากเกินไปก็เป็นได้
แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คนส่วนใหญ่สนใจแต่อาการเล็กน้อยๆเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางคนสนใจแต่เรื่องผมร่วงด้วยซ้ำไป แต่คนส่วนใหญ่กลับมองข้ามอันตรายที่ชัดเจนของผงชูรสไป เหมือนเส้นผมที่บังภูเขาอยู่ เพราะอันตรายของ”โมโนโซเดียม กลูตาเมต”อยู่ที่ชื่อของมันเเล้ว นั่นก็คือ”โซเดียม”
โซเดียมคือสารที่สามารถอยู่ได้ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางลม ซอสเต้าเจี้ยว ผงปรุงรส รวมถึงผงชูรส สารเหล่านี้ทำให้คนมากมายต้องทรมานจากโรคเส้นเลือดในสมอง ทรมานจากการเป็นอัมพาต ทรมานจากโรคหัวใจล้มเหลว ทรมานจากการล้างไต เพราะโซเดียมนั้นทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นในทุกๆมื้อที่คุณกินพวกมันเข้าไป
ปัจจุบันนี้อาหารไทยทั่วไปแทบทุกชนิดและแทบทุกร้านมีโซเดียมเกินปริมาณแนะนำต่อวัน 2-3 เท่าแม้ว่าคุณจะไม่ได้เติมน้ำปลาเพิ่มก็ตาม และส่วนหนึ่งก็มาจากผงชูรสนั่นเอง การกินอาหารแบบนี้ทุกมื้อทุกวันตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้คนไทยเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมอง และโรคไตกว่า 10 ล้านคน พูดได้ว่าทุกๆ 6-7 คนที่คุณเดินผ่าน คุณจะได้เจอผู้ป่วยโรคเหล่านี้อย่างน้อย 1 คน
สิ่งนี้คืออันตรายที่แท้จริงของผงชูรส ไม่ว่าผงชูรสจะทำให้เกิดอาการปวดหัว วูบวาบ เหงื่อแตก ผิวหนังแดง ชา คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หรืออะไรต่างๆนานาหรือไม่นั้น มันไม่สำคัญเลย เพราะอาการเหล่านี้มักเป็นเพียงชั่วคราว และแม้มีอาการแพ้ ก็มักแพ้แบบไม่รุนแรง มีรายงานน้อยมากๆเกี่ยวกับการแพ้แบบรุนแรง โดยอาการทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเลยด้วยซ้ำไป
ดังนั้นคำถามของชื่อบทความนี้“ผงชูรส...อันตรายอย่างที่เขาว่ากันจริงไหม?” หมอก็อยากตอบว่า”ไม่จริง” แต่ไม่ใช่ไม่จริงเพราะว่าผงชูรสไม่อันตราย แต่ไม่จริงเพราะว่าคนส่วนใหญ่มองข้ามอันตรายที่แท้จริงของผงชูรสไป ดังนั้นไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม หยุดกินผงชูรสเสียเถอะครับ ถ้าหยุดกินไม่ได้ก็ขอให้กินน้อยลง เพราะผงชูรสนั้นไม่ได้ทำให้ผมร่วง แต่พวกมันทำให้เกิดโรคที่อาจต้องทรมานไปตลอดทั้งชีวิต...
#Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
[R]
UpToDate(แหล่งรวมข้อมูลทางการแพทย์โดยเน้นหลักฐานที่ทันสมัย)
- Allergic and asthmatic reactions to food additives
- Pathophysiology, clinical manifestations, and diagnosis of migraine in adults
โฆษณา