19 ก.ย. 2019 เวลา 12:18 • ความคิดเห็น
แชร์ประสบการณ์ตรง เล่าวิธีการสร้างคอนเทนต์ 1.6 แสนไลค์ + 10 ล้าน Reached ใน 48 ชั่วโมง คิดงานแบบไหน วางแผนอย่างไร ให้ไปไกลที่สุด
นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดกับผมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี่เองครับ อยากเล่าให้ทุกคนฟัง
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า นอกจากงานเขียนในเพจ และ ในบล็อคดิต ที่ชื่อวิเคราะห์บอลจริงจังแล้ว ผมมีอาชีพประจำเป็นนักข่าวที่ Workpoint News นะครับ
มา เริ่มเล่าเลย คือเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมทำสกู๊ปลงใน Workpoint News ครับชื่อเรื่อง
"ดาราตุ๊กตาทองผู้อุทิศตัวเพื่อสังคม : บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์"
ตั้งแต่ย้ายมาทำที่เวิร์คพอยท์ นี่เป็นชิ้นที่ผมทำยอดสูงสุดแล้วครับ
ก่อนอื่นขออธิบายค่า KPI ของคนทำงานในโลกออนไลน์ก่อน
สิ่งที่เราจะ "ดู" มีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน ว่าคอนเทนต์นั้นประสบความสำเร็จหรือไม่
ลองดูตามภาพที่ผมแปะไว้นะครับ จะได้นึกภาพออก
1- ค่ารีช (People Reached) หมายถึง คนที่เห็นคอนเทนต์ของเรา ไม่สำคัญว่าจะไลค์ จะแชร์ไหม แค่เห็น ก็จะนับเป็นยอด Reached
2- ยอดไลค์ อันนี้ก็ชัดเจนคือ เวลาคุณชอบก็กดไลค์ ใช่ก็กดเลิฟ เป็นวิธีการแสดงออกง่ายๆ ว่าชอบคอนเทนต์นั้น
3- ปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ไลค์ คอมเมนต์ แชร์ ทั้งหมดรวมกัน มันแปลว่าคอนเทนต์ของเรามีคุณภาพ เพราะคนที่เห็นงานเรา ไม่ได้เห็นแค่ผ่านๆ แต่ใส่ใจจริงๆ
4- ยอดแชร์ อันนี้ก็ชัดเจนครับ ยิ่งแชร์เยอะ แปลว่าคนอ่านหรือคนดู เขาอยากบอกเพื่อนว่า เฮ้ย ชิ้นนี้มันเจ๋งว่ะ อยากให้พวกแกได้อ่าน ได้ดู ยิ่งแชร์เยอะ ก็ยิ่งเป็น Talk of the town ครับ
ก่อนหน้านี้ผมเขียนคอนเทนต์ระดับ 1 ล้านรีช ได้หลายครั้งแล้วครับ วีกก่อนผมเขียนเรื่องคีอานู รีฟส์ ได้ยอดรีช 6.8 ล้าน
แต่สำหรับครั้งนี้ ถือว่าเยอะที่สุด ที่เคยทำได้เลย
- 9.8 ล้านรีช
- 167,000 ไลค์
- 48,500 แชร์
อันนี้นับถึงแค่ วันที่ 19 ก.ย. เวลา 19.00 นะครับ และตัวเลขคาดว่าน่าจะไปต่อได้อีก เพราะเพิ่งปล่อยไป 2 วันเอง ก็น่าจะไปถึง 10 ล้านรีชได้ครับ
ขอยืนยันว่า ที่จะเขียนนี่ ไม่ได้อวดโอ่ยอดหรืออะไรนะครับ แต่ผมอยากเล่าให้ฟังถึงวิธีการสร้างงานชิ้นนี้ครับ ไปดูกันว่า ในสำนักข่าวออนไลน์ เขามีวิธีการสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาอย่างไร
[ วางโครงเรื่อง ]
ประเด็นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นเวลา 13.39 ของวันจันทร์ครับ หัวหน้าของผม เอม-นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ (อดีตนักข่าวเนชั่น ตอนนี้เป็นหัวหน้าข่าวออนไลน์ของเวิร์คพอยท์) อ่านกระแสสังคมแล้ว สั่งการลงมาว่า วันนี้เรื่องพี่บิณฑ์ฮอตสุดๆ น่าจะทำคอนเทนต์อะไรสักอย่าง เพื่อต่อยอด
คือชื่อของบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อยู่ในกระแสข่าวตลอดวัน ตั้งแต่เขาควักเงินบริจาค 1 ล้านบาท , Live ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง จากนั้นมีคนโยงประเด็นไปว่า บริจาคให้พี่บิณฑ์ที่แหละสบายใจสุด เพราะมั่นใจว่าเงินไปถึงมือผู้ประสบภัยแน่
เมื่อผมได้รับโจทย์มาดังนั้น เราก็ต้องคิดก่อนเลยว่า ขั้นแรกเราจะทำอะไร เกี่ยวกับบิณฑ์ดี
ผมใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในการเปิดทวิตเตอร์ และ FB ไปดูว่าคนพูดถึงบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์อย่างไรบ้าง
สิ่งที่เห็นคนพูดกันเยอะที่สุด คือพี่บิณฑ์ "ทั้งหล่อ แล้วยังเป็นคนดีอีกต่างหาก"
ผมเลยมาคิดครับ ว่าเออ เด็กยุคใหม่คุ้นเคยบิณฑ์ ในบทบาทของมูลนิธิกู้ภัยนี่หว่า หลายๆคนในปัจจุบัน ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าในอดีตบิณฑ์นี่คือดาราเจ้าบทบาท เขาได้ตุ๊กตาทองถึง 3 สมัย ซึ่งสำหรับดาราทั่วไป ตุ๊กตาทองสัก 1 ตัวยังทำได้ยาก แต่บิณฑ์นี่ได้ 3 ตัว
ยังไม่นับโทรทัศน์ทองคำก็เคยได้ เมขลาก็เคยได้
ทีนี้ ผมก็ลองมาคิดดูสเต็ปต่อไป นักแสดงระดับแถวหน้าของวงการ ที่ได้รางวัลมาขนาดนี้ ปกติคงเอาเวลาวันหยุดไปออกอีเวนต์ รับเงิน โกยเงินไปเรื่อยๆ
ผมนึกไม่ออกนะ คนที่อยู่ในช่วงพีกของอาชีพ แต่ก็สละชีวิตอีกครึ่งหนึ่งมาทำงานการกุศลโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
ดังนั้นผมก็เลยเริ่มวาง Outline ครับ ว่าจะเล่าเรื่องนี้แหละ เล่าแบบเรียบง่ายๆ ตรงไปตรงมา
บิณฑ์ เป็นนักแสดง > ทำไมเริ่มต้นทำกู้ภัย > ทำแล้วได้อะไร มีความสุขตรงไหน > สิ่งที่บิณฑ์ทำมันส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร
1
ในขณะที่สำนักข่าวอื่น เล่นเรื่อง Fact ไปหมด ว่าตอนนี้ยอดบริจาคเท่าไหร่แล้ว นายกฯพูดถึงพี่บิณฑ์อย่างไร ฯลฯ แต่ผมฉีกมาเจาะที่ตัวบิณฑ์ไปเลยดีกว่า เป็นมุมที่ยังไม่มีใครทำครับ
ในโลกออนไลน์ สำคัญที่สุดคือการเลือกประเด็น ถ้าประเด็นถูกต้อง และคมพอ มันจะไปได้ไกลขึ้นครับ
[ วิธีการสร้างคอนเทนต์ ]
ในยุคปัจจุบัน มีวิธีเยอะมาก ในการสร้างงานครับ ผมมีชอยส์เยอะเลยว่าจะเขียนแบบไหนดี
- โพสต์อินโฟกราฟิกพร้อมคำคม
- เขียนรายละเอียดเป็นข้อๆแบบครบถ้วน เหมือนที่เขียนในวิเคราะห์บอลจริงจัง
- ทำคลิปวีดีโอ
อันนี้ผมก็คิดเยอะครับ ว่าจะเอาแบบไหนดี แต่ก็ตัดสินใจว่าใช้วิธีทำคลิปดีกว่า เหตุผลคือ บิณฑ์เขาหล่อครับ คือเวลามนุษย์เราเห็นอะไรสวยๆงามๆ ก็อยากจะเปิดดูไปเรื่อยๆ
พอตัดสินใจได้แล้วว่าจะทำคลิป ก็ต้องมาเลือกอีก ว่าจะทำแบบไหน ระหว่าง 1-คลิปแบบลงเสียง และ 2-คลิปแบบใส่แคปชั่นให้คนอ่านอย่างเดียว แต่ไม่ลงเสียง
2 วิธีนี้จะเหมาะสมกับลักษณะของคลิปที่แตกต่างกัน คือในวันเดียวกัน ผมทำคลิปเรื่องเทย์เลอร์ สวิฟต์ ผมก็ใช้แบบที่ 2 นะครับ ให้คนอ่านอย่างเดียว ขณะทีเสียงเพลง ก็ปล่อยเพลงของเทย์เลอร์ไปเลย
แต่กับกรณีของบิณฑ์ ผมใช้แบบแรกครับ นั่นคือทำคลิป แบบลงเสียง มีคนบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ความรู้สึกของผมคือ เรื่องของบิณฑ์ มันมีความเป็น Emotion อยู่ กล่าวคือ ผู้ชายคนนึงมีจิตอาสา เพื่อต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเสียงของผู้บรรยาย จะสามารถแฝงความชื่นชมลงไปในชิ้นงานได้ครับ
1
คนดูจะรับรู้ได้ ว่าคนทำคอนเทนต์ก็รู้สึกชื่นชมบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์เช่นกัน แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆก็ตามที
[ ทีมงานที่ดี จะช่วยให้งานราบรื่น ]
ความยากของการทำวีดีโอ คือเรื่อง Source ที่ใช้ครับ
งานของ Workpoint News มีแนวทางที่ชัดเจนมาก คือต้องใช้คลิป และภาพนิ่งที่ถูกลิขสิทธิ์ หรือสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
ผมอาจจะถนัดเรื่องการเขียน แต่เรื่องการหา source ถ้าไม่รู้แหล่งก็ยากเหมือนกัน
แต่โชคดีของผมครับ ที่ทีมงานของเวิร์คพอยท์นั้นเป็นคนเก่งทั้งนั้น คือผมอยู่ในแวดล้อมของคนมีประสบการณ์และมีคอนเน็คชั่นที่ดี
พี่แอร์ (ขอเอ่ยชื่อ) อดีตนักข่าวจากช่อง 3 ซึ่งตอนนี้มาอยู่ Workpoint แล้ว ก็ให้คำแนะนำที่ดีมากๆ ว่าผมจะไปใช้ Source จากไหน ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
เมื่อรวบรวม Source ได้ครบทั้งหมดแล้ว เราก็จะเข้าสู่กระบวนการตัดต่อต่อไป
3
ผมเขียน + ลงเสียง + หาฟุตเทจ ครบทั้งหมดตอนเกือบ 1 ทุ่มได้ครับ ซึ่งตอนนั้น ทีมงานตัดต่อมีงานเต็มมือเลย คืนวันจันทร์เป็นวันที่งานยุ่งมาก
แต่เราก็ต้องยืนยันให้ชัดเจนว่า คอนเทนต์ชิ้นนี้เราอยากทำให้สำเร็จจริงๆในคืนนี้เลย เพราะเรารู้ว่า ถ้าปล่อยในเวลาที่ถูกต้อง มันจะไปไกลมาก
