14 ต.ค. 2019 เวลา 06:51 • ธุรกิจ
สอนมวย..........
1
เพราะโลกปัจจุบันตอนนี้....เข้าสู่ยุคขายของออนไลน์
ทำให้เจ้าของสินค้าหลายคนต้องปรับตัวนะครับ
แต่ทราบไหมครับ ว่าที่จริงแล้วยังมีตลาดอีกมาก
ที่ไม่ได้อยู่แค่ห้างสรรพสินค้าหรือออนไลน์
หนึ่งในนั้นก็คือ ตลาดนัดและงานประจำปีต่างๆ
ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่หลายคนมองข้ามไป
ในส่วนของตลาดนัด และงานประจำปี
มักจะมีพ่อค้าแม่ค้าเจ้าประจำอยู่เสมอนะครับ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้จะแตกต่างกัน
ที่เงินในการลงทุน
ใครทุนน้อยไปตลาดนัด
ใครทุนมากก็มางานเทศกาลหรืองานประจำปี
และที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ก็คือ.....อาชีพพ่อค้าแม่ค้า
งานเทศกาลหรืองานประจำปีนั้น
มีกลุ่มคนที่ขายเฉพาะงานพวกนี้อย่างเดียว
ที่น่าตกใจก็คือค่าที่สำหรับงานประจำปีบางแห่ง
ที่คนเยอะมากๆระดับต้นๆของประเทศนั้น
ขนาดพื้นที่แค่ 3x3 เมตร
ให้เช่าพื้นที่กันที่ราคาหลักแสนตลอดงาน
ดังนั้นเวลาไปเดินตามงานเหล่านี้ เราจึงเห็นมีการขายที่ราคาแพง
กว่าท้องตลาดทั่วไป เพราะต้นทุนค่าที่แพงนั่นเอง
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนกล้าลงทุน เพราะผลตอบแทนที่ดี
บางคนขายแค่ถุงเท้าอย่างเดียว บางวันได้ยอดหลักแสน
หรือสินค้าอื่นๆที่ดูธรรมดาก็ได้ยอดขายที่มากกว่า
อยู่ในห้างสรรพสินค้าเสียอีก
แม้ในความเป็นจริงมีทั้งคนที่ได้กำไรและขาดทุน
ผู้ค้าหน้าใหม่ๆ จึงมาลงทุนเปิดร้านตลอดเวลา
แต่ส่วนใหญ่ไปไม่รอดเพราะพลาดตกม้าตาย
แม้แต่คนจบปริญญาตรีหรือทำงานด้านการตลาด
เพราะขาดความเข้าใจตลาดอย่างแท้จริง
และนี่คือ 7 ข้อที่พ่อค้าแม่ค้าตลาดเหล่านี้
สอนมวยกับพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ๆ
1.ใช้พื้นที่ร้านค้าไม่คุ้ม
ถ้าคุณสังเกตดีๆ พ่อค้าแม่ค้าเจ้าเก่าๆจะใช้พื้นที่ร้านค้าได้คุ้มมากๆ
แม้แต่เพดานและผนัง ในขณะที่เจ้าใหม่ๆจะใช้แค่พื้นที่แนวราบ
ทำให้ขาดโอกาสในการขาย ทั้งที่ต้นทุนค่าเช่าเท่ากัน
2.ขายสินค้าที่คิดเองว่าต้องขายดี
ข้อนี้เป็นทุกตลาดครับ เพราะเรามักจะคิดว่าของดีก็ต้องขายดี
แต่บางทีของที่เราคิดว่าดี อาจต้องเก็บไว้ใช้เองที่บ้าน
เพราะมันไม่ตอบโจทย์กับตลาดครับ
สินค้าที่ขายในตลาดนัดหรืองานเทศกาลบางอย่าง
อาจดูธรรมดา แต่ขายดีและกำไรดีกว่าของที่เราคิดเองมากมาย
ผมยกตัวอย่างเช่น ผ้ายางเอนกประสงค์ ที่มีหลากหลายลวดลาย
ดูไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ก็ขายดีจนคนแน่นร้าน
3.ไม่ใช่ทุกงานจะขายดี
ผู้ขายเจ้าเก่าๆจะมีประสบการณ์ในการขายจนรู้ว่า
งานเทศกาลหรือตลาดนัดไหน
ที่มีกำลังซื้อ ไม่ใช่แค่จำนวนคนเดิน
เพราะในหนึ่งปีมีคนจัดงานเยอะมากๆ
ซึ่งค่าที่แพงเรือนแสนก็ไม่ได้หมายความว่าจะขายดีกว่าค่าที่
หลักหมื่นที่ถูกกว่า
4.ต้นทุนคือสิ่งสำคัญ
แม้ต้นทุนสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ....แต่ต้นทุนการขนส่ง
ตกแต่งร้านและค่าใช้จ่ายอื่นๆก็สำคัญเช่นกัน
ร้านค้าส่วนใหญ่ที่ขายมานานสามารถบรรทุกของ
ทั้งสินค้าและอุกปรณ์ได้ในคันเดียว
และใช้การจัดร้านเพียง 1-2 คนเท่านั้น
แถมจัดร้านเสร็จภายในไม่ถึงชั่วโมง
ในขณะที่บางร้านลงทุนไปมากทั้งขนส่ง
ตกแต่งและจำนวนคน
5.สินค้าที่อยู่ในกระแสก็ใช่ว่าจะขายดี
หากคุณคิดว่าช่วงนี้สินค้ากระแสน่าจะขายดี บางครั้งคุณอาจคิดผิด
ผมยกตัวอย่างเช่นชานมไข่มุก มีอยู่ทุกงาน
และบางงานเจอไม่ต่ำกว่า 10 ร้านค้า
บางเจ้าเป็นเฟรนด์ไชน์มีชื่อ แต่ก็มาพลาดท่ากับร้านบ้านๆ
ที่ให้ตักไข่มุกไม่อั้น
แต่ร้านตักไข่มุกไม่อั้นก็ยังต้องแข่งกับร้านที่เหมือนกันอีกหลายร้าน
แข่งไปแข่งมาก็เลยเป็นการแข่งกันลดราคาแทน
6.ทำเลที่ดี
เชื่อไหมครับว่าแม้อยู่ในงานเดียวกัน แค่ทำเลที่ตั้งร้านต่างกัน
คุณก็อาจขายได้ไม่ดี ทำเลตามทางเข้างานหรือหัวมุม
อาจราคาแพงกว่าแต่ก็มีโอกาสขายได้มากกว่าทำเลที่ถูกลง
แต่อยู่ไกลออกไป และสินค้าบางตัวที่ต้องอาศัยการอธิบาย
การอยู่ในที่คนเยอะก็ไม่ได้ขายดีอย่างที่คิด
เพราะคนจะไม่อยากหยุดฟัง เนื่องจากจะเกะกะคนอื่นๆนั่นเอง
7.ลีลาการขาย
ทุกครั้งที่ผมเดินตามงานเหล่านี้ บอกได้เลยว่า
ลีลาในการพูดของคนขายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง
ถ้าอยากดูเทคนิคการพูดที่ดี ต้องไปดูร้านขายของเล่นเด็กครับ
หลอกเงินในกระเป๋าได้ดีเลยทีเดียว
ทั้งลด แลก แจก แถม โน้มน้าวคนซื้อ
จนแทบจะเป็นร้านค้าต้นๆที่คนมุงเยอะที่สุดตามงานเหล่านี้
ในขณะที่คนขายหน้าใหม่ มักจะเอาแต่ก้มหน้ากับโทรศัพท์
ที่จริงมีเรื่องราวที่น่าสนุกอีกมากมายนะครับกับตลาดนี้
แต่ทุกครั้งที่ขายสินค้าไม่ว่าตลาดไหน ก็ควรศึกษาให้ดี
และวางแผนอย่างรอบคอบ ก่อนลงทุน
ท้ายสุด ทุกตลาดการค้าย่อมมีเสน่ห์ของมัน
เจ้าของร้านท่านหนึ่งที่ขายเฉพาะงานเทศกาลตลอดปี
เคยบอกกับผมว่า
“ค้าขายที่ไหนก็เหมือนกัน มีกำไรและขาดทุน
อาชีพที่เค้าเลือกไม่ได้ให้แค่กำไร ขาดทุน
แต่คือการได้ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆหลังขายเสร็จ
นี่คือเสน่ห์ที่หาไม่ได้จากการค้าขายแบบอื่น
ดังนั้นคำว่าอาชีพนี้ดีหรือไม่ดี
มันอยู่ที่คุณเลือกอาชีพนี้แล้ว...รู้จักใช้ชีวิตให้เป็นหรือไม่”
ไม่เลือกงาน....ไม่ยากจน
แต่ต้องใช้ชีวิตให้เป็นนะครับ
“รองเท้าแตะเหยียบดวงจันทร์”
โฆษณา