8 พ.ย. 2019 เวลา 08:05 • การศึกษา
"ไปขอกู้เงินนายทุน แต่ถูกบังคับให้ทำสัญญาขายที่ดิน และถูกฟ้องขับไล่ !?"
สัญญาต้องเป็นสัญญา ไปกู้เงินเค้ามาก็ต้องใช้คืนให้ครบถ้วนภายในกำหนด
1
แต่ถ้าไม่คืนหรือคืนไม่ครบเจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องศาลให้บังคับตามกฎหมายต่อไป
เรื่องมีอยู่ว่า มีเจ้าหนี้หรือนายทุนบางรายอาศัยความไม่รู้กฎหมายของลูกหนี้หรือเพราะจำใจก็แล้วแต่...
บังคับให้ลูกหนี้ทำสัญญาขายที่ดินของตนแทนการทำสัญญากู้ยืมเงิน !! (แน่นอนว่าที่ดินต้องมีราคาสูงกว่าเงินกู้)
pixabay
และให้เจ้าหนี้หรือนายทุนยึดถือที่ดินไว้เพื่อเป็นหลักประกัน
ลูกหนี้ที่ไม่รู้กฎหมายหรือต้องการกู้เงินจึงต้องยินยอมทำตามเงื่อนไขของนายทุน แทนที่จะทำสัญญากู้เงินตามความต้องการที่แท้จริง
และเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถคืนเงินได้ตามกำหนด เจ้าหนี้จึงได้ฟ้องขับไล่ลูกหนี้จากที่ดินดังกล่าว
ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคม แต่มีอยู่คดีหนึ่งที่ลูกหนี้ไม่ยอมง่าย ๆ และได้ต่อสู้คดีในชั้นศาล
ซึ่งศาลได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า...
เมื่อผู้กู้และผู้ให้กู้มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง
สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะ และเป็น "นิติกรรมอำพราง" การกู้ยืมเงินที่ผู้กู้ได้กู้ยืมไปจากผู้ให้กู้ โดยให้ที่ดินยึดถือไว้เป็นหลักประกัน
และถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ซึ่งถูกอำพรางไว้
จึงต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155
เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของผู้กู้
ผู้ให้กู้จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้กู้จากที่ดินดังกล่าว
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1335/2561)
สรุปคือ
1) สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ เพราะทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญากู้ยืมเงิน
2) เมื่อสัญญาซื้อขายใช้ไม่ได้ เจ้าหนี้จึงฟ้องขับไล่ไม่ได้
3) กฎหมายกำหนดให้นำนิติกรรมที่ถูกอำพราง (สัญญาที่แท้จริง) มาบังคับใช้
4) หากเจ้าหนี้จะฟ้องก็ต้องฟ้องตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นสัญญาที่แท้จริง
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา