17 ต.ค. 2019 เวลา 12:29 • สุขภาพ
Paracetamol ทำลายตับจริงหรือ ??
ยา Paracetamol เป็นยาที่ใช้สำหรับลดไข้ บรรเทาอาการปวด เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักดี เป็นยาที่มีประวัติยาวนานกว่า 146 ปี หากใครอยากรู้เรื่องราวตามไปอ่านได้ที่ลิงค์นี้ได้เลย
สมัยก่อนย้อนไปไม่นานสัก 10-20 ปีที่ผ่านมา ใครเคยกินยา Paracetamol ขนาด 500 mg 2 เม็ดบ้าง ยกมือขึ้น ไม่ว่าจะปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ จัดไป 2 เม็ด เอาอยู่
เมื่อก่อนเรากินกันแบบนี้ 2 เม็ดไม่หาย อีก 4-6 ชั่วโมงก็จัดไปอีก 2 เม็ด
แล้วปัจจุบันล่ะ มีคำแนะนำอย่างไรกับยาตัวนี้
ขอย้อนไปปี 2560 มี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจําบ้านแผนปัจจุบัน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 ออกมา มีเรื่องราวของคำแนะนำวิธีใช้ยา paracetamol (ขนาด 500 mg) ดังนี้
1. น้ำหนักตั้งแต่ 34-50 kg กินยาครั้งละ 1 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้
2. น้ำหนักมากกว่า 50-67 kg กินยาครั้งละ หนึ่งเม็ดครึ่ง วันละไม่เกิน 5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้
3. น้ำหนักมากกว่า 67 kg กินยาครั้งละ 2 เม็ด วันละไม่เกิน 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้
จะเห็นได้ว่า มีการใช้น้ำหนักตัวเข้ามาคิดขนาดการให้ยา (ขนาดยาในเด็กก็มีนะ หากใครสนใจเพิ่มเติม เดี๋ยวผมทิ้งลิงค์ประกาศไว้ท้ายบทความตามไปโหลดมาอ่านกันได้)
แต่ถ้าไม่อยากจำอะไรเยอะ จำตรงนี้ที่เดียวพอ ขนาดยา Paracetamol ที่แนะนำคือ 10-15 mg/kg/dose ห่างกัน 4-6 ชั่วโมง ไม่เกิน 4000 mg/วัน (ในคนปกติ)
ยา Paracetamol เวลาเรากินเข้าไปแล้ว อวัยวะที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงยาคือ "ตับ" นั่นเอง
ปกติตับจะเปลี่ยนสภาพยาโดยอาศัยกลไก Sulfation และ Glucuronidation เป็นหลัก แสดงว่าถ้าเรากินยา Paracetamol ในขนาดปกติ ตับก็จะอาศัย 2 กลไกนี้ในการเปลี่ยนสภาพยา พอเปลี่ยนสภาพแล้วจะได้สารที่ไม่มีพิษต่อร่างกาย สบายใจ
แต่หากเรากินยา Paracetamol ในขนาดที่สูงเกินปกติล่ะ ทำไงล่ะทีนี้ ตับก็ยังใช้ 2 กลไกนี้อยู่นะ แต่มันเปลี่ยนสภาพยาไม่ทัน ร่างกายที่แสนฉลาดจึงคิดกลไกแปลสภาพยาขึ้นมาอีกกลไกโดยอาศัยปฏิกิริยา Oxidation ผ่าน เอนไซม์ CYP2E1 ได้สารที่มีชื่อว่า NAPQI ซึ่งโชคร้ายสารตัวนี้ดันเป็นพิษต่อเซลล์
อ่าวทำไมร่างกายทำแบบนี้ NAPQI เป็นพิษนะ
อย่าดูถูกร่างกายขนาดนั้น ในร่างกายมีสาร Glutathione (กลูต้าไธโอน) ที่หลายคนไปซื้อมาฉีด มากิน เพื่อความขาวนั่นแหละ สารนี้จะไปจับกับเจ้า NAPQI แล้วความเป็นพิษจะหมดไป สุดท้ายพากันไปขับออกที่น้ำดีและไต สบายใจ
1
กลไกเปลี่ยนยา paracetamol ที่ตับในภาวะปกติและภาวะเกิดพิษ
เห็นความอัศจรรย์ของร่างกายในการกำจัดยา Paracetamol หรือยัง ไม่ธรรมดาเลย มีแผน 1 แผน 2 ว้าวววว
แต่ ถ้ากินยา Paracetamol มากจริงๆหรือมีความเสี่ยง เช่น กินยานี้มานานใช้มานานมาก หรือ ดื่มสุราจัดๆ มีภาวะทุพโภชนาการ กลไกที่แสนวิเศษนี้ก็ทำงานไม่ทัน สุดท้ายก็จัดการเจ้า NAPQI ไม่ได้ ความเป็นพิษจึงเกิดขึ้น ร่างกายบอกช่วยไม่ได้จริงๆจนปัญญาแล้ว
อาการพิษเป็นอย่างไร
ระยะที่ 1 หลังกินยาไป 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง จะเริ่มรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมากผิดปกติ
ระยะที่ 2 ผ่านไป 24-48 ชั่วโมง อาการอาจจะดีขึ้นนะ แต่มีการทำลายของเนื้อตับแล้ว อาจจะมีอาการปวดท้องบริเวณด้านขวาบน หากเจาะเลือดช่วงนี้อาจพบค่าการทำงาานของตับสูงขึ้น
ระยะที่ 3 ผ่านไป 72-96 ชั่วโมง ตับเริ่มไม่ไหวแล้ว อาการทางตับจะเริ่มชัดขึ้น มีตัวเหลืองตาเหลือง อาจมี hepatic encephalopathy ตับวาย ไตวาย และอาจเสียชีวิตในระยะนี้
ระยะที่ 4 ผ่านไป 4-14 วัน โดยที่ระยะที่ 3 ไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจหายเป็นปกติหรือมีพยาธิสภาพหลงเหลือเล็กน้อย
เรามียาต้านพิษนะ ชื่อ N-acetylcysteine ดังนั้นรีบมาให้ทันล่ะ
โอกาสในการได้รับยา Paracetamol เกินขนาดมาจากไหนได้บ้าง หลังจากนี้ต้องจำให้ขึ้นใจเลยนะ
1. คิดว่าการกินยาในขนาดที่สูงจะทำให้หายปวดหายไข้ไวขึ้น เช่นแพทย์สั่งจ่าย 1 เม็ด แต่จะกิน 2 เม็ด
2. คนดื่มสุราเรื้อรัง กลุ่มนี้ระวังให้ดี ตับไม่ค่อยจะดีนะ ขนาดยาสูงสุดต่อวันจะลดเหลือแค่ 2000-2500 mg เอง จากปกติ 4000 mg
3. ใช้ยาที่มีส่วนผสมของยา Paracetamol แต่ไม่รู้ ไปกินยา Paracetamol เพิ่มเข้าไปอีก น่ากลัวสุด ร้านยามีเยอะยาสูตรผสมพวกแก้ไข้ ลดน้ำมูก หายได้ในเม็ดเดียวต้องดูให้ดีๆ มักจะมียา Paracetamol ผสมอยู่
ทิฟฟี่ มียา Paracetamol อยู่แล้วนะ
4. ไม่รู้ว่ากินยา Paracetamol แล้วจะเกิดพิษ นึกว่าเป็นยาที่ปลอดภัย
ท้ายสุด เภสัชกรอยากบอกและย้ำมาเสมอ ก็คงหนีไม่พ้นหลักการเดิมๆคือ "ใช้ยาเมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น" บางคนมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง อาจจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต ก็ต้องกิน เพราะมันจำเป็นต้องกินจริงๆ
อ้างอิง
2. พิษวิทยาของยาพาราเซตามอล ของ ธนกร ศิริสมุทร
หากไม่อยากพลาดสาระดีๆเกี่ยวกับยาอย่าลืมกดติดตาม “เภสัชกร vate มีอะไรจะบอก” ด้วยน้าา 🤗🤗

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา