18 ต.ค. 2019 เวลา 00:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จุดกำเนิดของมะม่วง
(Origin of Mangoes)
มะม่วงนั่นเอง
มะม่วง (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Mangifera indica]) และพืชสกุลมะม่วง [Mangifera] ชนิดอื่นๆ ในธรรมชาตินั้นพบแพร่กระจายอยู่เพียงในเอเชียใต้ (อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์) จีนตอนใต้ หมู่เกาะโซโลมอน และปาปัวนิวกินีเท่านั้น
2
แต่เดิมนั้นเชื่อกันว่าพืชสกุลมะม่วงน่าจะมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเขตมาเลเซีย อินโดนีเซีย เนื่องจากในบริเวณนี้ พืชในสกุลนี้มีความหลากชนิดมากที่สุด จากพืชในสกุลนี้ทั้งหมด 72 ชนิด พบพืชในสกุลนี้ถึง 29 ชนิดในมาเลเซีย และพบถึง 33 ชนิด ในประเทศอินโดนีเชีย (ในประเทศไทยพบทั้งสิ้น 13 ชนิด)
โดยปกตินักวิทยาศาสตร์จะมีสมมติฐานว่า บริเวณที่เป็นจุดกำเนิดของพืชสกุลมะม่วง น่าจะเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายของมะม่วงสูงที่สุด เพราะว่า ในมะม่วงในบริเวณนั้นมีวิวัฒนาการมานานที่สุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแยกเป็นชนิดพันธุ์ที่หลากหลายมากที่สุด แล้วบางชนิดค่อยกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ
1
สมมติฐานนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป
ในปี 1998 นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานการค้นพบฟอสซิลของพืชที่มีใบหน้าตาคล้ายกันกับใบของมะม่วง ในบริเวณใกล้เมือง Damalgiri ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Eomangiferophyllum damalgiriensis] ซึ่งฟอสซิลนี้มีอายุประมาณ 60 ล้านปี
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลาเมื่อ 60 ล้านปีก่อนที่มะม่วงโบราณมีชีวิตอยู่นั้น อนุทวีปอินเดียยังไม่ได้เชื่อมต่อกับทวีปเอเชียเหมือนในปัจจุบัน แต่แยกอยู่เป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่บนแผ่นอินเดีย (Indian plate)ในมหาสมุทรอินเดีย และค่อยๆ เคลื่อนที่มาชนกับแผ่นทวีปเอเชีย (Eurasia plate) เมื่อประมาณ 10 ล้านปีก่อน และทำให้เกิดการดันตัวเป็นเทือกเขาหิมาลัยขึ้นมาภายหลัง (ดูรูปข้างล่าง)
2
ภาพการเคลื่อนที่ของอนุทวีปอินเดียที่เคลื่อนที่มาชนทวีปเอเชียเมื่อประมาณ 10 ล้านปีก่อน (ที่มา www.usgs.org US Government website)
เมื่ออนุทวีปอินเดียเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ทวีปเอเชีย พืชสกุลมะม่วงก็น่าจะมีการแพร่กระจายเข้ามาในบริเวณอื่นๆ ของเอเชีย โดยเริ่มจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการพบฟอสซิลมะม่วงโบราณในประเทศไทยที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อกว่า 20 กว่าล้านปีก่อน และได้แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวิวัฒนาการเป็นมะม่วงชนิดพันธุ์ต่างๆ
ในประเทศอินเดียมีบันทึกเกี่ยวกับมะม่วงและต้นมะม่วงมาตั้งแต่โบราณ โดยมีเอกสารภาษาสันสกฤตตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลที่มีการบรรยายถึงมะม่วง โดยมีการประมาณว่ามะม่วงน่าจะถูกปลูกโดยชาวอินเดียเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน ก่อนที่จะกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในโลกผ่านการค้า การยึดครอง และการเก็บเมล็ดไปปลูกในที่ต่างๆ ในบริเวณเขตร้อน ในช่วงตั้งแต่ 2,500 ปีก่อน
เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน พระในพุทธศาสนาที่ไปเผยแพร่ศาสนา ก็นำเมล็ดมะม่วงเข้ามาปลูกในมลายูและเอเชียตะวันออก และมะม่วงไปถึงประเทศจีนเมื่อประมาณ ค.ศ. 700 ผ่านทางพุทธศาสนาเช่นกัน เมื่อพระถังซัมจั๋งมาคัดลอกพระไตรปิฎก และนำเอาเมล็ดมะม่วงกลับไปด้วย
พระถัมซังจั๋งไม่ได้แค่เอาพระไตรปิฎกจากประเทศอินเดียไปยังประเทศจีน แต่เอามะม่วงกลับไปด้วย (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Xuanzang)
จากนั้นชาวเปอร์เซียก็นำมะม่วงเข้าไปในแอฟริกาตะวันออกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 และชาวโปรตุเกสนำมะม่วงเข้าไปในบราซิลและแอฟริกาตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และแพร่กระจายในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ และในปี ค.ศ. 1875 มะม่วงจากอินเดียก็ถูกนำเข้าไปปลูกในออสเตรเลียด้วย
มะม่วงก็ได้กระจายไปทั่วโลก
นอกจากมะม่วงที่เรารู้จักกันดีพืชอื่นๆ ก็มีพืชชนิดอื่นในสกุลนี้ที่ถูกปลูกไว้กินเป็นผลไม้ และบางชนิดก็พบในประเทศไทยด้วย เช่น ลำยา [Mangifera caesia] ส้มมุด [Mangifera foetida] และมะม่วงจิ้งหรีด [Mangifera odorata]
1
ลำยา [Mangifera caesia] ถูกปลูกในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี [ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/06/Mangifera_caesia_fruits_from_Lapuyan_Zamboanga_del_Sur_prepared_as_a_merienda_snack_in_a_typical_Filipino_fashion.jpg]
ส้มมุด [Mangifera foetida] พบในภาคใต้ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ และเวียดนาม (ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/79/Mangif_foetid_080130-4201_tdp.jpg)
เอกสารอ้างอิง
2. Mehrotra, R.C.; Dilcher, D.L.; Awasthi, N. A Paleocene Mangifera - Like leaf fossil from India, Phytomorphology, 48 (1998): 91-100.
3. Sawangchote, p., Grote, p.J. & dilcher, d.l. (2009). Tertiary Leaf Fossils of Mangifera (Anacardiaceae) from Li Basin, Thailand as an example of the utility of leaf marginal venation characters. American Journal of Botany 96: 2048–2061.
4. Singh, N.K. et al. (2016) Origin, Diversity and Genome Sequence of Mango (Mangifera indica L.). Indian Journal of History of Science, 51.2.2. 355-368.
1
โฆษณา