15 ต.ค. 2019 เวลา 01:09 • บันเทิง
" ต่อให้คนทั้งโลกไม่เชื่อคุณ คุณจงเชื่อในตัวเอง "
Men of honor (2000) เรื่องจริงของนายทหารประดาน้ำผิวสีคนแรกของกองทัพเรือสหรัฐ
มีบางคนเชื่อว่า " มนุษย์มีขีดจำกัด "
แต่ในบรรดามนุษย์ด้วยกันเอง บางคนมีความเห็นที่ต่างออกไป พวกเขาเชื่อว่า " เราสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดได้ ขอเพียงเชื่อมั่นในตนเอง "
ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ เป็นอีกหนึ่งวันที่ประวัติศาสตร์โลกถูกเขียนขึ้นมาใหม่
เมื่อ " เอลีอุด คิปโชเก้ " นักวิ่งมาราธอนชาวเคนย่า ได้สร้างสถิติใหม่ให้กับการวิ่งฟูลมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตร
เขาใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 59 นาที 40.2 วินาที ในการวิ่งจบระยะ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่มีคนวิ่งฟูลมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง คิปโซเก้ คือหนึ่งในคนที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของความคิดและได้ปลดปล่อยศักยภาพของตนเองออกมาอย่างเต็มที่
เรื่องราวของ คิปโซเก้ ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง " Men of honor" (2000) หนังสร้างแรงบันดาลใจที่สร้างมาจากชีวิตจริงของ " คาร์ล แมกซี เบรเชียร์ "
นายทหารประดาน้ำผิวสีคนแรกของกองทัพเรือสหรัฐ
เพราะเขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง
เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยังมีการเหยียดสีผิวกันอยู่
สมัยนั้นหากชายผิวสีคนใดได้เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐ คงไม่พ้นตำแหน่งนายทหารประจำห้องครัว
สิทธิของเขามีเพียงเท่านี้
เป็นยุคที่แม้แต่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่าง ที่นั่งบนรถเมล์ ห้องน้ำหรือ ก๊อกน้ำดื่ม ยังแยกสีผิว ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้
แต่สำหรับ " เบรเชียร์ " ชายผิวสีผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักประดาน้ำ เขาจะไม่ยอมให้สิ่งใดมาเป็นอุปสรรค
เขาจากบ้านเกิดที่รัฐเคนตักกี้ มาสมัครเป็นทหารเรือและได้เข้าประจำการในปี ค.ศ.1948
หลังจากประจำการเป็นพลทหารห้องครัวได้ระยะหนึ่ง
เบรเชียร์ก็ทำสิ่งที่ไม่เคยมีชายผิวสีคนใดทำมาก่อน
เขาเขียนจดหมายสมัครเข้าเป็นนักเรียนประดาน้ำของโรงเรียนฝึกนักประดาน้ำของกองทัพเรือ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ
เมื่อไม่มีการตอบกลับ
เขาจึงส่งจดหมายไปอีกครั้ง..
สำหรับคนอื่น การทำแบบนี้คงเป็นการกระทำที่เปล่าประโยชน์ แต่สำหรับเบรเชียร์ มันคือการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ
" มันเป็นไปไม่ได้ โรงเรียนแห่งนั้นรับแต่คนผิวขาว "
ผู้บังคับบัญชากล่าวย้ำแก่เขา
เบรเชียร์ไม่สนคำพูดของใครทั้งนั้น...เขายังคงส่งจดหมายสมัครเรียนไปอย่างต่อเนื่อง
เขาส่งจดหมายสมัครเรียนไปมากกว่า100 ฉบับ
จนในที่สุดความพยายามก็สัมฤทธิ์ผล
เขาได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนในปี ค.ศ. 1954
หลักสูตรนักประดาน้ำเป็นหลักสูตรที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความโหด
จากจำนวนผู้เรียนที่ได้เข้ามาศึกษาในปีแรก...จะเหลือผู้อยู่รอดที่สำเร็จการศึกษาไปเพียงไม่กี่คน
แค่การเรียนให้ผ่านหลักสูตรว่ายากแล้ว...แต่เบรเชียร์ยากมากกว่าคนอื่นหลายเท่า เพราะนอกจากเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเรียนแล้ว
เขายังถูกกดดันกลั่นแกล้งจากเพื่อนนักเรียนผิวขาวและครูฝึกอีกด้วย
ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการฝึก เขาก็พบข้อความข่มขู่ที่เขียนลงบนกระดาษวางอยู่บนเตียงนอน มีใจความว่า
" ไอ้นิโกร...เราจะจับแกกดน้ำจนตาย "
และเพื่อนนักเรียนส่วนใหญ่ก็แสดงท่าทีรังเกียจ ไม่มีใครอยากร่วมโรงนอนเดียวกันกับเขา
บราเชียร์ต้องอดทนอย่างมากต่อทุกสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามา ต้องเข้าใจก่อนว่า หลักสูตรแบบนี้มีการปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาและการกดดันมากมายอยู่แล้ว
ใครที่ทนต่อแรงกดดันแบบนี้ไม่ไหว สามารถลาออกได้ตลอดเวลา...
ภาพจากหนังเรื่อง Men of Honor (2000)
การกลั่นแกล้งดำเนินต่อไปจนถึงการสอบครั้งสุดท้าย...ซึ่งเป็นการสอบภาคปฏิบัติ
นักเรียนประดาน้ำจะต้องดำน้ำลงไปประกอบชุดอุปกรณ์ให้สำเร็จ ภายใต้กระแสน้ำที่เย็นจัดและเชี่ยวกราด
สำหรับนักเรียนทั่วไป ถุงอุปกรณ์ถูกส่งตามลงไปตามปกติ แต่สำหรับเบรเชียร์ ถุงอุปกรณ์ของเขาถูกกรีดขาด ดังนั้นเมื่อดำน้ำลงไปชิ้นส่วนอุปกรณ์ของเขาจึงหล่นกระจัดกระจายไปตามพื้นดินใต้น้ำ
ครูฝึกหวังว่ากระแสน้ำเย็นจะกดดันจนเบรเซียร์ถอดใจและยอมแพ้
แต่เขายังคงพยายาม...
การทำสอบดำเนินไปเรื่อยๆ ผ่านไปหนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง จนเริ่มมีคนทำสำเร็จและกลับขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เบรเชียร์ยังคงมุ่งมั่น เขาใช้เวลาหลายชั่วโมงควานหาชุดอุปกรณ์และประกอบมันจนสำเร็จ
ในที่สุดความฝันก็เป็นจริง
เขาผ่านหลักสูตรและได้รับการบรรจุเป็นนักประดาน้ำประจำกองทัพเรือสหรัฐ
ถือเป็นคนผิวสีคนแรกที่ทำได้สำเร็จ
( หมายเหตุผู้เขียน : เรื่องที่เขาโดนกลั่นแกล้งในการสอบภาคปฏิบัติครั้งสุดท้ายนี้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในชีวประวัติของเขาบน wikipedia ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุการณ์ส่วนนี้น่าจะมีส่วนที่เป็นความจริงอยู่บ้างผสมกับสิ่งที่ทีมเขียนบทใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อทำให้หนังมีความน่าสนใจมากขึ้น )
ไม่มีคำว่าง่าย...บนเส้นทางของผู้บุกเบิก
เมื่อนายทหารเบรเชียร์ได้ประจำการ เขาต้องปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายมากมาย เริ่มตั้งแต่การเก็บกู้กระสุนกว่า 16,000 นัด ใน Quonset Point,รัฐโรดไอแลนด์
รวมถึงการกู้ซากเครื่องบิน Blue Angel ที่ตกลงไปในทะเลพร้อมกับการค้นหาร่างของนักบินให้พบ
ในปี ค.ศ. 1959 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าชุดประดาน้ำ ประจำการ ณ เกาะกวม เพื่อเก็บกู้วัตถุระเบิดที่จมอยู่ใต้ทะเลตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นจากปฏิบัติการพาโลมาเรส (Palomares) ในปี ค.ศ. 1966
เมื่อเครื่องบินโบอิ้ง B-52 เกิดอุบัติเหตุชนกับเครื่องบิน KC-135 ขณะเติมน้ำมันอยู่กลางอากาศ ทำให้หัวระเบิดไนโตรเจนตกลงไปในทะเล เบรเชียร์และทีมนักประดาน้ำจึงต้องออกค้นหาวัตถุระเบิดที่สูญหายนี้
เขาใช้เวลาไปกว่าสองเดือนครึ่ง จึงสามารถกู้หัวระเบิดขึ้นมาจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้สำเร็จ
แต่ระหว่างที่กำลังยกหัวระเบิดขึ้นมานั้น ลวดสลิงที่ใช้ยกดันไปกระแทกกับท่อเหล็กที่ดาดฟ้าเรือและหลุดมาโดนขาซ้ายของเบรเวียร์
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บและต้องตัดขาซ้ายบริเวณใต้เข่าทิ้งไป
แม้ว่าความสำเร็จในภารกิจครั้งนี้จะทำให้เขาได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติขั้นสูงสุดจากกองทัพเรือและหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ แต่การที่ต้องสูญเสียขาซ้ายไปทำให้เขาถูกปลดออกจากการเป็นนักประดาน้ำของกองทัพเรือ
ทางกองทัพมีแผนที่จะให้เบรเชียร์ดูแลหน่วยClearance Unit Two สังกัดโรงเรียนสอนประดาน้ำไปจนเกษียณอายุราชการ แต่เบรเชียร์ไม่ยอมให้ความไม่พร้อมใดๆมาเป็นอุปสรรคต่องานที่เขารัก
2
เขายื่นเรื่องขอกลับเข้าประจำการในตำแหน่งนักประดาน้ำอีกครั้ง เขาต้องใส่ขาเทียมและทำกายภาพบำบัดรวมฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก เพื่อให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาในศาลทหาร เพื่อให้มีการพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญว่าร่างกายของเขาพร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ?
เบรเชียร์ต้องสวมชุดประดาน้ำที่หนักกว่า 290 ปอนด์ ( ราวๆ 130 กิโลกรัม) แล้วเดินให้ได้ 12 ก้าว
เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ และเบรเชียร์ก็ทำให้ทุกตนต้องตะลึง เขาสามารถทำเรื่องที่ยากมากๆได้สำเร็จ
การสวมชุดที่มีน้ำหนักขนาดนี้ อย่าว่าแต่คนที่ใส่ขาเทียมเลย คนปกติทั่วไปมาเดินยังยาก
คาร์ล แมกซี เบรเชียร์ ( ตัวจริง )
เบรเชียร์โยนข้อจำกัดทิ้งไป...และก้าวข้ามขีดจำกัดได้สำเร็จ
เป็นอีกครั้งที่ใจของเขาใหญ่กว่าปัญหา
เขาได้กลับเข้ามาประจำการอีกครั้ง และปลดเกษียณในอีก 9 ปีต่อมา ( ค.ศ. 1979 )
นับเป็นชายขาขาดคนแรกที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักประดาน้ำสังกัดกองทัพเรือสหรัฐ
(และเป็นคนผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ด้วย)
ตำแหน่งสุดท้ายที่เขาได้รับก่อนเกษียณก็ถือเป็นตำแหน่งยศขั้นสูงในระดับพลทหารของสหรัฐ คือ
master chief petty officer (E-9) and master diver ( ผู้ช่วยผู้บังคับการเรือ (E-9)และ นักประดาน้ำระดับมาสเตอร์ ( สูงสุด) )
ความสำเร็จของเบรเชียร์ไม่ใช่เรื่องที่ฟ้าประทานมาให้
แต่เป็นความสำเร็จที่เขาประทานให้แก่ตนเอง
เขาทำในสิ่งที่ไม่เคยมีคนผิวสีคนไหนทำได้มาก่อน
เป็นการท้าทายต่อทุกความเชื่อและคำดูถูกของทุกคน
เขาลบมันด้วยความศรัทธาในตนเอง
ต่อให้เจอปัญหาและอุปสรรคมากมายแค่ไหน เขาก็จะไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้มาเป็นกำแพงขวางกั้นความฝัน
เบรเชียร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีข้อจำกัดใดๆที่เป็นอุปสรรคต่อความฝันของเราเท่ากับความคิดของเราเอง
ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า
"It's not a sin to get knocked down;
it's a sin to stay down" and "
I ain't going to let nobody steal my dream".
1
" ไม่ใช่ความผิดบาปถ้าถูกทำให้ล้มลง
แต่จะเป็นบาปหากไม่ลุกขึ้นสู้ ผมไม่อนุญาตให้ใครมาขโมยความฝันของผมไปได้ "
โฆษณา