9 ต.ค. 2019 เวลา 08:30 • สุขภาพ
เส้นเลือดสมองตีบ...”เวลา”สำคัญแค่ไหน?
สมองขาดเลือดได้นานแค่ไหน?
ถ้าคุณลองให้อวัยวะต่างๆในร่างกายมาดำน้ำแข่งกัน คุณจะพบว่าไม่มีครั้งไหนเลยที่”สมอง”จะไม่โผล่ขึ้นจากน้ำมาเป็นคนแรก!
ในบรรดาเซลล์กว่าล้านล้านเซลล์ในร่างกายของพวกเรา เซลล์ประสาทเป็นเซลล์ที่ขาดอากาศตายได้ง่ายที่สุด การขาดอากาศเพียง 5 นาทีก็สามารถทำให้พวกมันขาดใจตายได้แล้ว และก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ว่าเซลล์ประสาทส่วนใหญ่นั้นมักไม่ชอบแบ่งตัวไว้ให้พวกเราเห็นต่างหน้าอีกแล้ว ดังนั้นการเสียพวกมันไปจึงเป็นการสูญเสียอย่าง”ถาวร”
แต่ในชีวิตจริงนั้นเหตุการณ์ที่จะทำให้เซลล์ประสาทขาดเลือดทั้งหมดจนตายภายใน 5 นาทีนั้นก็อาจพบได้ไม่บ่อย โดยโรคเส้นเลือดในสมองตีบที่ผู้ป่วยเป็นกันในปัจจุบันนี้นั้นก็มักจะพอมีเลือดไปเลี้ยงเซลล์ประสาทได้บ้าง แต่ไม่มากพอจะทำให้พวกมันทำงานส่งกระเเสประสาทได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงแขนขา พูดไม่ชัด และอาการทางระบบประสาทอื่นๆ
1
ดังนั้นแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการตอนแรกเริ่มมากขนาดไหน ในช่วงนี้เซลล์ประสาทส่วนใหญ่นั้นก็ยังไม่ตายหายไปไหน เพียงแค่มันทำงานส่งกระเเสประสาทตามปกติไม่ได้เท่านั้นเอง หรืออาจเรียกว่าแค่หมดเเรงไปก็พอได้
แต่อย่างไรก็ตาม เซลล์ประสาทเหล่านี้ก็กำลังหายใจพะงาบๆนับถอยหลังลมหายใจเฮือกสุดท้ายอยู่ ในช่วงนี้ถ้าทำให้เลือดไหลกลับไปเลี้ยงพวกมันเหมือนเดิมได้ พวกมันก็จะกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้ามารักษาช้าเกินไป เซลล์ประสาทที่อยู่”ใจกลาง”เส้นเลือดที่ตีบไปนั้นก็จะตายก่อนเป็นกลุ่มแรก หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเซลล์ประสาทบริเวณรอบๆก็จะขาดใจตายตามกันไปเรื่อยๆ
“ยิ่งปล่อยเวลาไว้นานเท่าไร การตายหมู่ของเซลล์ประสาทเหล่านี้ก็จะขยายวงกว้างมากขึ้น!”
ดังนั้น แม้เป็นไปไม่ได้ที่จะช่วยชีวิตเซลล์ประสาทไว้ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ต้องช่วยชีวิตพวกมันไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะสมองมันก็ยังเก่งพอที่จะสามารถกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงปกติแม้มีเซลล์ประสาทไม่ครบเท่าเดิมก็ตาม
โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้สมองขาดเลือดได้แบบนี้เกิดจากการมี”ลิ่มเลือด”ไปอุดตันเส้นเลือด โดยลิ่มเลือดเหล่านี้มักชอบไปเกาะตัวบริเวณเส้นเลือดที่มีการตีบแคบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หรือชอบไปเกาะตัวบริเวณผนังเส้นเลือดที่มีไขมันสะสมอยู่นั่นเอง จึงทำให้เส้นเลือดยิ่งตีบแคบลงจนมันอุดตันได้ นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็อาจมีลิ่มเลือดในหัวใจแล้วหลุดไหลไปอุดตันเส้นเลือดสมองได้เช่นกัน ดังนั้นการช่วยชีวิตเซลล์ประสาทนั้นจึงจำเป็นต้องไปเปิดทางเส้นเลือดเหล่านี้ โดยการเอาลิ่มเลือดที่อุดตันยู่นี้ออกไปทั้งหมด ซึ่งสามารถทำได้โดยการให้”ยาละลายลิ่มเลือด”
3
ดังนั้นยิ่งผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดเร็วมากเท่าไร เหล่าเซลล์ประสาทก็จะได้รับเลือดกลับมาเลี้ยงเร็วมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งได้เลือดกลับมาเลี้ยงเร็วมากเท่าไร ผู้ป่วยก็จะยิ่งฟื้นสภาพกลับมาใกล้เคียงเดิมได้เร็วมากขึ้นเท่านั้นด้วยเช่นกัน
สรุปแล้วอนาคตที่เหลือของผู้ป่วยต่อไปจากนี้ จะเป็นอัมพาตชั่วคราว อัมพาตถาวร พิการมาก หรือพิการน้อย ก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่คุณขับรถพาผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลนั่นเอง!
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า”ยาละลายลิ่มเลือด”จะดูเหมือนว่าสามารถให้ได้ตลอดเวลา ให้เร็วก็ช่วยชีวิตเซลล์ประสาทได้มาก ให้ช้าก็ช่วยได้น้อยลง แต่มันก็มี”ขีดจำกัดเวลา”อยู่เช่นกัน เป็นระยะเวลาที่ถ้าผู้ป่วยมาช้าไปกว่านี้ หมอจะไม่ให้ยาละลายลิ่มเลือดได้อย่างแน่นอน หรืออาจจะเรียกว่าไม่กล้าให้อาจจะดีกว่า เพราะถ้าเลยเวลานี้ไปแล้ว การให้ยาละลายลิ่มสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงชีวิตได้ นั่นก็คือ”ภาวะเลือดออกในสมอง”
ดังนั้นการให้ยาละลายลิ่มเลือดช้าเกินไป นอกจากจะไม่ค่อยช่วยโรคเส้นเลือดในสมอง”ตีบ”แล้ว ยังทำให้เกิดโรคเส้นเลือดในสมอง”แตก”อีกต่างหาก
เอาล่ะ แล้วถามว่าระยะเวลานั้นคือระยะเวลาเท่าไร?
คำตอบก็คือ “4 ชั่วโมง 30 นาที”!
เมื่อเลยระยะเวลานี้แล้ว แม้เซลล์ประสาทของผู้ป่วยจะยังไม่ตายสนิท หมอก็จะไม่เสี่ยงละลายลิ่มเลือดเพื่อช่วยชีวิตพวกมันอีกแล้ว เรียกว่าแค่ไหนแค่นั้น ต้องยอมปล่อยมันตายไป โดยหวังว่าลิ่มเลือดที่อุดตันนั้นมันจะละลายหายไปได้เอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่ไม่ได้ยาละลายลิ่มเลือดก็จะมีความพิการในอนาคตสูงมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่งนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเวลาที่ให้ใช้ในการพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลอย่างเดียว โดยระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่งนี้ รวมเวลาทั้งหมดดังนี้
1
1.ระยะเวลาที่พาผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลในชุมชน
2.ระยะเวลาที่หมอซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมิณความเสี่ยง และวินิจฉัย
3.ระยะเวลาที่โรงพยาบาลในชุมชนส่งตัวผู้ป่วยมาโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อเข้าเครื่อง”แสกน”สมอง เพราะในแต่ละจังหวัดนั้น ก็มักมีเครื่องแสกนราคานับสิบล้านตัวนี้อยู่เพียง 1-2 โรงพยาบาลเท่านั้น
4.ระยะเวลาในการแสกนสมองเพื่อวินิจฉัยขั้นสุดท้าย แล้วจึงเริ่มให้ยา
โดยระยะเวลาข้อที่ 2 ถึง 4 นั้นเป็นระยะเวลาที่จัดการโดยโรงพยาบาล ซึ่งมักมีระบบที่วางแผนเอาไว้เป็นอย่างดีอยู่แล้วโดยเรียกว่า”Stroke Fast Track” ซึ่งจะใช้เวลารวมกันทั้งหมดประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลที่มีเครื่องแสกนสมองมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเมื่อหักเวลาส่วนนี้ออก ผู้ป่วยจะมีเวลาเดินทางจากบ้านถึงโรงพยาบาลใกล้บ้านไม่ถึง 4 ชั่วโมงแน่นอน!
1
แต่อย่างไรก็ตาม หมอคิดว่าคุณไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องเวลาเหล่านี้มากนัก เพียงแค่พาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็พอแล้ว
เอาล่ะ ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องรู้อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยที่กำลังมีลิ่มเลือดอุดตันอยู่ในเส้นเลือดสมอง โดยถ้าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้อย่างเฉียบพลันหรือรวดเร็ว ให้สงสัยเเล้วรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล หรือโทรแจ้ง 1669 ให้ส่งรถฉุกเฉินมารับตัวผู้ป่วยอย่างทันที
“ใบหน้าเบี้ยว มุมปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง หรือชา อ่อนแรงครึ่งซีก เดินเซ ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดลำบาก”
โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีอาการครบตามนี้ทุกอย่าง หากมีเพียงแค่อาการเดียวก็สามารถสงสัยได้เเล้ว!
แต่อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่น่าเสียดายเรื่องหนึ่งและเกิดขึ้นบ่อยเสียด้วย นั่นก็คือ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเหล่านี้ในเวลา”นอนหลับ”
เมื่อผู้ป่วยนอนหลับ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อไร มารู้ตัวอีกทีก็คือเมื่อตื่นนอนตอนเช้าเสียแล้ว ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการตั้งแต่ 4 ทุ่มตอนเข้านอน หรือตอนตื่นนอน 6 โมงเช้าก็ได้ ทีนี้คุณคิดว่าหมอจะนับเวลา 4 ชั่วโมง 30 นาทีนี้ยังไง?
สมมุติว่ามีผู้ป่วยคนหนึ่งตื่นนอนตอน 6 โมงเช้าแล้วรู้สึกอ่อนแรงครึ่งซีก ญาติจึงรีบพามาโรงพยาบาลถึงเวลา 7 โมง ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น หมอให้คุณทายว่า ผู้ป่วยคนนี้จะสามารถได้รับยาละลายลิ่มเลือดหรือไม่?
ถ้าหมอนับเวลาตั้งแต่ 6 โมงถึง 7 โมง นั่นก็แปลว่าผู้ป่วยสามารถได้รับยาละลายลิ่มเลือดอย่างแน่นอน แต่ถ้าเกิดว่าผู้ป่วยเกิดอาการจริงๆตอน”เที่ยงคืน”ล่ะ ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการโดยที่ไม่รู้ตัวตอนเที่ยงคืน แล้วผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล 7 โมง นั่นก็แปลว่าระยะเวลาทั้งหมดนั้นดำเนินมาแล้วถึง 7 ชั่วโมง! ซึ่งเลยระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่งแล้ว และถ้าหมอฝืนให้ยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วยไปในตอนนี้โดยเดาว่าผู้ป่วยน่าจะเกิดอาการตอนตื่นนอน 6 โมงเช้ามั้ง มันจะเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบก็คือ ผู้ป่วยอาจเกิด”ภาวะเลือดออกในสมอง”และอาจเสียชีวิตจากผลข้างเคียงของยาละลายลิ่มเลือดนั่นเอง!
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หมอจึงจะนับเวลาตั้งแต่”ครั้งสุดท้ายที่มีพยานเห็นว่าผู้ป่วยปกติดี” ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเป็นช่วงตอนเย็นของวันที่ผ่านมา ซึ่งไม่ว่าจะนับอย่างไรก็เกิน 4 ชั่วโมงครึ่งอย่างแน่นอน ในกรณีนี้ผู้ป่วยก็จะเสียโอกาสที่จะได้รับยาละลายลิ่มเลือดไปอย่างน่าเสียดาย...
ดังนั้นถึงแม้โรคสมองขาดเลือดจะมีวิธีการรักษา แต่มันก็ยังเป็นโรคที่น่ากลัวมากอยู่ดี การไม่เป็นซะตั้งแต่แรกจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในอดีตนั้นโรคพวกนี้มักเกิดในคนวัยสูงอายุ แต่ในปัจจุบันเริ่มพบในคนวัยทำงานมากขึ้นไปทุกที นั่นก็เพราะว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
สุดท้ายนี้ หมอบอกได้แต่เพียงว่า... ดูแลสุขภาพของคุณตั้งแต่วันนี้ ทั้งเรื่องการกินอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณ... ไม่ต้องมาแข่งกับเวลา ”4 ชั่วโมง กับอีก 30 นาที” นี้ในอนาคตและตลอดไป...
#Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
____________________
โฆษณา