24 ต.ค. 2019 เวลา 15:44 • ครอบครัว & เด็ก
12 เทคนิค รับมือตัวร้ายวัย 2 ขวบ (Terrible Two)
ตอนนี้เจ้าจิ๋วที่บ้านก็ 1.10 ขวบแล้วค่ะ อย่าถามว่าแสบขนาดไหน แม่นี่ต้องสูดหายใจลึกๆวันละหลายรอบ วันนี้เลยประมวลผลเทคนิคที่ใช้ได้กับเจ้าจิ๋วที่บ้าน (ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคน) มาแบ่งปันกันค่ะ
.
Terrible Two คืออะไร? คือช่วงที่เด็กวัย 18-30 เดือน จะเริ่มดราม่าใส่เราค่ะ สาเหตุหลักคือเค้าเริ่มอยากจะทำอะไรด้วยตัวเอง แต่อาจจะยังสื่อสาร หรือทำออกมาไม่ดี ทำให้เค้าหงุดหงิดตัวเองค่ะ และถ้าเราไม่เข้าใจเค้า เค้าก็จะหงุดหงิดเราด้วยนั่นเองเด้อ เรียกง่ายๆว่า #เหวี่ยง ใส่แม่เฉ๊ยย T-T
.
1) :: เอาใจลูก มาใส่ใจเรา ::
เด็ก = มนุษย์จิ๋วคนนึง ที่มีความต้องการเป็นของตัวเอง เค้ายังไม่รู้ว่ากฏเกณฑ์ของสังคมมันเป็นยังไง ทำไมถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ กลางวันกลางคืนวันเวลาคืออะไร มันจึงเป็น ‘ธรรมดา’ ที่เค้าจะหงุดหงิดถ้าเราไปห้าม หรือบังคับ เวลาทำนู้นทำนี่ค่ะ
1
.
2) :: สู้กับลูก เราชนะแน่นอน ::
ข้อคิดนี้ได้มาจาก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ค่ะ ท่องไว้ให้ขึ้นใจ เด็ก 2 ขวบ ตัวเล็กนิดเดียว สู้กันยังไงเราก็ชนะ ถึงเค้าจะทิ้งตัว แหกปาก ตบตีเรา เขวี้ยงของ เราไม่ปล่อยปล่ะ เราไม่สวนกลับ เราจับมือเค้าให้มั่น อุ้มให้อยู่มือ หยุดให้ทัน ต้องทำได้ค่ะ
.
3) :: อ่อนโยน แต่ไม่ใจอ่อน ::
ถ้าเราจะไม่ให้กินขนมอันนี้ ไม่ให้ก็คือไม่ให้ค่ะ อย่ายอมแพ้กลางคัน อย่ารอเหวี่ยงจบแล้วก็ให้อยู่ดี มันจะทำให้เรื่องยากขึ้นในครั้งต่อๆไปค่ะ ตัดสินใจให้ดี ว่าเรื่องที่ลูกเหวี่ยงเรายอมได้ หรือยอมไม่ได้ แล้วยึดตามนั้นตั้งแต่ต้นจนจบนะคะ
.
4) :: รักษาตารางเวลา ::
รักษาเวลากิน เล่น นอน ให้สม่ำเสมอ เมื่อลูกหิว หรือเหนื่อยเกินไป จะทำให้เหวี่ยงง่ายกว่าเดิม
.
5) :: สะกัดจุดก่อนบานปลาย ::
บางทีเราพูดอะไรที่สุดแสนจะธรรมดาออกไป เช่น ไปกินข้าวกัน เอาละ ไม่เข้าหูซะงั้น! เตรียมจะแบะ เราต้องไวค่ะ เฉไฉ ชี้นกชี้ไม้ ตลกโปกฮา ไปก่อน แสดงว่าจังหวะเราไม่ได้ค่ะ ถ้ารอด ถอยมาตั้งรับใหม่ หาวิธีอื่น ต่อรอง หรือหาทางอ้อมไปค่ะ
.
6) :: ลูกร้อน เราต้องเย็น ::
เมื่อพายุมาแล้ว ที่ทำได้คือ ใจเย็น และรอค่ะ นิ่งไว้ก่อน ไม่ต้องพูดเยอะ ยิ่งตะคอก ลูกยิ่งตะโกน ยิ่งบ่น ลูกยิ่งร้อง ยิ่งพูดมากแล้วเค้าไม่เข้าใจ ลูกยิ่งหงุดหงิดค่ะ กอดได้กอด เค้าไม่ให้กอดก็นั่งข้างๆเฉยๆค่ะ
.
7) :: พาออกจากจุดเกิดเหตุ ::
ถ้าเค้าอยากได้ของเล่น อยากกินขนม ไม่อยากนั่งโต๊ะกินข้าว พาออกจากสิ่งที่มีปัญหากับเค้าค่ะ หากอยู่ในที่สาธารณะ หามุมสงบที่ไม่รบกวนคนอื่นๆให้ทั้งลูกและคุณพ่อคุณแม่ใจเย็นลงค่ะ
.
8) :: พอลูกเบา เราอย่าแรง ::
พอลูกเริ่มสงบ เราอย่าเพิ่งเยอะใส่ค่ะ ส่วนตัวจะถามลูกเลยว่า ให้แม่โอ๋มั้ย ให้เช็ดขี้มูกให้มั้ยจ๊ะ ถ้าลูกโอเค ค่อยลงมือค่ะ จะว่าจะกล่าวอะไร พูดด้วยน้ำเสียงปกติ ถ้าเราสุ่มสี่สุ่มห้าวุ่นวายเลย ระวังจะโดนระลอกสอง บอกเลย ยาว!!
.
9) :: กันไว้ ดีกว่าแก้ ::
จัดระเบียบบ้าน หรือสถานที่ที่จะเกิดปัญหา ถ้าไม่อยากให้เล่นอะไร ไม่อยากให้ทำอะไรพัง เก็บออกจากโซนที่เค้าเล่นให้หมด รูปลั๊กไฟต่างๆ ปิดให้เรียบร้อย ถ้าไม่อยากซื้อของเล่นใหม่ ไม่อยากให้กินขนม ไม่ต้องพาไปเดินผ่าน อย่ายั่วแล้วมาห้าม มันยากอ่ะแม่
.
10) :: ให้ตัวเลือกกับลูก ::
ให้ลูกมีสิทธิเลือกอะไรได้บ้าง เช่น จะใส่เสื้อสีฟ้าหรือแดง จะกินข้าว หรือก๋วยเตี๋ยว ให้ตัวเลือกที่เราโอเคอยู่แล้วให้เค้าเลือกค่ะ ให้เค้าคิดว่าเค้ามีอิสระในการเลือกบ้าง (ซะที่ไหนล่ะ อิอิ)
.
11) :: ตกลงกันก่อน ::
เวลาจะให้เล่นอะไร ตกลงก่อนล่วงหน้าค่ะ ว่าเล่นถึงเมื่อไร เพื่อฝึกให้เค้ารู้จักรักษาข้อตกลง และเวลาจะให้เลิก แจ้งเตือนล่วงหน้าค่ะ เช่น อีก 10 นาทีจะไปแล้วนะ ให้เค้าเคลียร์อะไรที่เล่นค้างไว้ อย่าอยู่ดีๆลุกพรึ่บแล้วบอก "ไปได้แล้วค่ะ" ใครจะยอมอ่ะ เป็นเราก็ไม่ยอมนะ
.
12) :: ไม่ขู่ ไม่ตี ::
นอกจากจะเป็นตัวอย่างนิสัยก้าวร้าวแล้ว ครั้งต่อๆไปคุณจะเอาไม่อยู่ค่ะ เพราะเด็กจะรู้แล้วว่าก็ทำได้แค่ตี เจ็บแปบเดียวก็หาย อีกหน่อยโดนท้าให้ตี จะทำไงต่ออ่ะ? ขอให้เก็บการตีไว้เป็นท่าไม้ตาย สำหรับเรื่องคอขาดบาดตาย อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินมีค่ามากๆเท่านั้นค่ะ ซึ่งเราเชื่อว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ เลี้ยงมาดี โอกาสได้ตีคือแทบเป็น 0 ค่ะ
.
.
.
ครบ 12 ข้อ ที่แค่อ่านก็ยากแล้ว ทำจริงยิ่งยากค่ะบอกเลย เพราะสติแม่พร้อมจะขาดผึงได้ตลอด 555+ ถ้าสุดแล้วก็ท่องไปค่ะ ลูกกู เหมือนกู ๆ ๆ ๆ 🤣 โชคดีค่ะ #ลูกหลับแล้วเม้ามอยได้
โฆษณา