30 ก.ย. 2019 เวลา 11:00 • กีฬา
NBA 101 - พื้นฐานที่ควรรู้ สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาหรือเริ่มดู NBA (ตอนที่ 4) - พื้นฐานการเสริมทีมและการซื้อขายตัวผู้เล่น
บทความพื้นฐานก่อนหน้านี้ ผู้อ่านคงจะได้ทราบถึงโครงสร้างคร่าวๆ ของทีม โปรแกรมการแข่งขัน และการบริหารจัดการทีมในช่วงปิดฤดูกาลกันไปแล้ว
ในบทความนี้จะกล่าวถึงสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำทีมกีฬา นั่นคือ การเสริมตัวผู้เล่นเข้าสู่ทีม
ดาวเด่นของแต่ละทีม
Q. แต่ละทีมใน NBA สามารถซื้อขาย หรือเสริมทัพผู้เล่นอย่างไรบ้าง
A. American Games จะมีกฏการซื้อขายที่ไม่เหมือนทีมกีฬาสากลทั่วไป
กล่าวคือ ทีมจะไม่มีระบบการซื้อขายแต่อย่างใด แต่จะใช้ระบบที่เรียกว่า เพดานค่าเหนื่อย (Salary Cap) ในการกำหนดมูลค่ารวมของทีม
โดยผลรวมของ Salary Cap ของแต่ละทีม คือค่าเหนื่อยของผู้เล่นทุกคนในทีมรวมกันในปีนั้นๆ (เช่น ฤดูกาล 2019/20 จะคำนวณจากค่าเหนื่อยที่ระบุในสัญญาของปี 2019/20 เท่านั้น ปีถัดจากนั้นจะไม่ได้นำมาคำนวณด้วย)
ทุกทีมจะมี Salary Cap เท่ากันในการสร้างทีม ซึ่ง Salary Cap จะมีปริมาณเท่าไหร่ บางส่วนจะขึ้นกับรายได้รวมของทางลีก (ค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ค่าสปอนเซอร์ และรายได้อื่นๆ) ซึ่งจะมีการประกาศก่อนที่ตลาด Free Agency จะเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
กรณีของ NBA นั้น Salary Cap ในฤดูกาล 2019/20 จะมีทั้งสิ้น 109.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทางลีกจะมีมาตรการ Soft Cap ในการกำหนดเพดานเงินเดือนด้วย (ไม่เหมือน American Games อื่นๆ ที่ใช้มาตรการ Hard Cap คือห้ามเกินเด็ดขาด จะมีกรณียกเว้นอยู่แต่น้อยมาก)
ในแต่ละทีมจะต้องทำการจ้างผู้เล่น ไม่ให้เกินเพดานเงินเดือน และต้องไม่ต่ำกว่า 90% ของเพดานรวม (ฤดูกาล 2019/20 คือ 98.23 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยแต่ละทีมจะต้องมีผู้เล่นที่ลงทะเบียนในสังกัดจำนวนสูงสุด 15 คน
ในกรณีที่เกินเพดานเงินเดือนแล้ว จะไม่สามารถเซ็นผู้เล่นจากตลาด Free Agents เพิ่มได้ (มีข้อยกเว้นบางอย่างที่จะทำให้เซ็นได้) แต่จะยังสามารถทำการ Trade สัญญาผู้เล่นในสังกัดกับทีมอื่นได้ รวมไปถึงยังสามารถเซ็นสัญญาใหม่กับผู้เล่นในสังกัดเดิมได้ (หรือที่เรียกว่า Re-Signing)
เพียงแต่ต้องไม่เกินเส้นที่เรียกว่า Tax Line ถ้าเกินกว่านั้น ทางทีมจะต้องจ่ายภาษีฟุ่มเฟือยให้กับทางลีก ภาษีนี้จะเรียกว่า Luxury Tax (ฤดูกาล 2019/20 Tax Line จะอยู่ที่ 132.63 ล้านเหรียญสหรัฐ)
1
นอกจากนั้นยังมีบทลงโทษปรับเพิ่มอีกเรื่อยๆ กรณีที่ทีมได้จ่าย Luxury Tax หลายปีติดต่อกัน
ซึ่ง Luxury Tax ที่จะต้องจ่ายมีมูลค่ามหาศาลมากๆ ทำให้ทีมที่เจ้าของทีมไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ต้องระวังไม่ให้เกินเส้น Tax Line โดยเด็ดขาด
ดังนั้น เมื่อแต่ละทีมได้ทราบข้อมูลของ Salary Cap และตรวจสอบถึงปริมาณ Cap ที่ทีมตัวเองยังเหลืออยู่แล้ว แต่ละทีมก็จะต้องนำไปบริหารจัดการเพื่อหาผู้เล่นให้เข้ากับแนวทางในการบริหารทีมให้ได้มากที่สุด
โดยหลักแล้ว การเสริมผู้เล่นใน NBA สามารถแบ่งได้เป็น 3 แนวทาง
1. Draft หรือการคัดเลือกผู้เล่นหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยเล่นใน NBA เข้าสู่ทีม
การลงทะเบียน Draft ถือเป็นก้าวแรกของผู้เล่นทุกคนที่ต้องการเข้ามาใน NBA
ผู้เล่นทุกคนต้องลงทะเบียนเป็น Draft Player ก่อน ถึงจะมีสิทธิ์ในการเข้าสังกัดทีมใน NBA ได้ โดยจะถูก Draft หรือไม่ก็ได้ แต่ต้องลงทะเบียนแล้วเท่านั้น
ในส่วนของทีม ในแต่ละปี แต่ละทีมจะมีสิทธิ์ Draft ผู้เล่นได้ 2 ครั้ง แบ่งเป็นรอบแรก 1 ครั้ง และรอบสอง 1 ครั้ง (รายละเอียดคร่าวๆ ดูได้ที่ NBA 101 ตอนที่ 3)
แต่ละทีมจะต้องทำการวิเคราะห์ผู้เล่นที่ต้องการจะ Draft เข้าทีม โดยมีหลักการคร่าวๆ ดังนี้
-ทีมขาดผู้เล่นในตำแหน่งนั้นๆ โดยตรง และในตลาด Draft มีผู้เล่นทีต้องการ
-ทีมขาดผู้เล่นในตำแหน่งนั้นๆ แต่ในตลาด Draft ไม่มีผู้เล่นทีต้องการ ทีมจึงมองหาผู้เล่นที่ทีมคิดว่ามีศักยภาพมากที่สุด และทำการ Trade กับผู้เล่นที่สังกัดทีมอื่นในภายหลัง
-ทีมยังไม่ต้องการผู้เล่น Draft ในปีนี้ ทีมจะสามารถ Trade สิทธิ์ Draft ไปให้ทีมอื่นได้ โดยอาจแลกกับผู้เล่น เงินสด หรือสิทธิ์ Draft ของทีมอื่นในปีเดียวกัน หรือในปีที่ตกลงกันได้
-ทีมขาดผู้เล่นในตำแหน่งนั้นๆ แต่ได้อันดับ Draft ที่ไม่ดีนัก ทำให้ทีมอื่นที่ขาดผู้เล่นในตำแหน่งเดียวกันได้เลือกผู้เล่นตัดหน้าไปก่อนแล้ว ทีมอาจทำการเสนอสิทธิ์ Draft ในปีที่ตกลงกัน เงินสด หรือผู้เล่นในสังกัด เพื่อ Trade ให้ทีมดังกล่าวส่งผู้เล่นทีต้องการเข้าทีม
-กรณีอื่นๆ แล้วแต่การบริหารของทีม
สัญญาจ้างจากการ Draft ผู้เล่น จะถูกเรียกว่าเป็น Rookie Contract โดยจะเป็นสัญญาการันตี (ได้ค่าเหนื่อยเต็มจำนวนที่ระบุในสัญญา) ด้วยอัตราคงที่ ลดหลั่นกันไปตามอันดับที่ถูก Draft โดยปกติสัญญาจะมีระยะ 4 ปี (สัญญาการันตี 2 ปี ส่วนปีที่ 3+4 จะเป็น Team Option)
ถ้าผู้เล่นที่ลงทะเบียน Draft แต่ไม่มีทีมไหนดึงตัวเข้าสังกัดเลย ผู้เล่นนั้นจะกลายเป็น Undrafted Free Agency ซึ่งจะเข้าสังกัดทีมได้ทันที แต่เงื่อนไขในสัญญาจ้างจะต่ำกว่าผู้เล่นที่ถูก Draft พอสมควร (โอกาสในการแสดงฝีมือ อาจเป็นลีกต่างประเทศ, G-League, หรือ Summer League เป็นต้น)
1
2. การ Trade สัญญาระหว่างผู้เล่นของแต่ละทีม
ตัวอย่างผู้เล่นที่ย้ายทีมในฤดูกาล 2019/20
ทางเลือกที่สองในการเสริมทัพ คือการ Trade รับผู้เล่นที่มีสัญญาจากทีมอื่นให้มาสังกัดทีมตัวเอง
