26 ก.ย. 2019 เวลา 08:30 • สุขภาพ
โรคฉี่หนู...โรคที่มาพร้อมกับน้ำที่ท่วมขัง!
โรคฉี่หนู แม้ว่าจะมีชื่อโรคอย่างนี้ แต่จริงๆแล้วโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทบทุกสปีชี่ย์ ดังนั้นต่อให้คุณคิดว่าคุณไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับหนูเลย คุณก็อาจได้รับเชื้อตัวนี้มาจากสัตว์เลี้ยงของคุณได้เช่นกัน!
แบคทีเรียที่ชื่อว่า”เลปโตสไปร่า”เป็นแบคทีเรียที่เป็นเจ้าของโรคฉี่หนูนี้ ซึ่งหมอขอเรียกง่ายๆว่า”เชื้อฉี่หนู”ก็แล้วกัน แบคทีเรียตัวนี้มีแหล่งที่อยู่อาศัยหลักในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทบทุกชนิดที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างพวกเรา เพราะต้องบอกว่าร่างกายของพวกเรานั้นไม่แข็งแรงพอที่จะให้เชื้อตัวนี้อยู่ เชื้อฉี่หนูจึงเข้าไปอยู่อาศัยในสัตว์ที่สามารถทนต่อการติดเชื้อของมันได้นานๆ อย่างเช่น หนู หมู หมา วัว ควาย แพะ แกะ ม้า เป็นต้น แต่ไม่ค่อยพบในแมวนะครับ ดังนั้นทาสแมวก็น่าจะปลอดภัยระดับหนึ่ง
สัตว์เหล่านี้จริงๆแล้วก็ไม่ได้มีร่างกายแข็งแรงกว่าพวกเราหรอกครับ เพียงแต่ว่าพวกมันมีโครงสร้างที่เหมาะสมพอดีที่จะเป็นที่อยู่ของเชื้อฉี่หนู สัตว์เหล่านี้จึงมีอาการจากการติดเชื้อเพียงน้อยนิด โดยเชื้อฉี่หนูก็จะชอบไปอาศัยที่”ไต”ของสัตว์เหล่านี้ ทำให้ฉี่ของสัตว์เหล่านี้สามารถมีเชื้อฉี่หนูปนเปื้อนออกมาได้เสมอ
แต่อย่างไรก็ตาม ในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดนั้น สัตว์ตระกูล”หนู”ก็ถือเป็นที่อยู่ที่สำคัญที่สุดของเชื้อฉี่หนู เพราะว่าโครงสร้างของสัตว์ชนิดนี้เหมาะสมเหมาะเจาะกับการอยู่ร่วมกันกับเชื้อฉี่หนูมากที่สุด โดยหนูที่ติดเชื้อนั้นจะไม่มีอาการใดๆ และฉี่ของหนูที่ติดเชื้อนั้นก็จะปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูออกมาได้ตลอดทั้งชีวิต
เมื่อสัตว์ที่ติดเชื้อเหล่านี้ปลดปล่อยฉี่ที่มีเชื้อฉี่หนูออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกแล้ว เชื้อฉี่หนูก็มีความอืดที่จะอยู่ในดินหรือน้ำต่อไปได้อีกหลายวันหรือหลายเดือนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ยิ่งอากาศชื้นมากเท่าไร ก็ยิ่งอยู่ในนานมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเชื้อฉี่หนูจึงอาจมีอยู่รอบตัวพวกเรามากกว่าที่หลายๆคนคิด โดยคนที่มีอาชีพชาวสวน ชาวไร่ เลี้ยงสัตว์ ชาวประมง สัตวแพทย์ นักกีฬาทางน้ำ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อฉี่หนูมากกว่าคนทั่วไป
สำหรับคนทั่วไปนั้น อาจมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อได้น้อยกว่า แต่ในภาวะที่มีน้ำท่วมขังตามแหล่งบ้านเรือนแบบนี้ เชื้อฉี่หนูก็จะสามารถล่องลอยมาตามกระแสน้ำได้อย่างไม่ยากเย็นเลย ซึ่งก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เฉพาะฉี่หนูเท่านั้น แต่เป็นฉี่ของสัตว์แทบทุกชนิด!
แต่ก็เป็นเรื่องโชคดีที่การติดเชื้อฉี่หนูนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกันได้ง่ายๆ เพราะเชื้อฉี่หนูไม่สามารถชอนไชทะลุผิวหนังแล้วทำให้พวกเราติดเชื้อได้ โดยเชื้อตัวนี้ต้องมีทางเข้าเท่านั้น โดยทางเข้าที่ว่านี้ก็คือ“บาดแผล”นั่นเอง บาดแผลเป็นทางเข้าที่สำคัญที่สุดของเชื้อฉี่หนู ไม่ว่าแผลนั้นๆจะมีขนาดเท่าใดก็ตาม ดังนั้นใครที่กำลังมีบาดแผลตามร่างกายอยู่ ต้องระวังเป็นพิเศษ โดยการใส่เสื้อผ้า รองเท้า ถุงมือที่สามารถป้องกันการสัมผัสกับแหล่งน้ำขังได้
นอกจากนี้ แม้ว่าคุณจะไม่มีบาดแผลใดๆ เชื้อฉี่หนูก็ยังสามารถชอนไชเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเนื้อเยื่ออ่อนที่ไม่มีผิวหนังปกคลุมได้เช่นกัน เช่น เยื่อบุปาก เยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุตา เป็นต้น ดังนั้น แม้ว่าคุณจะป้องกันตัวเองดีมากเพียงใด บางทีเชื้อฉี่หนูก็ยังอาจหาทางเข้าไปในร่างกายของคุณได้อีกอยู่ดี เว้นเสียแต่ว่าคุณจะสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแหล่งเชื้อโรคได้ทั้งหมด
เมื่อเชื้อฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยแล้ว พวกมันก็จะวิ่งตรงเข้าสู่กระเเสเลือดอย่างรวดเร็วจนแทบไม่มีอาการอักเสบใดๆที่บริเวณผิวหนังที่เป็นปากทางเข้าของมันเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าแทบไม่ทิ้งร่องลอยการงัดแงะเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยเลย เมื่อเข้าสู่กระเเสเลือดเเล้ว ความสามารถพิเศษของเชื้อฉี่หนูก็คือพวกมันสามารถรุกรานและทำลายระบบเส้นเลือดของอวัยวะได้แทบทุกอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น ตับ ไต ลำไส้ ปอด สมอง เป็นต้น และเมื่ออวัยวะเหล่านี้มีระบบเส้นเลือดที่เสียไป ก็อาจทำให้พวกมันทำงานผิดปกติจนถึงขั้นล้มเหลวเฉียบพลันไปได้เลยทีเดียว!
แต่อย่างไรก็ตาม แม้เชื้อฉี่หนูมันจะมีความสามารถในการทำลายเก่งแบบนี้ แต่พวกมันก็ไม่ได้เก่งแบบนี้ในทุกๆครั้ง หลายๆครั้งพวกมันก็ถูกภูมิต้านทานของผู้ป่วยทำลายได้อย่างง่ายดาย บางครั้งพวกมันก็อาจมีแรงพอแค่รุกรานอวัยวะเพียงบางอวัยวะ ดังนั้นอาการของโรคฉี่หนูจึงสามารถมีได้หลากหลายมาก บางคนก็อาจเป็นเพียงไข้ธรรมดาๆทั่วไป บางคนก็อาจมีปวดท้อง ท้องเสีย ผื่น ตาแดง ตัวเหลือง ไอหอบ บางคนก็อาจมีอวัยวะบางอย่างทำงานผิดปกติไป แต่บางคนก็อาจติดเชื้อลุกลามทั่วร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิต
ดังนั้นถ้าถามว่าอาการของโรคฉี่หนูนั้นเป็นอย่างไร ก็อาจเรียกได้ว่าอาการแบบใดก็สามารถเป็นโรคฉี่หนูได้ทั้งนั้น โดยอาการในระยะเริ่มแรกที่คุณต้องสงสัยก็คือ ไข้สูง เป็นนานอย่างน้อย 3 วันไม่ลงเสียที เพียงแค่นี้คุณก็ควรไปหาหมอแล้วไม่ว่าคุณจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม หรืออาจมาหาหมอตั้งแต่วันแรกเลยก็ได้ถ้าคุณมีอาการป่วยมากจริงๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่าสุดท้ายแล้ว ภูมิต้านทานของผู้ป่วยก็มักฆ่าเชื้อฉี่หนูเหล่านี้ได้อยู่ดี บางคนอาจใช้เวลาฆ่าเพียงไม่นาน แต่บางคนก็อาจใช้เวลานานจนทำให้ผู้ป่วยต้องมีไข้นอนซมไปหลายวัน ซึ่งถ้าผู้ป่วยมาพบหมอ หมอก็จะให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อให้เข้าไปช่วยกันฆ่าเชื้อฉี่หนูให้ตายเร็วขึ้น แต่ก็อย่างที่ได้เล่าไป ผู้ป่วยบางคนก็อาจไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อตัวนี้ได้และทำให้ติดเชื้อลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษา
อย่างที่บอกไปว่าเชื้อฉี่หนูนี้มีความสามารถในการทำลายเก่งมากๆ แต่พวกมันก็ไม่ได้เก่งแบบนี้ในทุกๆครั้งและทุกๆคน แต่คุณก็ไม่อาจสามารถคาดการณ์ได้ว่าพวกมันจะไปเลือกเก่งตอนไหนและเลือกเก่งกับใคร ดังนั้นโรคฉี่หนูก็ยังเป็นโรคที่ประมาทมันไม่ได้อย่างเด็ดขาด
สุดท้ายนี้ สำหรับคนที่ไม่ได้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ แต่มีสัตว์เลี้ยง ก็อย่าลืมพาพวกมันไปฉีดวัคซีนเชื้อฉี่หนูตัวนี้กันด้วย และสำหรับคนที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมอยู่ ขอให้พยายามป้องกันเชื้อตัวนี้ให้ได้มากที่สุด และขอให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยดีนะครับ!
#Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
[R]
UpToDate(แหล่งรวมข้อมูลทางการแพทย์โดยเน้นหลักฐานที่ทันสมัย)
- Leptospirosis: Epidemiology, microbiology, clinical manifestations, and diagnosis
- Leptospirosis: Treatment and prevention
www.cdc.gov : Leptospirosis Fact Sheet
http://www.searo.who.int : Leptospirosis
โฆษณา