ซึ่งเมื่อเรายืนยันหนักแน่นดังนั้นแล้ว ทีมงานตัดต่อ ก็จะพยายามเคลียร์หาช่องว่าง มาเพื่อตัดงานของเราให้สำเร็จครับ
สำหรับคอนเทนต์วีดีโอ ความสำคัญของ Writer กับ Editor นี่คือ 50-50 เลยนะครับ งานเขียนดี คนตัดต่อไม่ดี ก็จบ เช่นกันตัดต่อเก่ง แต่เขียนไม่โดนใจ ก็ไม่เวิร์ค
1
โชคดีของผมเช่นกัน ที่ทีมงานตัดต่อ โดยเฉพาะหัวหน้าปอ อ่านสถานการณ์ออกและรู้ว่าชิ้นนี้ต้องรีบทำ รีบปล่อย ก่อนจะโดนสื่ออื่นมาแย่ง จึงจัดการเคลียร์เวลา และรีบตัดงานชิ้นนี้ทันที ในเวลา 19.00
[ การเลือกเวลาโพสต์ คือคีย์สำคัญ ]
ผม ทำงานกับสื่อออนไลน์ ตั้งแต่สยามสปอร์ต มาจนถึง Workpoint News ครับ และพอรู้ว่า การโพสต์คอนเทนต์อะไรสักอย่าง สิ่งสำคัญที่ห้ามมองข้ามเลยคือ "เวลาโพสต์"
คอนเทนต์แบบไหน ปล่อยตอนไหน มันสำคัญมาก ไม่ใช่ว่าจะปล่อยแบบส่งเดช กี่โมงก็ได้ตามใจต้องการ ทำแบบนั้น งานดีๆ ก็จะมีคนดูน้อยไปโดยปริยาย
เวลา Primetime ของสื่อออนไลน์ มีสองช่วงครับ คือ 8.00-9.00 และ 19.00-21.00
1
ถ้าเราสังเกตดู ข่าวดีที่สุด คอนเทนต์ที่เจ๋งที่สุด งานคราฟต์งานละเอียด สำนักข่าวจะเอาไว้ในสล็อตเวลานี้แหละ เพราะมันจะไปได้ไกล
ตอนที่หัวหน้าปอ ตัดต่องานเสร็จแล้วคือ 22.00 ของวันจันทร์ครับ ผมก็คิดครับว่าจะเอาไงดี จะปล่อยเลยทันทีดีไหม เพราะเอาจริงๆ 4 ทุ่มก็ยังไม่ดึกเกินนะ
1
แต่ผมเชื่อในทฤษฎี Primetime ครับ ว่ามันเลยเวลาพีกของออนไลน์ไปแล้ว ดังนั้นจึงตัดสินใจอดทนรอ เพื่อให้ไปถึงช่วงเช้าแทน โดยผมจะโพสต์ตอน 8.30 ของวันอังคารครับ
8.00-9.00 แปลกเนอะ ที่เป็นช่วงเวลาที่ดี อันนี้เราต้องลองนึกภาพนะครับ ช่วง 8-9 โมง หลายคนขับรถไปทำงาน บางคนอยู่บนรถเมล์ รถไฟฟ้า
คนขับรถอยากหาอะไรฟังเพลินๆ ไปตลอดทาง คนนั่งรถเมล์ก็เลื่อนฟีดดูอะไรขำๆฆ่าเวลา
สำหรับสื่อออนไลน์ คอนเทนต์คราฟต์ที่โพสต์ในเวลา 8.00-9.00 เป็นการ Set Tone เพื่อบอกคนอ่านว่า วันนี้มีประเด็นใหญ่อะไรที่ควรติดตามกันบ้าง
ผม ปล่อยเรื่องบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เพื่อต้องการให้ผู้อ่านได้เห็นความยอดเยี่ยมที่มากขึ้นของพี่บิณฑ์
และเป็นการบอกลูกเพจด้วยว่า Workpoint News ยังคงตามติดเรื่องของพี่บิณฑ์อยู่ และมั่นใจได้เลยว่า ถ้าหากคุณสนใจเรื่องนี้ จะมีข่าวสารให้ตามตลอดวัน
ซึ่งในวันนั้นทั้งวัน คนที่อยากได้ข่าวพี่บิณฑ์ก็จะคลิกเข้ามาใน FB ของ Workpoint News เพราะเราย้ำให้เขาเห็นแต่เช้าแล้วว่า เราเห็นเรื่องพี่บิณฑ์เป็นวาระสำคัญของวันจริงๆ
จุดสำคัญที่สุดอย่างสุดท้าย ที่คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ห้ามพลาดเลย คือ แคปชั่น
ผมเขียนแคปชั่นในคลิปนี้ว่า
"จากนักแสดงระดับตุ๊กตาทอง "บิณฑ์" ก้าวสู่โลกอีกใบเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ นี่คือคนที่ประชาชนไว้ใจว่าจะนำเงินบริจาคมอบให้ถึงมือของผู้ที่ต้องการรับมันจริงๆ"
แค่ประโยคสั้นๆ แต่ทำให้คนรู้สึกอยากคลิกไปดูได้นะครับ ว่าแบบเฮ้ย ทำไมพี่บิณฑ์ต้องก้าวมาสู่โลกอีกใบวะ แล้วทำไมเราถึงเชื่อใจพี่บิณฑ์ว่าจะเอาเงินบริจาคไปมอบให้คนที่ต้องการจริงๆ
1
แคปชั่นมันจะบอกว่า คำถามทั้งหมด ทุกคนจะรู้คำตอบได้ เพียงแค่ดูคลิปนี้ครับ
เมื่อองค์ประกอบครบ คือข่าวตามกระแสสังคม + มุมมองที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ชิ้นนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ยอดต่างๆครับ
ตอนนี้ยอดไลค์ก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆครับ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็ควรจะทะลุ 10 ล้านรีชได้ครับ
สิ่งที่ผมเชื่อเสมอในการสร้างงานออนไลน์คือ
งานที่ดีต่อให้ไม่มียอดไลค์ก็เป็นงานที่ดี แต่ถ้ามีคนดูเยอะๆ มันก็จะดีกว่าจริงไหม
การได้เห็นคนในสังคม กำลังถกเถียง และได้ข้อคิดจากคอนเทนต์ของเรา เป็นสิ่งที่มีความหมายมากๆสำหรับคนสร้างงานครับ
นี่ล่ะครับ วิธีการสร้างงาน 1 ชิ้นของผม
- หา Main Idea ก่อนว่าจะทำเรื่องอะไร
- เลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดว่าจะเสนอแบบไหน
- ถ้าใช้วิธีเขียน เขียนให้ลึก ให้ละเอียด แต่เข้าใจง่าย
- ถ้าใช้วิธีทำคลิป เขียนให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ
- อย่าคิดว่าตัวเองเก่งที่สุดในโลก ถามคนอื่นเยอะๆ เพราะเขาอาจรู้ลึกกว่าเรา
- งานเสร็จตรวจทานอีกรอบทุกจุด ก่อนเลือกเวลาปล่อยที่ดีที่สุด
1
นี่ล่ะครับ คือทริกของผม ในการสร้างงานสักชิ้นขึ้นมา
แต่แน่นอนครับ เรื่องว่าทำอย่างไรให้ปังในโลกออนไลน์ มันไม่ตายตัวหรอกนะ แต่ละคนก็มีแนวทางในการสร้างงานของตัวเอง
แต่ผมเอามาเล่าให้ฟังในมุมของตัวเอง ที่คิดว่า เออ มันเวิร์ค และประสบความสำเร็จดีในแง่ยอดนะครับผม
ป.ล.อันนี้ ผิดหลัก Blockdit นะเนี่ยะ เพราะส่วนใหญ่คอนเทนต์ที่จะทำงานได้ดีใน Blockdit ต้องใช้หลัก Look at there หรือเล่าเรื่องทั่วไปไม่ใช่เล่าเรื่องตัวเอง
อันนี้ผม Look at me หรือเล่าเรื่องตัวเองเต็มๆเลย แต่ก็หวังใจว่า จะพอมีประโยชน์บ้างกับคนที่มาอ่านนะครับผม
โฆษณา