10 พ.ย. 2019 เวลา 07:47 • การศึกษา
"ซื้อรถมาแต่ใช้งานไม่ได้ตามปกติ ผู้บริโภคจะทำอะไรได้บ้าง?"
ผมว่ายุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ต่าง ๆ เยอะขึ้นมากเลยทีเดียว
อาจเป็นเพราะเราสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ในโซเชียล มีเดียได้อย่างง่ายดาย
ที่นี้พอมีสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคก็สามารถถ่ายรูปและโพสต์ข้อความแสดงถึงข้อผิดพลาดเหล่านั้นลง
ในสื่อต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
pixabay
ทำให้บรรดาผู้ประกอบการที่ไม่อยากเสียชื่อเสียงต่างต้องให้ความระมัดระวังและควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการของตนมากยิ่งขึ้น
เพราะยุคนี้เป็นยุคของผู้บริโภค หากสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการรายใดไม่เป็นที่ถูกใจแล้วแล้วก็...
ผู้บริโภคก็พร้อมจะย้ายไปใช้สินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้ทันที
ในทางกฎหมายก็เช่นเดียวกัน
เดี๋ยวนี้เรามีกฎหมายและการพิจารณาคดีที่เอื้ออำนวยและให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภคมากกว่าแต่ก่อน
ที่ผ่านมา เราอาจต้องยอมรับว่าระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการนั้น ผู้ประกอบการมักจะมีอำนาจต่อรองที่มากกว่า
pixabay
ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน ความรู้ กรรมวิธี ขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ ที่ประชาชนคนธรรมดาจะไม่สามารถรู้ถึงขั้นตอนเหล่านั้นได้เลย
จึงทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ถึงความบกพร่องของสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น
แต่ปัจจุบัน มีกฎหมายออกมาคุ้มครองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ. ศ. 2551
ทำให้วิธีการพิจารณาคดีเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ดังเช่นตัวอย่างคดีที่ผมจะเล่าให้ฟังในวันนี้
คดีนี้ผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท
ผู้ผลิตรถยนต์เป็นจำเลยที่ 2
ซึ่งสาเหตุของการฟ้องร้องเกิดขึ้นจากรถยนต์ที่โจทก์ได้เช่าซื้อเกิดความชำรุดบกพร่อง เนื่องจากเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ในเงื่อนไขและระยะเวลาการ
รับประกัน
pixabay
โดยเรื่องนี้มีประเด็นข้อต่อสู้และคำวินิจฉัยของศาลที่น่าสนใจ คือ
1) จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทในขณะที่ยื่นฟ้อง เพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคาร ท. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
(ธนาคาร ท. "ลิสซิ่ง" เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จนกว่าผู้เช่าซื้อจะผ่อนชำระครบถ้วน)
ซึ่งประเด็นในข้อ 1 นั้น ศาลท่านได้พิจารณาแล้วว่า...
การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์ ก่อนที่จะเข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อ
พร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา
โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อซึ่งมีสิทธิเข้ารับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 นั้น
ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาให้บริการ แม้ไม่ได้ทำสัญญาให้บริการขึ้นก็มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้
เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11
pixabay
สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบ และจำหน่ายรถยนต์พิพาท
แม้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถก็ตาม
แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยใกล้ชิด
พฤติการณ์การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภคตามกฎหมาย
เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน
ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
pixabay
2) จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด?
ข้อเท็จจริงเรื่องการซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้บริการ
"ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ"
ดังนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตามกฎหมาย***
*** (เรื่องการซ่อมแซมเครื่องยนต์เป็นเรื่องทางเทคนิคเฉพาะของผู้ประกอบการซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถพิสูจน์ได้โดยง่าย)
(กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่พิสูจน์ว่ารถยนต์ของตนไม่ได้ชำรุดหรือบกพร่อง หรือได้แก้ไขแล้วอย่างไร แทนที่จะให้ฝ่ายผู้บริโภคเป็นผู้พิสูจน์ถึงความบกพร่อง)
เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์แต่ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว
จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท
ทั้งนี้ ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4567/2561)
pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา