1 ต.ค. 2019 เวลา 09:48 • การศึกษา
“ตำรวจขอเข้าไปค้นบ้าน จะปฏิเสธได้หรือไม่ ?”
เรื่องการขอตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นโดยตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของพวกเราโดยตรง
Cr. pixabay
ดังนั้น เราจึงควรรู้ถึงสิทธิต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งสิทธิที่จะขอตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ และสิทธิที่จะปฏิเสธการตรวจค้นของประชาชน เมื่อพบว่าการขอตรวจค้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยบทความที่แล้ว ผมได้เขียนถึงเรื่องการขอตรวจค้นบุคคล สิ่งของ หรือยานพาหนะซึ่งอยู่ในที่สาธารณะ หรือสาธารณสถาน
ว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะขอตรวจค้นแค่ไหน เพียงใด
หากใครยังไม่ได้อ่าน ผมแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านดูก่อนเพื่อจะได้เข้าใจถึงสิ่งที่เขียนถึงในบทความนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (ผมทำขึ้นเป็นซีรีส์ชื่อ "ค้น จับกุม ประกันตัว" ครับ)
สำหรับบทความนี้...
เพื่อผู้อ่านจะได้เห็นภาพ ผมจึงแบ่งเรื่องการค้นของเจ้าหน้าที่ไว้เป็น 2 ประเภท
1
1) การค้นในที่สาธารณะ หรือสาธารณสถาน ซึ่งผมได้เขียนไว้ในบทความที่แล้ว
2) การค้นในที่รโหฐาน ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้
อะไรคือ “ที่รโหฐาน” ?
ถ้าจะเอาคำตอบที่ง่ายที่สุด ที่รโหฐานก็คือ ที่อยู่อาศัยของพวกเรานี่แหละครับ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือคอนโด
แต่ในทางกฎหมายได้ให้ความหมายไว้กว้างกว่านี้ โดยที่รโหฐานคือ ที่ซึ่งไม่ใช่สาธารณสถาน หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ที่ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเข้า-ออกได้ตามอำเภอใจ
ดังนั้น สำหรับในบทความนี้ผมขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ที่รโหฐานคือบ้านของพวกเราไปก่อนนะครับ จะได้ไม่เสียเวลาไปทำความเข้าใจเรื่องอื่น ๆ ต่อ
คำถามต่อไปก็คือ อยู่ดี ๆ ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นจะสามารถเข้าไปตรวจค้นภายในบ้านของพวกเราได้เลยหรือไม่ จะต้องขอหมายศาลก่อนรึเปล่านั้น ?
เรื่องนี้ กฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่า “ห้ามค้นนอกจากจะมีหมายค้นหรือคำสั่งศาล” ดังนั้นหากอยู่ ๆ มีเจ้าหน้าที่มาขอค้นบ้านให้เราถามหาหมายค้นก่อนเลยมีหรือไม่
ถ้าหากมี ให้เราค่อย ๆ อ่านรายละเอียดในหมายค้นนั้น ว่าบ้านเลขที่ถูกต้องหรือไม่ ค้นเพื่ออะไร เช่น เพื่อหาของผิดกฎหมาย หรือจับกุมผู้กระทำความผิด , เจ้าหน้าที่คนไหนที่มีชื่อให้เข้าไปตรวจค้นได้บ้าง , หัวหน้าชุดตรวจค้นมีตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ (เช่น ถ้าเป็นตำรวจต้องมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป)
1
ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ ในหมายค้นจะระบุไว้อย่างชัดเจน หากตรวจสอบแล้วถูกต้องจึงค่อยยินยอมให้ตรวจค้นได้
แต่หากเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายค้นมาด้วยก็อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธนะครับ เพราะกฎหมายได้มีข้อยกเว้นให้ "เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ" สามารถตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หากเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งใน 5 ข้อต่อไปนี้ครับ
1) มีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างใน หรือมีเสียงหรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐาน
2) เมื่อปรากฏ “ความผิดซึ่งหน้า” กำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
ผมขอให้จำคำนี้กันไว้ดี ๆ นะครับ เพราะเราจะเห็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้น หรือการจับกุมซึ่งผมจะนำมาเขียนในบทความต่อไป
โดยกฎหมายได้ให้ความหมายของคำว่าความผิดซึ่งหน้าไว้ คือ ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการที่แทบจะไม่สงสัยเลยว่าเพิ่งได้กระทำความผิดมา (จริง ๆ แล้วข้อสันนิษฐานในเรื่องความผิดซึ่งหน้าจะมีมากกว่านี้ แต่ในบทความนี้ผมขอให้ทำความเข้าใจเบื้องต้นแค่นี้ก่อนครับ)
1
3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้เข้าไปซ่อนตัวในที่รโหฐาน
4) เมื่อมีพยานหลักฐานพอสมควรว่า สิ่งของผิดกฎหมาย หรือได้มาเพราะทำผิดกฎหมาย หรือมีไว้เพื่อใช้ทำความผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การทำความผิด “ได้ซ่อนหรืออยู่ใน” ที่รโหฐาน และหากชักช้าสิ่งของนั้นอาจถูกโยกย้ายหรือทำลายไปก่อน
5) เมื่อที่รโหฐานนั้น คนที่จะถูกจับ “เป็นเจ้าบ้าน” และมีหมายจับ หรือเป็นความผิดซึ่งหน้า หรือพบโดยมีพฤติการณ์สงสัยว่าน่าจะก่อเหตุร้ายแก่บุคคลอื่น โดยมีอาวุธหรือเครื่องมือที่อาจใช้ในการทำความผิด
สำหรับวิธีการค้นในที่รโหฐานนั้น กฎหมายกำหนดไว้เลยว่าต้องทำการค้นระหว่าง “พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาที่พระอาทิตย์ตก”เท่านั้น
1
เว้นแต่จะเป็นการค้นต่อเนื่องหากในเวลากลางวันยังไม่เสร็จ หรือในกรณีที่ฉุกเฉินมาก ๆ หรือเพื่อจับคนร้ายที่มีพฤติกรรมดุร้าย หรือผู้ร้ายสำคัญซึ่งจะต้องขออนุญาตต่อศาลก่อนจึงจะสามารถค้นในเวลากลางคืนได้
เรื่องการค้นในที่รโหฐานนั้น แม้จะมีหลักเกณฑ์มากมาย แต่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ มีขึ้นเพื่อป้องกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเรา ๆ นั่นเอง
ดังนั้น ผมจึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิเหล่านี้ และพยายามเรียนรู้ให้มากที่สุด เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวจะมาถึงเราเมื่อไหร่ก็ไม่อาจคาดเดาได้
เมื่อถึงตอนนั้น การจะเปิดดูข้อกฎหมายหรือโทรถามผู้รู้ก็อาจจะไม่ทันการแล้วก็ได้ครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา