10 พ.ย. 2019 เวลา 06:02 • ข่าว
สมเด็จพระสันตะปาปา เสด็จเยือนประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 19 ถึง 23 พฤศจิกายน 2562 🙏
Pope Francis (Photo by Massimo Valicchia/NurPhoto via Getty Images)
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน เสด็จเยือนไทยครั้งนี้เป็นการเสด็จเยือนตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ซึ่งสำหรับพระองค์แล้วนี่คือการจาริกเพื่อสันติภาพ ระหว่างวันที่ 19 - 23 พฤศจิกายน 2562 โดยมีกำหนดการเดินทางออกจากประเทศอิตาลี ในวันที่ 19 พฤศจิกายน เวลา 19.00 น. เดินทางถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 ดอนเมือง ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 12.30 น. ซึ่งจะมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ท่าอากาศยาน จากนั้นเสด็จไปที่สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ประทับตลอดการเยือนประเทศไทย
วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน
09.00 น. ทรงร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ บริเวณลานด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล จากนั้นทรงพบนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล ข้าราชการคณะทูตานุทูต และทรงปราศรัยภายในตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
10.00 น. เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
11.15 น. เสด็จโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เพื่อประทานโอวาทแก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลคาทอลิก 4
โรงพยาบาล จากนั้นเสด็จอวยพรผู้ป่วยผู้สูงอายุ ภายในอาคารร้อยปีบารมีบุญ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จากนั้นเสด็จกลับไปเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย
16.55 น. เสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
18.00 น. เสด็จทำพิธีบูชาขอบพระคุณ หรือพิธีมิสซา โดยสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเทศน์ ณ สนามศุภชลาศัย
วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน
10.00 น. ทรงพบกับคณะบาทหลวงนักบวช นักพรต สามเณร ผู้ฝึกหัด ครูคำสอน และทรงปราศรัย ภายในวัดคาทอลิกนักบุญเปโตร อ.สามพราน จ.นครปฐม
11.00 น. ทรงพบบรรดาบิชอปของไทยและบิชอปของสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย (FABC) และทรงปราศรัย ณ สักการสถานบุญราศีนิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง
11.50 น. ทรงพบคณะนักบวชเยสุอิตในประเทศไทยภายในห้องด้านหลังสักการสถานบุญราศี นิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง จากนั้นเสด็จกลับไปเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย
15.20 น. ทรงพบผู้นำคริสตชนนิกายต่าง ๆ ผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ ในประเทศไทย บรรดาผู้นำสถาบันการศึกษา คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา พร้อมทั้งทรงปราศรัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17.00 น. เสด็จทำพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับเยาวชน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเทศน์ ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก
วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน
09.15 น. พิธีการอำลาส่งเสด็จ ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 กองบัญชาการกองทัพอากาศ อาคาร 2 ดอนเมือง
09.30 น. เครื่องบินพระที่นั่งออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครมุ่งสู่กรุงโตเกียว
17.40 น. เสด็จถึงท่าอากาศยานกรุงโตเกียว-ฮาเนดะ มีพิธีการต้อนรับ ณ ท่าอากาศยาน
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน ทรงเป็นพระสันตะปาปาลำดับที่ 266 มีพระนามเดิมว่า ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ ประสูติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
ด้านการศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส และประกาศนียบัตรสาขาวิชาปรัชญาจาก Colegio Maximo San Jose ทรงเป็นอาจารย์วิชาวรรณกรรมและจิตวิทยาที่ Colegio de la Inmaculada และ Colegiodel Salvador นอกจากนั้น ทรงศึกษาวิชาเทววิทยา (theology) และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางเทววิทยาที่มหาวิทยาลัย Facultades de Filosofia y Teologiade San Miguel
ด้านศาสนา พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสามเณราลัยและได้ปฏิญาณตนเป็นนักบวชคณะแห่งพระเยซูเจ้า (เยสุอิต) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1958 ต่อมาทรงบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1969 สำหรับตำแหน่งสำคัญทางศาสนา ก่อนได้รับเลือกขึ้นเป็นพระสันตะปาปา พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งจากนักบุญยอห์นปอล ที่ 2 พระสันตะปาปาให้ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งเขตศาสนปกครองกรุงบัวโนสไอเรส ต่อมาได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระคาร์ดินัลเมื่อปี ค.ศ. 2001
ต่อมาหลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงสละสมณศักดิ์เมื่อ ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) พระองค์ทรงได้รับเลือกตั้งจากคณะพระคาร์ดินัลในการประชุม “คอนเคล็ฟ (conclave)” ให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาสืบแทนนักบุญเปโตรหรือเซนต์ปีเตอร์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 2013
เมื่อทรงตอบรับตำแหน่งพระสันตะปาปา พระองค์ทรงเลือกใช้พระนามว่า “Franciscus” ในภาษาละติน หรือ “Francis” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากนามของนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีผู้ก่อตั้งคณะนักบวชฟรังซิสกัน ผู้ถือความยากจน สนใจและเอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสันติภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม
คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก กับประเทศไทย
คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นเวลามากกว่า 500 ปีแล้ว ปรากฏหลักฐานว่ามิสชันนารีคณะโดมินิกันได้เข้าสู่ประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1511 ก่อนที่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกจะหยั่งรากอย่างมั่นคงเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 ทรงสถาปนา “มิสซังสยาม” หรือ Apostolic Vicariate of Siam เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1669 (พ.ศ. 2212) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนจักรคาทอลิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ปีนี้ ครบ 350 ปี มิซซังสยาม 💒)
ประเทศไทยเคยได้รับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปามาแล้ว 1 ครั้ง คือเมื่อครั้งสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) และหนนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่คริสตชนคาทอลิกรอคอยจะได้รับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปากำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรอบ 35 ปี โดยการเสด็จครั้งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า APOSTOLIC JOURNEY OF HIS HOLINESS FRANCIS TO THAILAND
ปัจจุบันเมืองไทยมีชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจำนวน 388,468 คน มีเขตศาสนปกครอง (มิสซัง) 11 เขต มีพระสงฆ์ นักบวช 848 รูป มีวัด 526 แห่ง
ส่วนประมุขแห่งรัฐไทยเคยเสด็จฯเยือนสันตะสำนักแห่งนครรัฐวาติกันครั้งแรกเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จไปทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินทวีปยุโรปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) ครั้งถัดมารัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) และครั้งล่าสุดรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จไปเข้าเฝ้านักบุญยอห์น ที่ 22 พระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503)
http://www.catholic.or.th/popejohnpaulII/visit/page3.html
http://www.catholic.or.th/popejohnpaulII/visit/page3.html
เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสด็จเยือนประเทศไทย ของ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อ 35 ปีก่อน จึงขอนำบันทึก ของ ประมุขแห่งวาติกันที่มีพระราชปฏิสันฐานกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังต่อไปนี้
1. ขณะนี้ข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยปิติ ข้าพเจ้าสัมผัสแผ่นดินไทยด้วยความโสมนัสยิ่ง เป็นการพระราชทานเกียรติอย่างยิ่งแก่ข้าพเจ้า ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จบรมพิตรใน “ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม” นี้ ดังที่ประเทศไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก และใน “ดินแดนแห่งเสรีภาพ” นี้ ซึ่งเป็นความหมายของนามประเทศไทย
ข้าพเจ้าซาบซึ้งชื่นชมในน้ำพระราชหฤทัยที่ได้ทรงเชิญข้าพเจ้ามาเยือนประเทศอันสวยงามของสมเด็จบรมบพิตร ข้าพเจ้าขอตอบสนองพระราชไมตรีจิตอันบริบูรณ์ด้วยพระราชธรรมด้วยความเคารพและเทิดทูน ข้าพเจ้ารู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้แทนพระองค์ในการต้อนรับข้าพเจ้าที่ท่าอากาศยาน
2.ข้าพเจ้าถือว่าการเยี่ยมเยือนครั้งนี้ เป็นการเชิดชูความสัมพันธ์อันยืนนานและเปี่ยมด้วยมิตรไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนครรัฐวาติกัน การมายังประเทศไทยครั้งนี้ถือว่าได้รับพระราชทานเกียรติให้ได้มีโอกาสเยี่ยมตอบการที่สมเด็จบรมพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยือนสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาก่อนหน้าข้าพเจ้าเมื่อ คริสตศักราช 1960
ข้าพเจ้าหวังที่จะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนได้เสด็จไปเยี่ยมสมเด็จพระสันตะปาปา พอล ที่ 6 เมื่อคริสตศักราช 1972 ท่านผู้ทรงดำรงตำแหน่งก่อนหน้าข้าพเจ้ามิสามารถทรงเยี่ยมตอบด้วยพระองค์เองได้ และบัดนี้ข้าพเจ้าปลื้มปิติที่สามารถปฏิบัติหน้าที่แทน พร้อมกันนั้นยังได้มีโอกาสอันน่าพึงพอใจที่จะได้พบปะกับพี่น้องคาทอลิกที่จะได้ร่วมบำเพ็ญภาวนาและที่จะได้เป็นกำลังใจแก่เขา ในการรับใช้ผู้อื่นฉันพี่น้อง
3. ข้าพเจ้าทราบดีว่า การพำนักในประเทศไทยครั้งนี้ แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นแต่ก็จะเป็นการให้โอกาสได้ประสบด้วยตนเองถึงคุณค่าอันหยั่งลึกอยู่ในชีวิตจิตใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของชีวิตทางสังคมและทางวัฒนธรรม อีกทั้งขนบธรรมเนียมและประเพณีของไทย การได้อาคันตุกะของประเทศซึ่งยึดถือว่า เสรีภาพเป็นคุณลักษณะอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของประชากรนั้น คือเกียรติอันยิ่งใหญ่โดยแน่แท้ในโลกปัจจุบันของเรานี้
ประวัติความเป็นไทของประเทศไทย และจิตตารมณ์โอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอันเลื่องชื่อของประเทศไทยเป็นเครื่องเตือนให้รำลึกถึงความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างลึกซึ้งของครอบครัวมนุษยชาติในอันที่จะเจริญชีวิตอยู่ในสันติสุข ในความสามัคคีกลมเกลียว และในความเป็นพี่น้อง โดยเฉพาะการที่สมเด็จบรมพิตรทรงเคารพสิทมธิของมนุษยชนในด้านเสรีภาพทางศาสนานั้น นำเกียรติอย่างไพศาลมาสู่ประเทศของสมเด็จบรมพิตร
การเยี่ยมเยือนของข้าพเจ้ามุ่งแสดงออกซึ่งความรู้สึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของข้าพเจ้าเองเป็นส่วนตัวและของพระศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก อีกทั้งรู้สึกขอบคุณรัฐบาล ตลอดจนประชาชนแห่งดินแดนอันทรงเกียรตินี้ที่ได้ทีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็นจากประเทศใกล้เคียง ความเมตตากรุณาที่มีต่อประชาชนผู้ตกอยู่ในความทุกข์ทรมานนั้น เป็นสิ่งที่โน้มน้าวข้าพเจ้าให้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพี่น้องชายหญิงของข้าพเจ้าในประเทศไทย และมีส่วนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การพำนักอยู่ในดินแดนอันยิ่งใหญ่ของท่าน อบอุ่นเสมือนหนึ่งอยู่ในบ้านของตนเอง
ข้าพเจ้าขอพระพรพิเศษของพระเป็นเจ้า ถวายแด่สมเด็จบรมพิตร และบรรดาประชากรผู้เป็นที่รักของสมเด็จบรมพิตรทั่วทุกท่าน
ขอถวายพระพร
อ้างอิง 1. https://youtu.be/psYm4pMoaZg
3. อัครสังฆมณฑล กรุงเทพ
ขอบคุณที่อ่านบทความย้าวยาว จบครับ จะตัดเป็นสองตอนก็จะหาไม่เจอไม่ต่อเนื่อง วาดรวดเดียวจบเลยก็แล้วกัน
เรื่องดีๆ เรื่องมงคล ทุกศาสนามุ่งสอนคนให้ทำความดี 😍💒
โฆษณา