21 ก.ย. 2019 เวลา 08:00 • สุขภาพ
“ชิคุนกุนย่า”...โรคติดเชื้อที่อาจทำให้คุณทรมานไปแรมปี!
“ชิคุนกุนย่า” เป็นภาษาแอฟริกันที่แปลว่า “บิดเบี้ยว” ซึ่งเป็นการบรรยายว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่านี้เข้าไปแล้วจะปวดข้อทั่วร่างกายจนเดินบิดเบี้ยวนั่นเอง แต่ภาษาไทยจะเรียกว่า”โรคไข้ปวดข้อยุงลาย”
โรคชิคุนกุนย่าเป็นหนึ่งในโรคที่ติดเชื้อผ่านทางการโดนแมลงกัดต่อย โดยมี”ยุงลาย”เป็นพาหะเหมือนโรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากยุงลายไปดูดเลือดของคนที่กำลังติดเชื้อ แล้วเอาเชื้อไปปล่อยให้คนที่โดนกัดคนถัดไป ดังนั้นการติดเชื้อแบบนี้จึงสามารถระบาดได้ทั่วทั้งชุมชนแม้ว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้ออยู่เพียงคนเดียว เพราะเชื้อนั้นมันบินไปหาคุณโดยตรงถึงที่ โดยเฉพาะคนที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยในรัศมีที่ยุงลายสามารถบินได้ อย่างเช่นยุงลายบ้านส่วนใหญ่ก็จะบินได้ไกล 300 เมตร
แม้โรคชิคุนกุนย่าส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงเท่าโรคไข้เลือดออก แต่โรคชิคุนกุนย่าอาจทำให้เกิดความทรมาณได้ง่ายกว่า ดังนั้นในฤดูฝนตกจนน้ำท่วมแบบนี้ มาดูกันดีกว่าว่าเชื้อไวรัสนี้เข้าไปทำอะไรในร่างกายของพวกเราได้บ้าง
เมื่อผู้ป่วยโดนยุงลายพ่นเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่าเข้าใส่ ไวรัสตัวนี้ก็จะใช้เวลาฟักตัวขยายพันธ์ุอยู่ในร่างกายผู้ป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่พวกมันจะพร้อมโจมตีร่างกายของผู้ป่วย โดยต้องบอกว่าไวรัสชิคุนกุนย่านั้นแตกต่างจากเชื้อทั่วไป เพราะว่ามันชอบเข้าไปอยู่อาศัยใน”ข้อ”มากๆ ไม่ว่าจะข้ออะไรก็ตาม ดังนั้นอาการแรกเลยที่ผู้ป่วยมักมีนั่นก็คือ”ปวดข้อ”
โดยอาการปวดข้อของโรคชิคุนกุนย่านั้นไม่ใช่การปวดข้อแบบธรรมดา แต่สามารถปวดจนไม่สามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ปวดจนเดินตัวบิดตัวงอดังชื่อของโรคได้เลย และอาจมีอาการบวมแดงรอบๆข้อได้ด้วย ข้อที่ผู้ป่วยจะปวดได้บ่อยๆก็คือบริเวณ มือ ข้อมือ ข้อเท้า แต่ก็สามารถเกิดได้ในทุกๆข้อที่อยู่ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นศอก ไหล่ เข่า สะโพก และกระดูกสันหลัง เป็นต้น บางคนอาจเริ่มปวดทีละข้อ บางคนอาจเริ่มปวดพร้อมกันหลายข้อ แต่สุดท้ายผู้ป่วยก็จะปวดทั่วร่างกายได้ถึง 10 ข้อภายในเวลา 1-2 วัน
1
อาการที่สำคัญนอกจากปวดข้อก็คือ”ไข้” โดยไข้อาจมีลักษณะคล้ายกับไข้เลือดออกได้เลยก็คือ”ไข้สูงลอย”และ”ยาวนานหลายวัน” เป็นไข้จนปวดหัว อ่อนเพลียและไม่มีแรง ดังนั้นบ่อยครั้งโดยเฉพาะในช่วงแรกๆหมอจึงยังไม่สามารถฟันธงให้ผู้ป่วยได้ว่าพวกเขาเป็นโรคชิคุนกุนย่าหรือโรคไข้เลือดออกกันแน่ ผู้ป่วยจึงยังไม่สามารถวางใจได้ และจำเป็นต้องเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกร่วมไปด้วยเสมอ โดยการมาเจาะเลือดและติดตามอาการกับหมอทุกวันจนกว่าอาการจะคงที่ โดยถ้าผู้ป่วยเป็นโรคชิคุนกุนย่า ผู้ป่วยก็จะไม่มีภาวะเกร็ดเลือดต่ำ ภาวะเลือดออก หรือภาวะช็อก ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่รุนแรงของโรคไข้เลือดออก
ส่วนอาการเล็กน้อยๆอย่างอื่นที่พบได้ก็คือ ตาแดง ผื่น ท้องเสีย เป็นต้น ซึ่งมักเป็นไม่รุนแรง
1
โดยส่วนใหญ่แล้วโรคชิคุนกุนย่ามักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเหมือนไข้เลือดออก แต่ก็อาจสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยวัยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดภาวะล้มเหลวของอวัยวะในหลายๆระบบ เช่น ระบบหายใจ หัวใจ ไต ตับ และการติดเชื้อในสมอง เป็นต้น โดยภาวะเหล่านี้พบได้น้อยมากในโรคชิคุนกุนย่า
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคชิคุนกุนย่าส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย และสามารถหายเองได้ภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้ผู้ป่วยต้องทนทรมาณไปอีกนานหลายเดือนหรือหลายปี นั่นก็คืออาการ”ปวดข้อ” อาการปวดข้อที่หมอได้เล่าไปนั้น มีผู้ป่วยจำนวนมากที่อาจมีอาการปวดข้อแบบนั้นเรื้อรังต่อไปอีกยาวนาน แม้ว่าอาการอื่นๆจะหายไปหมดแล้วก็ตาม ซึ่งตามสถิติทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยแบบนี้ถึง 25-75% ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดที่ข้อเดิม หรือปวดข้อใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องกินยากดภูมิต้านทานเพื่อลดการอักเสบ
1
ปัจจุบันไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่าแต่อย่างใด เนื่องจากเชื้อไวรัสตัวนี้มักตายไปเองได้แม้ไม่ต้องกินยาใดๆ การรักษาส่วนใหญ่จึงรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ ยาลดไข้เพื่อบรรเทาอาการไข้ เป็นต้น
แต่แม้การรักษาจะดูไม่มีอะไรที่ซับซ้อน แต่ก็มีข้อผิดพลาดจุดหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ นั่นก็คือ “ยาแก้ปวด” ซึ่งเป็นยาที่ผู้ป่วยมักซื้อมากินเพื่อลดอาการปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ คำถามก็คือยาแก้ปวดมีปัญหาอะไร?
ยาแก้ปวดไม่มีปัญหาใดๆกับโรคชิคุนกุนย่า แต่ยาแก้ปวดเป็นปัญหาถึงชีวิตกับโรคไข้เลือดออก อย่างที่หมอบอกไปว่าโรคชิคุนกุนย่าอาจมีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออกได้ ดังนั้นก่อนที่หมอจะฟันธงว่าคุณเป็นโรคใด คุณห้ามกินยาแก้ปวดชนิด”NSAIDs”ซึ่งยาต้องห้ามของโรคไข้เลือดออกเด็ดขาด เพราะเมื่อโรคไข้เลือดออกกับยาแก้ปวดชนิดNSAIDsมารวมกันแล้ว มันสามารถทำให้เกิดภาวะเลือดออกที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นข้อแนะนำนี้จึงไม่ได้ใช้กับเฉพาะโรคชิคุนกุนย่า แต่ใช้กับโรคติดเชื้อทุกประเภท ถ้าหมอยังไม่ฟันธงว่าคุณเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่ ยาแก้ปวดชนิดเดียวที่หมออนุญาติให้ใช้ก็คือ”พาราเซตามอล”เท่านั้น โดยยาแก้ปวดชนิดNSAIDsนั้นมีหลายประเภท เช่น ไอบูโพรเฟน(Ibuprofen) ไดโครฟีแนค(Diclofenac) นาพร็อกเซน(Naploxen) เป็นต้น
สุดท้ายนี้ แม้โรคชิคุนกุนย่าจะไม่ใช่โรคที่รุนแรงถึงชีวิต แต่คุณก็จำเป็นต้องป้องกันการโดนยุงกัดให้ได้มากที่สุดอยู่ดี เพราะยุงลายไม่ได้เป็นพาหะกับเฉพาะเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่า แต่ยังเป็นพาหะของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ที่ทำให้เกิดโรคที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมาจำนวนนับไม่ถ้วนแล้ว...
#Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
[R]
UpToDate(แหล่งรวมข้อมูลทางการแพทย์โดยเน้นหลักฐานที่ทันสมัย)
- Chikungunya fever: Epidemiology, clinical manifestations, and diagnosis
- Chikungunya fever: Treatment and prevention
โฆษณา