24 ก.ย. 2019 เวลา 09:57 • กีฬา
ถ้าคุณมั่นใจอะไรสักอย่างมากๆ แต่ดันมีคนทั้งโลกบอกว่าให้ตั้งสติหน่อย เพราะสิ่งที่คุณทำมัน บ้าบอ แหวกคอก ไม่มีใครเขาทำกัน
คุณจะหยุดตามคำที่เขาบอก หรือจะเดินหน้าลุยตามความเชื่อของตัวเองดูสักตั้ง
นี่คือซีรีส์ 2 ตอนจบ เป็นเรื่องราวของ เด็กหนุ่มจากรัฐโอเรกอน ที่ชื่อดิ๊ค ฟอสบิวรี่ ผู้เปลี่ยนโลกของกรีฑาไปอย่างสิ้นเชิง
โอเรกอน เป็นมลรัฐที่มีชื่อเสียงอย่างมากของประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่อง "กีฬา"
รัฐแห่งนี้ปั้นสตาร์ของวงการมาแล้วนับไม่ถ้วน ในแทบทุกชนิดกีฬา
บิลล์ บาวเวอร์แมน โค้ชกรีฑาอัจฉริยะ เกิดที่นี่
เฮเลน แคร์โรลล์ เจ้าของเหรียญทองว่ายน้ำโอลิมปิก เกิดที่นี่
แม้แต่แบรนด์กีฬาอันดับ 1 ของโลก ไนกี้ ก็มีต้นกำเนิดที่โอเรกอนนี่ล่ะ
1
ดังนั้นเหล่าเด็กๆ ในรัฐนี้พวกเขามีความฝันอยากจะเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ เหมือนที่ตำนานหลายคนเคยทำได้
ความฝันเรื่องนี้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กหนุ่มที่ชื่อ ดิ๊ค ฟอสบิวรี่
ดิ๊ค เกิดในปี 1947 ที่เมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน
เขาเกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกีฬาเลยสักนิด คุณพ่อดั๊ก เป็นเซลล์แมน ส่วนคุณแม่เฮเลน เป็นพนักงานขายหนังสือ
กิจวัตรของพ่อคือชอบไปเที่ยวในคลับ ส่วนคุณแม่ชอบเล่นเปียโน พวกเขาทั้งคู่ไม่ได้มีศาสตร์ความรู้อะไรจะไปผลักดันลูกชาย ให้เป็นนักกีฬาที่เก่งกาจได้เลย
อย่างไรก็ตาม ความเป็นคนโอเรกอน ทำให้หนุ่มน้อยดิ๊ค ฝันมาตลอดว่าสักวันเขาจะต้องได้เป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียง คือไม่รู้หรอกว่าจะเล่นกีฬาอะไร แต่ก็วางเป้าหมายชีวิตเอาไว้แบบนั้น
ในสมัยมัธยมต้น ดิ๊ค เริ่มต้นจากกีฬาที่ทุกคนนิยมกันมากๆอย่างอเมริกันฟุตบอล
โครงร่างของดิ๊ค มีส่วนสูงที่ สูงกว่าเด็กม.ต้นทั่วๆไป ทำให้โค้ชคิดว่า เขาน่าจะมีพลังในการหยุดยั้งคู่แข่ง จึงจับเอาดิ๊คไปเล่นในตำแหน่งดีเฟนซีฟเอนด์ ปรากฏว่า ในการแข่งขันจริงวันแรก เขาโดนคู่แข่งแท็กเกิ้ลใส่จนหน้าหงาย ฟันบิ่นไป 3 ซี่
"ดิ๊กร้องไห้กลางสนามเลย" แจ๊ค มัลเล่น ควอเตอร์แบ็กเพื่อนร่วมทีมเล่า "เขาเล่นอเมริกันฟุตบอลไม่ได้หรอก"
ดิ๊คพยายามเล่นอีกหลายกีฬา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้ตัวเขาเองก็คิดว่า หรือเราจะไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้จริงๆ ไปเอาดีทางอื่น อาจจะเวิร์คกว่าก็ได้
แต่ในปี 1961 ระหว่างที่ดิ๊ค เรียนอยู่ในระดับชั้นเกรด 8 (เทียบกับไทยคือ ม.2) ในคลาสวิชาพลศึกษา เขามีโอกาสได้รู้จักกับกีฬาชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า กระโดดสูง (High Jump)
กระโดดสูงเป็นกีฬาที่มีการชิงชัยเหรียญในโอลิมปิก แถมการเล่นก็ไม่ยาก นักกีฬาไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรเลย แค่กระโดดให้พ้นคานที่ตั้งอยู่แค่นั้น ใครกระโดดได้สูงที่สุดก็เป็นฝ่ายชนะ
คุณครูพละ อาจารย์มอนโร อธิบายให้เด็กๆนักเรียนได้ฟังในคลาสว่า "สุภาพบุรุษทุกคน วิธีการกระโดดสูง มี 2 วิธี"
"แบบแรกเราเรียกว่า ท่ากรรไกร (Scissors-kick) เป็นการเตะสลับขา ให้สูงกว่าคาน"
ท่ากรรไกร
"ส่วนท่าที่ 2 เราเรียกว่าท่ากางขา (Straddle) จะใช้ขานำไปก่อน 1 ข้างแล้วค่อยม้วนตัวเอาขาอีกข้างตวัดข้ามคานมาด้วย"
"นักเรียนทุกคนผลัดกันลองกระโดดดูนะ"
สำหรับดิ๊ค ฟอสบิวรี่ เขาทำท่าที่ 1 ได้ดีมาก เขากระโดดได้สูง จนรอน วอลเลซ เพื่อนร่วมชั้นกล่าวสดุดีว่า "เขาเหมือนตัวละมั่งเวอร์ชั่นมนุษย์ชัดๆ"
แต่ในท่าที่ 2 Straddle ฟอสบิวรี่ กลับวิ่งไปชนคานล้มลงมาอย่างไม่เป็นท่า เขาไม่สามารถจัดระเบียบแขนขาได้เลย
ท่า Straddle
แม้จะมีดีบ้าง ร้ายบ้าง แต่ตัวดิ๊ค รู้สึกว่า เออ เขาก็พอใช้ได้เหมือนกันนี่หว่า และรู้สึกชอบการกระโดดสูงขึ้นมา
พอกลับบ้านไป เขาขอให้พ่อช่วยทำแท่นกระโดดเอาไว้ที่สวน เพื่อฝึกซ้อมเป็นประจำ เขารู้สึกจริงๆว่ากีฬาที่ไม่ต้องปะทะกับใครนี่ล่ะ ที่เหมาะกับเขาที่สุดเลย
หลังจบชั้น เกรด 8 ดิ๊คเลื่อนชั้นเป็น Freshman (ม.3) และย้ายไปอยู่โรงเรียนเมดฟอร์ด ไฮสคูล
ด้วยความที่ชอบกระโดดสูงไปแล้ว ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมชมรมกรีฑาของโรงเรียน
ฝีมือของฟอสบิวรี่อยู่ในกลุ่มธรรมดาสุดๆ กระโดดสูงที่เขาพยายามฝึกเต็มที่ ก็ทำความสูงได้ไม่ถึง 150 เซ็นติเมตร ซึ่งไปแข่งกับโรงเรียนอื่นก็คงไม่ชนะ
"ดิ๊ค ฟอสบิวรี่หรอ? เขาแค่เป็นนักเรียนธรรมดาๆคนหนึ่งในทีมกรีฑาของเรา" อดีตเพื่อนร่วมชมรมเล่า
"เขาไม่ใช่นักกีฬาที่เก่งกาจ แต่ก็ไม่ได้เล่นแย่อะไร คือเป็นคนกลางๆ ไม่ได้โดดเด่น"
การกระโดดสูงของเขาไม่ได้มีสถิติที่น่าทึ่งอะไร เขาทำท่า Scissors ได้ดี แต่ท่า Straddle นั้นก็อีกเรื่อง คือฟอสบิวรี่จัดระเบียบร่างกายด้วยท่านี้ไม่เก่งนัก
จุดสำคัญคือในยุคนั้น นักกีฬาระดับโลกไม่มีใครใช้ท่า Scissors อีกแล้ว เพราะถูกพิสูจน์แล้วว่า ทำความสูงยังไงก็น้อยกว่าท่า Straddle
แต่สำหรับฟอสบิวรี่เมื่อเขาทำ Straddle ไม่ค่อยถนัด ก็เลยฝืนใช้ Scissors ต่อไปนั่นแหละ แม้จะรู้ดีว่า ด้วยวิธีกระโดดแบบนี้ มันทำความสูงยากจริงๆ
ฟอสบิวรี่ อาจไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่เขาแสดงความมุ่งมั่นขยันซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ตลอด 2 ปีตั้งแต่มาอยู่ชมรม นั่นทำให้ตอนเขาอยู่ชั้น Sophomore (ม.4) โค้ชดีน เบนสัน หัวหน้าทีมกรีฑาของโรงเรียน ตัดสินใจให้โอกาสเขาลงแข่งขันทัวร์นาเมนต์เล็กๆของโรงเรียนในท้องถิ่น เป็นการตอบแทนความพยายามที่มีมาตลอด
โค้ชไม่ได้หวังอะไรกับฟอสบิวรี่ แค่ส่งลงแข่งขันเพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่า เขาเปิดโอกาสให้ผู้เล่นทุกคนถ้ามีความพยายาม แค่นั้นจริงๆ
20 เมษายน 1963 การแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียนที่แกรนท์ พาส ฟิลด์ ใจของฟอสบิวรี่วัย 16 ปี เต้นระส่ำไม่เป็นจังหวะ เขากำลังจะได้โอกาสพิสูจน์ตัวเองครั้งแรก
หลังรู้จักกับกระโดดสูงมา 2 ปีเต็มๆ และเฝ้าซ้อมมาทุกวัน นี่คือการลงแข่งครั้งแรกของเขา
"ดิ๊ค ฟอสบิวรี่ โรงเรียนเมดฟอร์ด กระโดดครั้งที่ 1" เสียงประกาศจากผู้จัดการแข่งขันดังขึ้น
1
ฟอสบิวรี่ เรียกความสูงที่ 160 เซ็นติเมตร สูงกว่าที่เขาเคยซ้อมได้ในชมรมเล็กน้อย
การกระโดดครั้งแรก เขาใช้ท่า Scissors ปรากฏว่ากระโดดไม่พ้น คานตกลงพื้นเสียก่อน
"หรือเราจะเปลี่ยนมาใช้ Straddle ดี ถ้าใช้ Scissors แล้วพลาดอีก ก็จะโดนมองว่าเป็นไอ้โง่ ที่ใช้ท่าเก่าๆเดิมๆ 2 หนแล้วยังพลาด" ฟอสบิวรี่ เล่าความรู้สึกในเวลานั้น
1
แต่ท่า Straddle เขาก็ไม่มีความมั่นใจอีก ก็เลยตัดใจใช้ Scissors เป็นหนที่ 2 ซึ่งผลลัพธ์ก็เหมือนเดิมคือ "ไม่ผ่าน"
ถึงตรงนี้ เป็นการกระโดดครั้งที่ 3 ที่ 160 เซ็นติเมตร ซึ่งถ้าฟอสบิวรี่พลาดอีก ก็กลับบ้านทันที ไม่ต้องลุ้นอะไรอีก
แล้วเขาจะทำไงดี ถ้าเขาพลาด อาจจะโดนไล่ออกจากชมรมก็ได้ โทษฐานมีผลงานตกต่ำ จนชมรมต้องอับอาย
"ในระหว่างที่ผมกำลังเครียด รอกระโดด อยู่ๆก็มีเสียงจากหัวผมดังขึ้นมา 'ยกก้นขึ้นสิไอ้โง่' ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าทำไมอยู่ๆหัวผมถึงคิดคำนี้ขึ้นมา แล้วผมจะยกก้นยังไงระหว่างการกระโดด"
"ดิ๊ค ฟอสบิวรี่ โรงเรียนเมดฟอร์ด กระโดดครั้งสุดท้ายที่ 160 เซ็นติเมตร" ไม่ทันจะได้คิด ก็มีเสียงเรียกไปลงแข่งซะแล้ว
ฟอสบิวรี่ ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะยืนหยัดใช้ท่า Scissors ต่อไปในการกระโดดครั้งสุดท้าย
เจ้าตัวรวมสมาธิ แล้วออกสตาร์ตวิ่งมา ก่อนจะกระโดดในจังหวะแรกด้วยท่า Scissors ในเสี้ยววินาทีนั้น เขาคิดถึงคำในหัว "ยกก้นขึ้นสิไอ้โง่" ขึ้นมา และตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ เอนหลังของตัวเอง ให้ราบขนานไปกับบาร์ ดันก้นตัวเองให้สูงที่สุดเพื่อให้พ้นคานให้ได้
และเขาก็กระโดดมันพ้นจริงๆ ความสูง 160 เซ็นติเมตร เป็นสถิติดีที่สุด เท่าที่เขาเคยทำได้
มันเป็นจังหวะที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เป็นการผสมผสานระหว่างท่า Scissors 50% กับ ท่าประหลาดที่ไม่เคยมีใครใช้อีก 50%
คุณพ่อของดิ๊ค ที่นั่งอยู่ในกลุ่มคนดูเล่าให้ฟังว่า มีคนซุบซิบนินทาหลังเห็นท่ากระโดดของฟอสบิวรี่
"เขาเริ่มด้วยท่ากรรไกรแบบดั้งเดิม แต่ฉันไม่แน่ใจท่าต่อจากนั้น มันเหมือนผู้ชายกำลังนอนเล่นบนโต๊ะปิกนิกอะไรทำนองนั้น"
สำหรับดิ๊ค ฟอสบิวรี่ มันเป็นจังหวะที่บังเอิญเกิดขึ้น แต่เขาไม่ปล่อยความรู้สึกนั้นให้เสียเปล่า เขาจำฟีลลิ่งตอนกระโดดเอาไว้ แล้วเอาไปใช้อีก
ฟอสบิวรี่ กระโดดผ่าน 170 เซ็นติเมตรด้วยท่าใหม่ จากนั้นเขาเรียก 175 เซ็นติเมตร ก็ผ่านอีก!
จากตัวโนเนม ฟอสบิวรี่ก้าวขึ้นไปลุ้นเหรียญทองในการแข่งเฉยเลย
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เขารอจะกระโดดในครั้งต่อไป คณะกรรมการจัดการแข่ง เดินมาบอกว่า ท่าของฟอสบิวรี่ ไม่เคยมีใครใช้มาก่อนเลย แต่ผู้จัดคิดว่าน่าจะเป็นการฟาวล์ จึงสั่งยกเลิกผลการกระโดดครั้งล่าสุด กลายเป็นว่าฟอสบิวรี่ จบแค่อันดับ 4 เท่านั้น แทนที่จะมีเหรียญติดมือ
แต่จากไอเดียในวันนั้น กลายเป็นตัวจุดชนวนในใจของฟอสบิวรี่ขึ้นมา
บางทีเขาอาจค้นพบสิ่งมหัศจรรย์บางอย่างขึ้นมาแล้วก็ได้นะ
1
หลังจบการแข่งทัวร์นาเมนต์ท้องถิ่น คราวนี้ฟอสบิวรี่ หันมาฝึกท่ากรรไกร + อะไรก็ไม่รู้ อย่างจริงจัง เขาสามารถใช้มันเป็นไม้ตายได้เลย
"สรุปว่านายจะยึดกับท่าใหม่นั่นจริงๆใช่ไหม ไม่ใช้ Straddle เหมือนคนอื่นเขาใช่ไหม" โค้ชเบนสันถาม
1
"ใช่แล้ว ผมคิดว่ามันเวิร์คนะโค้ช" ฟอสบิวรี่ตอบ
1
ในมุมของโค้ชก็ไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะการแข่งครั้งที่แล้วก็โดนจับฟาวล์ อย่างไรก็ตาม ฟอสบิวรี่ ได้ไปหาหนังสือกฎการแข่งกระโดดสูงอย่างเป็นทางการ มีเนื้อความระบุชัดเจนว่า
1
"การกระโดดสามารถทำวิธีไหนก็ได้ วิ่งจากมุมไหนก็ได้ ขอเพียงแค่ทุกส่วนของร่างกายต้องผ่านคาน โดยที่ไม่ร่วงลงมา"
การที่เขาโดนปรับฟาวล์ตอนนั้น เพราะกรรมการท้องถิ่นเองต่างหากที่ไม่แม่นกฎ เขามั่นใจว่าวิธีของเขามันเวิร์ค และไม่ผิดกฎใดๆทั้งสิ้น
1
ฟอสบิวรี่ เมื่อค้นพบท่าใหม่ที่ตัวเองคิด ก็ฝึกมันซ้ำๆอยู่อย่างนั้น แต่เขาก็โดนคนหัวเราะเยาะมาตลอด ว่าท่ากระโดดบ้าบออะไร ประหลาด ถ้าเวิร์คจริงนักแข่งระดับโลกก็ใช้กันแล้วสิ
1
แต่เขาหาได้แคร์ไม่ ฟอสบิวรี่พัฒนาท่านี้ให้สมบูรณ์ขึ้น ทั้งมุมองศาที่ถูกต้อง ความเร็วที่เหมาะสมในการวิ่ง และจังหวะเก็บอวัยวะที่ต้องทำให้เนียนที่สุด
จนผ่านไป 2 ปี ฟอสบิวรี่ลงแข่งขันระดับรัฐอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มสถิติของตัวเองได้อย่างน่าประทับใจ
1
จากความสูง 170 เขาทำตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปถึง 180 และไปสูงสุดที่ 197 เซ็นติเมตร ในตอนที่เขาเรียนอยู่ชั้น Senior (ม.6)
1
ในประวัติศาสตร์ของเด็กมัธยมปลาย รัฐโอเรกอน สถิติสูงที่สุดในกีฬากระโดดสูงคือ 200 เซ็นติเมตร ซึ่งฟอสบิวรี่ เกือบจะทำลายได้ ด้วยท่าใหม่ที่เขาคิดค้นขึ้นเอง
2
นักข่าวไปถามฟอสบิวรี่ ว่าจะเรียกท่ากระโดดที่เขาคิดค้นว่าอะไรดี เพราะจะให้เรียก "ท่าอะไรก็ไม่รู้" ตลอดไป มันก็คงพิลึกเกิน
1
"งั้นใช้ชื่อ Fosbury Flop ได้ไหม (ท่าร่วงโรยสไตล์ฟอสบิวรี่)"
ชื่อนี้โดนใจนักข่าวอย่างจัง เพราะมันเรียกง่ายดี ฟอสบิวรี่ ฟล็อป แลดูเป็นไม้ตายในหนังสือการ์ตูนเลย
สุดท้ายท่า Scissors 50% + ท่าอะไรก็ไม่รู้ 50% จึงถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นที่รู้กันในสื่อมวลชนว่า "ฟอสบิวรี่ ฟล็อป"
จังหวะ fosbury flop
ด้วยผลงานที่โดดเด่น ทำให้หลังจากจบการศึกษาเทอมสุดท้ายของมัธยมปลาย เบอร์นี่ ว้ากเนอร์ โค้ชจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน สุดยอดสถาบันในฝันของนักกีฬา ได้ติดต่อฟอสบิวรี่มา ด้วยข้อเสนอที่ใครๆก็ยากจะปฏิเสธได้
"เราจะมอบทุนเล่าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้กับคุณ"
"นอกจากนั้น เรายังพร้อมส่งคุณไปคัดตัวแข่งขันโอลิมปิก 1968 ที่ประเทศเม็กซิโกด้วย ถ้าหากคุณพร้อม"
"มหาวิทยาลัยของเรามีชื่อเสียงเรื่องกีฬาอยู่แล้ว เราพร้อมจะซัพพอร์ทคุณทุกอย่าง ทั้งเรื่องตารางการซ้อม อุปกรณ์การซ้อม สตาฟฟ์โค้ช และวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกอย่าง เรายินดีช่วยเหลือคุณเพื่อให้คุณพัฒนาขึ้น"
นี่ดูเป็นข้อเสนอที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ได้เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ คือจบไปก็มีการงานทำแน่นอน ขณะที่เรื่องการเป็นนักกีฬา ถ้าคุณได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยโอเรกอน รับรองว่าโอลิมปิกไม่ใช่แค่ความฝัน
เพราะที่นี่คือแหล่งผลิตนักกีฬาโอลิมปิกของสหรัฐฯมาแล้วไม่รู้กี่คนต่อกี่คน มันคือความภูมิใจของสถาบันเลยก็ว่าได้
"แต่เราขอคุณแค่เงื่อนไขเดียวเท่านั้น" ว้ากเนอร์ยื่นข้อเสนอ
"ใช้ท่า Straddle ตอนแข่งขันเถอะ"
คำขอร้องของว้ากเนอร์ ไปกระทบจิตใจของฟอสบิวรี่อย่างจัง
นั่นเพราะตัวเขาเองก็คิดอยู่ตลอดเหมือนกัน ว่าท่าที่ตัวเองคิดขึ้นมันดีจริงหรอวะ?
คือถ้าหากท่าฟอสบิวรี่ ฟล็อปของเขามันเจ๋งจริงๆ ทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่เคยมีนักกีฬาระดับโลกคนไหนใช้มันมาก่อนสักหนเดียวเลยล่ะ
นักกีฬากระโดดสูงทั่วโลก รวมถึงเจ้าของเหรียญโอลิมปิกคนล่าสุด ทุกคนใช้แต่ท่า Straddle ทั้งนั้น
"ผมเคยมีประสบการณ์โค้ชนักกีฬาหลายคนให้ประสบความสำเร็จด้วยการใช้ท่า Straddle มาแล้ว และผมก็คิดว่า จะทำแบบนั้นกับคุณได้เหมือนกัน" โค้ชว้ากเนอร์บอกตามตรงกับฟอสบิวรี่
ฟอสบิวรี่ ได้ยินดังนั้นก็เลยคิดย้อนอดีต หรือบางทีเขาอาจจะได้โค้ชไม่เก่งนักในสมัยมัธยม เลยใช้ Straddle ไม่ค่อยได้ผล บางทีถ้าเขาทำท่านี้เป็น อาจจะได้สถิติดียิ่งกว่าฟอสบิวรี่ ฟล็อป ก็ได้นี่นา
แม้แต่ตัวฟอสบิวรี่เองยังหวั่นไหว และไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดค้นขึ้น
ก็เมื่อทั้งโลกไม่มีใครใช้ แล้วเขาควรเดินแหวกแนวจากคนอื่นหรอ และถ้าสิ่งที่เราคิดมันดีจริง คนจะยังหัวเราะเยาะเขาแบบนี้อยู่อีกเหรอ?
"คุณฟอสบิวรี่ ตกลงไหมกับเงื่อนไขนี้?"
ฟอสบิวรี่หยุดคิด และสุดท้าย พยักหน้า
"ตกลง"
ฟอสบิวรี่คิดละเอียดแล้ว จึงตัดสินใจตอบไปแบบนั้น
เพียงแต่เขาไม่เคยรู้เลยว่า คำว่า ตกลง ในครั้งนั้น มันจะส่งผลรุนแรง ชนิดที่ตัวเขาเองก็คาดไม่ถึง
(อ่านต่อพรุ่งนี้)
โฆษณา