โดยสิ่งที่จะใช้ในการ Trade นั้นมีหลายอย่าง เช่น
-ผู้เล่นที่มูลค่าสัญญาใกล้เคียงกัน หรือถ้าไม่ใกล้เคียง จะต้องรวมสิทธิ์อื่นๆ ให้มีมูลค่าใกล้เคียงกัน (เช่น ผู้เล่นมากกว่า 1 คน หรือสิทธิ์ Draft)
-สิทธิ์ Draft ล่วงหน้าของทีม (ในกรณีนี้ ทีมคู่ค้าจะต้องทำการวิเคราะห์ด้วยว่าสิทธิ์ Draft ที่ได้นั้นเหมาะสมกับมูลค่าผู้เล่นหรือไม่ อย่างไร) ซึ่งอาจจะเป็นรายปี หรือหลายปีก็ได้
-สิทธิ์สองอย่างข้างต้น รวมเงินสดจำนวนหนึ่ง หรืออื่นๆ
2
โดยการ Trade สัญญา จะต้องดูมูลค่า Salary Cap ของแต่ละทีมที่เหลืออยู่ประกอบด้วย ถ้าหลังทำการ Trade แล้วมีทีมใดทีมหนึ่งเกิน Cap จะต้องเข้าข่ายข้อบังคับและข้อยกเว้นบางอย่างของทางลีก ถึงจะสามารถ Trade ได้
สำหรับทีมที่มีผู้เล่นที่สัญญาสิ้นสุดหลังจบฤดูกาลล่าสุด จะยังสามารถทำการ Trade ผู้เล่นดังกล่าวไปทีมอื่นได้อยู่ กรณีนี้จะเรียกว่า Sign-and-Trades (เนื่องจากต้องมีสัญญาอยู่ในทีม ถึงจะทำการ Trade ได้)
หรือในกรณีที่ผู้เล่นเหลือสัญญาปีสุดท้ายหลังจบฤดูกาลล่าสุด ทีมจะสามารถทำการขยายสัญญา จากนั้นจึงจะทำการ Trade ต่อไปได้ด้วย เพื่อให้มูลค่าสัญญาใกล้เคียงกับผู้เล่นอีกฝ่ายมากขึ้น กรณีนี้จะเรียกว่า Extension-and-Trades
กรณีนี้เป็นการช่วยทีมไม่ให้เสียผู้เล่นไปเป็น Free Agency แบบไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมาเลย เพียงแต่การ Trade ในลักษณะนี้จะต้องมีข้อบังคับบางอย่างเช่นกัน
โดยผู้เล่นที่มีข้อตกลงในการถูก Trade จะไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการย้ายทีม ยกเว้นแต่จะมี No-Trade Clause ระบุไว้ในสัญญา
ในบางกรณี การ Trade อาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้มากกว่าสองทีม กรณีที่สองทีมดังกล่าวอยาก Trade แต่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ ก็จะมีการดึงทีมที่สาม (หรือสี่) มาเกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่าง เช่น
ทีม A ต้องการผู้เล่นทีม B โดยเสนอเป็นผู้เล่นให้ Trade
ทีม B ไม่ต้องการผู้เล่นในข้อเสนอ Trade ของทีม A และวิเคราะห์แล้ว ไม่มีผู้เล่นคนไหนในทีม A ที่ทีม B ต้องการเลย ทีม B เลยต้องการสิทธิ์ Draft ที่สมน้ำสมเนื้อ แต่ทีม A ไม่มีให้ จึงต้องทำการเจรจากับทีม C
ทีม C ต้องการผู้เล่นทีม A แถมมีสิทธิ์ Draft ที่ทีม B ต้องการ
จึงเกิดการตกลง Trade สามทาง แบ่งเป็น
ทีม A ได้ผู้เล่นทีม B เสียผู้เล่นให้ทีม C
ทีม B ได้สิทธิ์ Draft จากทีม C เสียผู้เล่นให้ทีม A
ทีม C ได้ผู้เล่นทีม A เสียสิทธิ์ Draft ให้ทีม B
(เป็นแค่ตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น)
3. การเซ็นสัญญาผู้เล่นจากตลาด Free Agency เข้าสังกัด
ตัวอย่างดาวเด่นในตลาด Free Agency ปี 2019
การที่จะเซ็นสัญญากับผู้เล่นในตลาด Free Agency ได้ จะต้องเข้าใจเงื่อนไขบางอย่างก่อน
โดยหลักแล้วผู้เล่นที่หมดสัญญากับต้นสังกัด จะเข้าสู่ตลาด Free Agency หรือผู้เล่นที่ไม่ถูก Draft ก็จะถือเป็น Free Agency เช่นกัน แต่มูลค่าสัญญาจ้างที่มีข้อบังคัับจะแตกต่างกันมาก
และปกติผู้เล่นที่เข้าสู่ตลาดนี้ จะมีสองสถานะ คือ RFA และ UFA
RFA - Restricted Free Agent คือ ผู้เล่นสามารถหาสังกัดใหม่ และตกลงสัญญาฉบับใหม่ได้
แต่หลังจากที่ทีมใหม่ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการมาแล้ว ทีมเก่าในสังกัดจะมีช่วงเวลาที่กำหนด (ประมาณ 3 วัน) ในการ Match Offer หรือเสนอสัญญาใหม่เท่ากับค่าจ้างที่ทีมใหม่เสนอมา
ถ้าทีมในสังกัดเดิมทำการ Match Offer มาแล้ว ผู้เล่น RFA จะต้องอยู่กับทีมเดิมต่อไป
UFA - Unrestricted Free Agent คือ ผู้เล่นสามารถหาสังกัดและเซ็นสัญญาใหม่ได้ทันที ไม่มีภาระผูกพันแล้ว (อาจจะเซ็นกับทีมเดิมก็ได้ แต่จะได้เป็นสัญญาฉบับใหม่)
และนอกจากแต่ละทีมต้องวิเคราะห์ว่า Free Agency แต่ละคนเป็น RFA หรือ UFA แล้ว จะต้องพิจารณาล่วงหน้าก่อนด้วยว่าผู้เล่นสังกัดทีมตัวเอง มี Option เป็นอย่างไร และประกาศใช้แบบไหน
โดย Contract Option ในสัญญา โดยหลักแล้วจะมีสองแบบ คือ Team Option และ Player Option
ทั้งสองอย่างจะมีผลในปีสุดท้ายของสัญญาเหมือนกัน เพียงแต่จะแตกต่างกันตรงที่
Team Option ทีมจะเป็นผู้เลือกว่าจะ Opt In เก็บผู้เล่นไว้กับทีมต่อ หรือ Opt Out ปล่อยผู้เล่นให้เป็น FA (แต่จะ RFA หรือ UFA ก็ขึ้นกับเงื่อนไข)
Player Option ผู้เล่นจะเป็นผู้เลือกว่าจะ Opt In อยู่กับทีมเดิมต่อในสัญญาเดิม หรือ Opt Out เพื่อให้เป็น FA (ส่วนมากจะเป็น UFA)
โดยรายละเอียดในส่วนเหล่านี้ จะต้องมีข้อสรุปให้เรียบร้อยก่อนที่ตลาด Free Agency จะเริ่มต้น เพื่อให้แต่ละทีมสามารถกำหนดทิศทางในการบริหารผู้เล่นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
และต้องอย่าลืมว่าจะทำการเซ็นผู้เล่นคนไหน จ่ายค่าเหนื่อยเท่าไหร่ จะต้องดู Salary Cap ประกอบไปด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าการเสริมทัพผู้เล่นให้กับทีม จะต้องมีข้อตกลงและเงื่อนไขต่างๆ มากมายพอสมควร
สิ่งที่กล่าวถึงในบทความเป็นแค่พื้นฐานเท่านั้น ยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกพอสมควร
ถ้ามีโอกาส ก็จะทำการกล่าวถึงต่อไปครับ รายละเอียดบางอย่างยิบย่อยมากๆ ตัวผมเองก็ยังเข้าใจไม่หมดเช่นกัน
สามารถเสนอแนะและติชมได้เต็มที่เลยครับ ข้อมูลบางอย่างอาจผิดพลาดได้ ขออภัยล่วงหน้าเลยละกันครับ
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
BombWalkerz
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก BleacherReport ด้วยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา